ภาพ : วันแห่งความโกรธแค้นของเสื้อกั๊กเหลือง
ที่มา : https://www.facebook.com/AFPfra/photos/a.130569703646259/1982969511739593/?type=3&theater
17 พฤศจิกายนผู้คนเริ่มประท้วงรัฐบาลหลังประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน มีผลโพลระบุว่าคนปารีสร้อยละ 73 สนับสนุนผู้ชุมนุม ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ตีความว่าพวก “เสื้อกั๊กเหลือง” (Yellow Vest) มาจากกลุ่มหัวรุนแรง (radical groups) ทั้งฝ่ายขวาจัดกับซ้ายจัดแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงทำลายทรัพย์สิน เผาบ้านเผาเมือง กล่าวหากลุ่มสุดโต่งของมารีน เลอเปน (Marie Le Pen) เป็นหัวขบวนประท้วง ด้านเลอเปนปฏิเสธข้อกล่าวหา
อันที่จริงแล้วมาครงประกาศขึ้นภาษีน้ำมันตั้งแต่ช่วงหาเสียง เป็นส่วนหนึ่งของแผนใช้พลังงานสะอาด รถยนต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลายเป็นชนวนให้ผู้ประท้วงลุกฮือ
เมื่อการประท้วงขยายวง ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยระบุตัวเลขผู้ชุมนุมบางวันสูงถึงหลักแสนคน บ้างว่าสูงสุดกว่า 300,000 คน ประเด็นความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น เช่น เห็นว่าค่าครองชีพสูง ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ รถยนต์หลายร้อยคันถูกเผาทำลาย ฌ็องเซลิเซ อเวนิว (Champs Elysees Avenue) แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังตกเป็นเป้าหมาย ร้านรวงต่างๆ ถูกปล้นสะดม นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติพากันหนีอลหม่าน โรงแรมหลายแห่งเกือบร้าง
แม้มีผู้เสียชีวิตและหลายร้อยคนถูกจับกุม การชุมนุมเดินหน้าต่อ
รัฐบาลถอยไปตั้งหลักหรือฟังเสียงประชาชน :
สัปดาห์ที่ 3 ของการชุมนุมรัฐบาลมาครงเริ่มถอย ประกาศระงับขึ้นภาษีน้ำมันไว้ก่อน พร้อมกับมีข่าวจะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพคนยากจน นายกฯ Edouard Philippe กล่าวว่า รัฐบาลฟังเสียงประชาชน จะใช้เวลา 6 เดือนข้างหน้าเพื่อหารือว่าควรจัดการเรื่องภาษีน้ำมันอย่างไร แต่ผู้ชุมนุมบางคนไม่พอใจ เห็นว่าเป็นเพียงการซื้อเวลา บางคนยืนยันว่าตัวประธานาธิบดีกับรัฐบาลต้องลาออกทั้งคณะ ในขณะที่บางคนเห็นว่าแค่ต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย
ประเด็นนี้สามารถถกและวิเคราะห์ว่ารัฐบาลฟังเสียงประชาชนหรือเป็นกลยุทธ์ทางการเมือง
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเหตุผลหลักที่มาครงถอยเพราะแรงกดดันจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น รถยนต์หลายร้อยคันถูกเผา ร้านค้านับร้อยถูกปล้นสะดม นักท่องเที่ยวต่างชาติเผ่นนี้ เหตุผลเหล่านี้ต่างหากที่กดดันให้รัฐบาลยอมถอย ไม่ใช่เพราะฟังเสียงผู้ชุมนุม
ในอีกมุมหนึ่งควรชื่นชมรัฐบาลที่ยอมถอยเพื่อลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยงที่จะวุ่นวายมากกว่านี้
รากปัญหาคืออะไร :
ดังที่นำเสนอแล้วว่ามาครงประกาศขึ้นภาษีน้ำมันตั้งแต่ช่วงหาเสียง เป็นส่วนหนึ่งของแผนใช้พลังงานสะอาด ถ้ามองในมุมบวกรัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายที่ดี ทั้งยังเป็นการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้
เมื่อการชุมนุมดำเนินต่อเนื่องระยะหนึ่งก็เริ่มชัดเจนว่าเหตุผลการประท้วงคือต้องการให้รัฐบาลดูแลปัญหาปากท้อง The Institute of Public Policies รายงานว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 (นับจากผู้มีรายได้ต่ำสุดขึ้นมา 20 เปอร์เซ็นต์) รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่สูงเร็วกว่า สรุปสั้นๆ คือรายได้ไม่พอรายจ่าย คุณภาพชีวิตของคนจนนับวันจะย่ำแย่ลง
ไม่ว่ารัฐบาลจะชี้แจงอย่างไรในมุมของคนหาเช้ากินค่ำ การเพิ่มภาษีน้ำมันคือการซ้ำเติมปัญหาปากท้องนั่นเอง (ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศที่รัฐเก็บภาษีสูงมาก เก็บภาษีแทบทุกอย่าง การขึ้นภาษีแต่ละครั้งคือการเรียกเงินจากประชาชน)
เหตุผลอื่นที่ทับถมเข้ามาคือ การหยิบยกนโยบายบางข้อที่รัฐส่งเสริมภาคเอกชน ลดภาษีคนรวย บางคนยอมรับการขึ้นภาษี แต่คนรวยควรเสียมากกว่านี้ ผู้นำฝรั่งเศสจึงถูกตีตราว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย”
พูดอีกอย่างคือเป็นผู้ปกครองที่กดขี่คนยากจนนั่นเอง
ประเด็นเหล่านี้สามารถถกเถียงอภิปรายถึงความถูกต้องเหมาะสม แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในขณะนี้ส่อว่าพวกเขามองรัฐบาลในแง่ลบ นำสู่การตั้งเป้าล้มรัฐบาล
ถ้าตีตราว่าผู้ก่อเหตุผิดกฎหมายคือพวกหัวรุนแรง เป็นพวกต่อต้านรัฐบาลแบบหัวชนฝา อาศัยจังหวะนี้ก่อเหตุวุ่นวาย เหตุผลเช่นนี้น่าจะถูกต้องเพราะมีคนกลุ่มนี้จริง แต่ไม่อาจปฏิเสธผลโพลคะแนนนิยมรัฐบาลที่หดหายอย่างรวดเร็ว ผลโพลของ IFOP (The Institut français d'opinion publique) เมื่อ 4 ธันวาคม ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 23 ให้มาครงสอบผ่าน เป็นคะแนนต่ำสุดนับจากเริ่มรัฐบาลชุดนี้
ถ้ายึดผลโพลต้องสรุปว่าคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพวกหัวรุนแรงหรือคนทั่วไปต่างไม่พอใจผลงานรัฐบาล
อันที่จริงแล้วในหมู่ผู้ชุมนุมนับแสนมีผู้ก่อเหตุร้ายหลักร้อยหลักพันเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ ผู้ชุมนุมอย่างสันติบางคนเห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรง เห็นว่าจำต้องทำเพราะเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดรัฐบาล และก็ได้ผล รัฐบาลประกาศไม่ขึ้นภาษีน้ำมันตลอดปีงบประมาณ 2019 นายกฯ Philippe กล่าวต่อรัฐสภาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะอภิปรายเรื่องนี้ในระดับประเทศ แต่ดูเหมือนช้าเกินไป
วิบากกรรมของมาครง :
เอมมานูแอล มาครง ในวัย 39 ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังชนะเลือกตั้งเมื่อพฤษภาคม 2017 เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่เพิ่งสมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก ตำแหน่งสุดท้ายคือรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าเสรี สิทธิมนุษยชน ดำเนินนโยบายสายกลาง
18 เดือนหลังการเลือกตั้งคะแนนนิยมเหลือแค่ 20 ไม่ว่ามาครงจะหน้าตาดี สดใหม่ทางการเมือง วาทศิลป์เป็นเยี่ยม ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองหลัก สุดท้ายผลการบริหารประเทศที่ประชาชนรับรู้ได้จริงเป็นตัวตัดสินใจ แม้หากการชุมนุมยุติด้วยการเจรจา งานนี้รัฐบาลมาครงเสียคะแนนย่อยยับ ยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นคืนกลับมา
การมองภาพปารีสถูกเผานั่นเป็นเรื่องหนึ่ง คำถามที่น่าคิดคือทำไมนักการเมืองหน้าใหม่อย่างมาครงจึงสามารถก้าวสู่ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดด้วยการลงสนามเลือกตั้งเพียงครั้งแรกครั้งเดียว คำอธิบายที่เคยนำเสนอแล้วคือพรรคการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายสนับสนุนนักการเมืองรุ่นเก๋ามากประสบการณ์ต่างพากันพ่ายแพ้
เป็นอีกครั้งที่พรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสเห็นด้วยกับผู้สมัครที่ดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยม เกิดข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้วผู้กุมอำนาจการเมืองร่วมมือกัน เลอเปนจึงโจมตีมาครงว่าเป็นหุ่นเชิดของขั้วอำนาจเก่า พวกคณาธิปไตยเลือกมาครง
บัดนี้ดูเหมือนว่าคำกล่าวหาของเลอเปนถูกต้อง
นโยบายของมาครงไม่ได้มาจากตัวท่านเอง น่าจะเป็นแรงผลักดันจากบรรดาพรรคการเมืองที่สนับสนุนซึ่งก็คือบรรดาพรรคการเมืองเดิมๆ นั่นเอง
แนวคิดนี้อธิบายว่ามาครงเป็นเพียงแต่ตัวละครที่ถูกยกขึ้นในยามที่การเมืองประชาธิปไตยฝรั่งเศสกำลังสับสน แม้แต่มาครงก็ยอมรับว่าประเทศมีสิ่งที่เรียกว่ากลุ่มผู้ทรงอำนาจผู้ควบคุมการเมือง (the establishment) บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้ทำเรื่องไร้ศีลธรรม
แต่การเลือกตั้งเป็นเรื่องหนึ่ง การบริหารประเทศเป็นอีกเรื่อง ผู้ชนะเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าจะบริหารประเทศได้ดี รัฐบาลมาครงกำลังเป็นอีกกรณีตัวอย่าง
ถ้ามองในกรอบกว้างๆ คำถามที่ลึกกว่าคือ อย่างไรเรียกว่านโยบายที่ดี อะไรคือสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เสียงประชาชนคือความรุ่งเรืองยั่งยืนหรือไม่ รากปัญหาที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ แทนที่จะโทษฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียวพลเมืองฝรั่งเศสมีส่วนต้องปฏิรูปตัวเองหรือไม่
เหล่านี้คือคำถามใหญ่ของประชาธิปไตยฝรั่งเศส ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเกือบ 230 ปี อีกประเทศที่ตำราตะวันตกระบุว่าเป็นต้นแบบเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยตะวันตก
การชุมนุมที่ปะทุจากเหตุรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน กลุ่มผู้ชุมนุมมาจากหลายที่หลายกลุ่ม บ้างชุมนุมที่เมืองตนเอง บ้างรวมตัวที่กรุงปารีส ไม่ว่าเหตุผลคืออะไรทั้งหมดสะท้อนความไม่พอใจรัฐบาลที่เก็บกด เป็นวันแห่งความโกรธแค้นของคนเหล่านี้ต่อระบอบการเมืองของประเทศ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง การจะแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่ายและจำต้องแก้ที่รากปัญหา มิฉะนั้นจะเป็นเพียงแค่ซื้อเวลาอีกรอบเหมือนที่ทำมาแล้วหลายครั้ง เป็นโจทย์ใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยประเทศนี้.
การชุมนุมที่ปะทุจากเหตุขึ้นภาษีน้ำมัน เหตุผลที่ลึกกว่าคือสะท้อนความไม่พอใจรัฐบาลที่เก็บกด เป็นวันแห่งความโกรธแค้นของคนเหล่านี้ต่อระบอบการเมืองของประเทศ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |