โรดแมปประเทศไทยเพื่อกลับคืนสู่การเป็นประชาธิปไตย ตามกรอบปฏิทิน-เวลาการเมืองที่ถูกฉายเป็นสไลด์ขึ้นกลางวงหารือร่วมกันระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)-รัฐบาล-คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)-ผู้นำเหล่าทัพ-ตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และพรรคการเมือง ที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ไฮไลต์สำคัญคือ การที่รัฐบาล-คสช.-กกต. ปักหมุดตอกย้ำวันหย่อนบัตรเลือกตั้งยังคงเดิม คือ 24 ก.พ.62 พร้อมกับกางปฏิทินการเมืองแต่ละช่วงเวลาอย่างชัดเจน
อันเป็นความชัดเจน เมื่อวงหารือดังกล่าว ฝ่ายรัฐบาล-คสช.โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี-มือกฎหมายรัฐบาล คสช. ที่ประสานงานกับ กกต.อย่างใกล้ชิด ได้ขึ้นสไลด์โรดแมปช่วงต่างๆ กลางห้องประชุมสโมสรไว้ดังนี้
-2 ม.ค.2562 ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะทำให้ทุกพรรคการเมืองเริ่มหาเสียงได้อย่างเป็นทางการ เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มสตรีม
-4 ม.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้งจะออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด เขตเลือกตั้ง สถานที่สมัคร แบบบัญชีรายชื่อ
-14-18 ม.ค. เป็นช่วงการเปิดรับสมัครผู้ลงเลือกตั้งทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ โดยพรรคการเมืองที่จะส่งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. จำนวนไม่เกิน 3 รายชื่อ ต้องแจ้งชื่อในช่วงดังกล่าวด้วย
- 25 ม.ค. กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อของทุกพรรค
-4-16 ก.พ. วันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
-15 ก.พ. สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องหยุดการพิจารณากฎหมาย
-17 ก.พ. เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า
-24 ก.พ. เป็นวันเลือกตั้งตามข้อเสนอของ กกต.
-ช่วง มี.ค.2562 รอ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง
-25 เม.ย. วันสุดท้ายของการประกาศผลเลือกตั้ง
-28 เม.ย. วันสุดท้ายที่ คสช.จะคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาครบ 250 คน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และรอการประกาศแต่งตั้ง ส.ว.
-9 พ.ค. จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาครั้งแรก และจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ตั้ง ครม.และ ครม.ถวายสัตย์ฯ ซึ่ง ครม.และ คสช.จะพ้นจากตำแหน่ง และ ครม.ใหม่แถลงนโยบายที่ต้องทำภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันถวายสัตย์ฯ
คำยืนยันเรื่องการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562 ทาง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ระบุหลังการประชุมดังกล่าวว่า หลัง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อ 12 ก.ย.2561 แต่ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน ที่ก็คือจะมีผลในวันที่ 11 ธ.ค. ทำให้กรอบเวลาหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จนมีการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะอยู่ประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย.62 ส่วนวันเลือกตั้งมีการยืนยันในวงหารือว่ายังเป็นวันที่ 24 ก.พ.62
“ในส่วนของวันปลดล็อกที่จะให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยอยู่ภายในเดือน ธ.ค.นี้แน่นอน ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ในที่ประชุม คสช.เร็วๆ นี้”
เมื่อนับจากอาทิตย์ที่ 9 ธ.ค. เท่ากับเหลือเวลาอีก 2 วัน กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ 11 ธ.ค. ก็ทำให้ฝ่าย กกต.ที่หลังจากนี้จะมีบทบาท-อำนาจหลักในช่วงเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ปรากฏว่า กกต.ได้มีการ เสนอร่างพระราชกฤษฎีการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ให้กับฝ่ายรัฐบาลไปพิจารณาแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ก็คือการนับถอยหลังรอวันประกาศใช้ ซึ่งหากดูตามปฏิทินที่รัฐบาลวางไว้ ก็คือประมาณวันที่ 2 ม.ค.2562
อันเป็นการเปิดเผยของ ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย ซึ่งบอกว่า ร่าง พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส.ส. ทาง กกต.ได้นำเสนอแล้ว และ ครม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้
เมื่อโรดแมปเลือกตั้งดังกล่าวมีความชัดเจน มีการกางปฏิทินในช่วงเวลาต่างๆ ออกมาชัดเจน โดยกรอบเวลาแต่ละช่วง ในความเป็นจริงสามารถทำให้เร็วขึ้นได้ แต่กรอบเวลาดังกล่าวคือการประเมินไว้แบบ Maximum ตามกรอบกฎหมายไว้แล้ว ในสภาพความจริงก็คือ โรดแมปดังกล่าวอาจขยับเร็วขึ้นมาได้ แต่จะขยับออกไปจากนี้คงยาก ยิ่งในทางการเมือง หากรัฐบาล-คสช.พยายามจะยื้อเวลาออกไปอีก ก็มีแต่เสียกับเสียในทางการเมือง ยังไงก็ต้องเดินหน้าจัดเลือกตั้งตามโรดแมป 24 ก.พ.62 ไว้เป็นวันหลัก
ผลต่อเนื่องทางการเมือง เมื่อโรดแมปต่างๆ มีความชัดเจนเช่นนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อทิศทางต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ เพราะทำให้ทุกฝ่ายเห็นเข็มทิศประเทศไทยว่าจะเดินไปทางไหน ท่ามกลางความเชื่อมั่นของหลายฝ่ายว่าการเลือกตั้งที่มีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เงินสะพัด มีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะจะมีการใช้จ่ายในการเลือกตั้ง-การหาเสียง จนทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ขณะเดียวกันเมื่อมีความชัดเจนว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยช่วงใด ก็ทำให้นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่ยังลังเลต่อการลงทุน การประกอบการทั้งที่ทำอยู่แล้วและเตรียมลงทุนใหม่ ก็จะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเมื่อเห็นโรดแมปต่างๆ และมั่นใจว่าประเทศไทยหลังกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ก็ทำให้คาดว่าปีหน้า เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน ในความลงตัวว่าจะมีการเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ การเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง ทั้งเรื่องการวางตัวผู้สมัคร ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ-การเตรียมยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้ง-การวางแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับผู้สมัครและพรรค รวมถึงแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค-การเตรียมนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเพื่อทำให้นโยบายของพรรคเมื่อประกาศออกมาแล้วโดนใจประชาชน สร้างคะแนนนิยมจนนำมาสู่คะแนนในช่วงเลือกตั้ง-การวางตัวแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองไม่เกินสามรายชื่อ ซึ่งพรรคขนาดใหญ่คงเน้นมากเป็นพิเศษ ขณะที่พรรคขนาดกลาง-เล็กคงไม่หวังอะไรมาก อาจแค่ส่งชื่อหัวหน้าพรรคไว้พอเป็นพิธี แต่ก็คงไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะลำพังแค่ทำให้พรรคได้ ส.ส.สัก 10-20 เสียง ก็หนักหนาอยู่แล้วกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ที่คาดว่าจะมีการแข่งขันอย่างดุเดือดเข้มข้น
ซึ่งในส่วนของพรรคหลักใหญ่ๆ อย่าง เพื่อไทย ถึงเวลานี้ หากไม่มีอะไรพลิกผัน แคนดิเดตนายกฯ เบอร์หนึ่งคงไม่พ้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่รอบนี้คาดหวังกับเก้าอี้นายกฯ หญิงคนที่สองของประเทศไทยอย่างมาก เพราะถือว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว แม้ในพรรคเพื่อไทยเอง แกนนำ-อดีต ส.ส.หลายคนจะไม่ยอมรับและไม่สนับสนุนเธอมากนัก แม้แต่คนในครอบครัว ชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ ก็ไม่เอาด้วย เห็นได้จากที่ไปหนุนการเกิดขึ้นของ พรรคไทยรักษาชาติ-พรรคเครือข่ายเพื่อไทย อย่างเต็มตัว เผลอๆ หลังเลือกตั้ง หากฝ่ายเพื่อไทย-เครือข่ายชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล สุดารัตน์ยังอาจต้องมาแข่งกับแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติเองอีกด้วย หากว่าคนในเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติไม่เอาเจ๊หน่อยขึ้นมาจริงๆ แล้วมองว่าแคนดิเดตนายกฯ ของไทยรักษาชาติ ที่แกนนำเชื่อว่ายังไงก็ได้ ส.ส.เกิน 25 คน ตามเกณฑ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าแคนดิเดตนายกฯ จะต้องมาจากพรรคที่มี ส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่า 25 คน โดยหากแคนดิเดตนายกฯ ของไทยรักษาชาติ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง เกิดมีแรงหนุนมากกว่าเจ๊หน่อย ก็อาจได้เห็นการงัดกันเองของคนในฝ่ายเพื่อไทยก็เป็นไปได้ ส่วน เบอร์รอง-แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ถึงตอนนี้หลายคนเชื่อว่า เบอร์สอง เต็งหนึ่ง น่าจะเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่จะขึ้นมาเป็นแม่ทัพทีมเศรษฐกิจของเพื่อไทยเต็มตัวในช่วงเลือกตั้ง แต่ทั้งหมดสุดท้ายเพื่อไทยก็ต้องให้ทักษิณเคาะและเห็นชอบ ถึงตอนนั้นความชัดเจนคงเกิดขึ้น
ขณะที่ ประชาธิปัตย์ ยังไงแคนดิเดตนายกฯ คนที่หนึ่งก็คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ซึ่งรอบนี้ดูเหมือนอภิสิทธิ์จะมั่นใจในตัวเองมากกับการเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง ส่วนอีก 2 คนยังไม่มีความชัดเจนว่าสุดท้าย ปชป.จะเอาอย่างไร แม้เสียงส่วนใหญ่ใน ปชป. โดยเฉพาะกลุ่มอดีต ส.ส.ภาคใต้จะหนุนให้พรรคใส่ชื่อ "ชวน หลีกภัย” เป็นเบอร์สองแคนดิเดตนายกฯ ไว้ด้วย แต่ก็ยังไม่มีความลงตัวมากนักว่าสุดท้าย ปชป.จะเอาอย่างไร จะใส่แค่หนึ่งชื่อ-สองชื่อ หรือจัดเต็มทั้งสามชื่อให้ครบตามจำนวน
ส่วน พลังประชารัฐ ที่แกนนำ-ขุนศึกเลือกตั้งพรรควันนี้คึกทางการเมืองอย่างมาก ไม่ได้หวังจะเป็นพรรคอันดับสอง-สามอย่างที่ประเมินกันตอนแรก แต่หวังไกลถึงขั้นจะชนะเลือกตั้ง เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แม้จะถูกปรามาสจากหลายฝ่ายว่าเป็น พรรคทหาร พรรคดูด และส่วนใหญ่มองว่าให้เต็มที่ พลังประชารัฐก็น่าจะได้ ส.ส.ไม่เกิน 70-80 ที่นั่ง แต่แกนนำพรรค พปชร.ก็ยังมั่นใจว่า หากสุดท้ายเมื่อแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร.มีชื่อ บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระแสนิยมพรรคจะสูงขึ้น จนทำให้อย่างน้อยก็น่าจะเบียดชนะประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคอันดับสองได้
นับถอยหลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง มองสภาพแล้วเห็นได้ชัด เดิมพันอนาคตประเทศไทย จะถอยกลับไปสู่วังวนการเมือง ความขัดแย้งแบบเดิมๆ หรือจะก้าวข้ามความขัดแย้งเดิมๆ เกิดเส้นทางอนาคตใหม่ๆ หลังประเทศมีประชาธิปไตย อนาคตประเทศทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนในวันหย่อนบัตรอย่างเห็นได้ชัด.
ทีมข่าวการเมือง
"ในสภาพความจริงก็คือ โรดแมปดังกล่าวอาจขยับเร็วขึ้นมาได้ แต่จะขยับออกไปจากนี้คงยาก ยิ่งในทางการเมือง หากรัฐบาล-คสช.พยายามจะยื้อเวลาออกไปอีก ก็มีแต่เสียกับเสียในทางการเมือง ยังไงก็ต้องเดินหน้า จัดเลือกตั้งตามโรดแมป 24 ก.พ.62 ไว้เป็นวันหลัก".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |