แม่น้ำโขง-เชียงแสน/ รวมพลคนหัวใจศิลป์-รักษ์แม่น้ำร่วมเปิดเทศกาล ‘หนังแม่น้ำโขงและศิลปะแห่งสายน้ำ ครั้งที่ 1’ ระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตั้งเป้าให้เป็นเทศกาลหนังระดับนานาชาติ โดยในปีนี้เริ่มจัดประกวดผลงานหนังสั้นในระดับมัธยม-อุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป ในธีม “แม่น้ำโขง : วิถีชีวิตลุ่มน้ำ เด็ก ชุมชน วัฒนธรรม ความงาม ความรัก ปัญหา และการเปลี่ยนแปลง ?” นอกจากนี้ยังมีการจัดฉายหนังเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 หนังสั้นและสารคดีแม่น้ำนานาชาติ งานแสดงศิลปะ ดนตรี workshop งานศิลป์ ฯลฯ
ระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคมนี้ สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ‘โครงการแม่น้ำของเราชีวิตของเรา’ สมาคมหนังสั้นฝรั่งเศส หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถานีโทรทัศน์ไทยPBS อำเภอเชียงแสน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดเทศกาล ‘หนังแม่น้ำโขงและศิลปะแห่งสายน้ำ ครั้งที่ 1’ ที่บริเวณริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีการเปิดงานในวันที่ 7 ธันวาคม มีนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าฯ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน มีเยาวชน ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ และประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 500 คน ภายในงานมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการทำหนังสั้น การฉายหนังสั้น ดนตรี ฯลฯ
นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ ‘เทศกาลหนังแม่น้ำโขงและศิลปะแห่งสายน้ำ ครั้งที่ 1’ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีความสำคัญต่อประชากรใน 6 ประเทศกว่า 1,000 ล้านคน คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ถือเป็นเสมือนสายเลือดของคนลุ่มน้ำโขง แต่ปัจจุบันแม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบ
“ในฐานะที่สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม(ACED) ได้ดำเนินงานโครงการ ‘แม่น้ำของเราชีวิตของเรา’ เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และชุมชนร่วมกันปกป้องแม่น้ำ และส่งเสริมสิทธิเด็กบนฐานนิเวศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้รุ่นใหม่ได้แสดงความคิด สะท้อนความรู้สึก ความรัก ความผูกพัน และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาต่างๆ รวมถึงลุ่มน้ำภาคเหนือ โดยผ่านศิลปะประเภทภาพยนตร์สั้น จึงจัดทำโครงการ ‘เทศกาลหนังแม่น้ำโขงและศิลปะแห่งสายน้ำ ครั้งที่ 1’ ขึ้นมา” นายเทวินฏฐ์ชี้แจงความเป็นมาของโครงการ
ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวด้วยว่า ในอนาคตตั้งเป้าจะทำให้เทศกาลหนังแม่น้ำโขงและศิลปะแห่งสายน้ำ(Mekong River International Film & Art Festival) มีชื่อเสียงเป็นงานระดับนานาชาติที่เป็นเป้าหมายของศิลปิน ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สถาบันการศึกษา เยาวชน ตลอดจนกลุ่มประชาชนใน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงและนานาชาติ ได้เดินทางมาที่อำเภอเชียงแสน เพื่อเรียนรู้พื้นที่ประวัติศาสตร์และนิเวศลุ่มน้ำโขง และร่วมกันปกป้องเส้นเลือดเส้นนี้เอาไว้
เทศกาลหนังแม่น้ำโขงและศิลปะแห่งสายน้ำ ครั้งที่ 1 มีกิจกรรมต่างๆ ตลอดช่วงวันที่ 7-10 ธันวาคม เช่น การฉายหนังสั้นที่ส่งเข้าประกวด และผลงานหนังสั้นที่ได้รับรางวัล การฉายภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 การฉายหนังและสารคดีเกี่ยวกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำนานาชาติ นิทรรศการจิตรกรรมและภาพถ่าย ”อลังการศิลป์แห่งสายน้ำ” การแสดงภาพเขียนศิลปะเด็กแห่งสายน้ำของเด็กนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว และลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน แม่แจ่ม กก อิง โขง )
นอกจากนี้ยังมีการจัด Workshop โรงเรียนศิลปะแม่น้ำและสื่อสร้างสรรค์ สำหรับเด็ก เยาวชน และผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้เรียนรู้เรื่องแม่น้ำโขง การอนุรักษ์แม่น้ำต่างๆ และสิ่งแวดล้อม ผ่านงานศิลปะ ฝึกการผลิตสื่อหนังสั้นและการแสดง โดยทีมวิทยากรจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เรียนรู้และฝึกการเขียนภาพศิลปะ โดยทีมวิทยากรจากขัวศิลปะ จ.เชียงราย ฯลฯ
ผู้ชนะรางวัลต่างๆ กับรอง ผวจ.เชียงรายและคณะจัดงาน
สำหรับการประกวดหนังสั้นในเทศกาลครั้งนี้ เริ่มเปิดรับสมัครและคัดเลือกรอบแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงคัดเลือกทีมที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 20 ทีม เพื่อร่วมกิจกรรม workshop เทคนิคการผลิตหนังสั้นและทักษะการแสดงจากวิทยากรมืออาชีพและมีชื่อเสียงของประเทศไทย โดยแต่ละทีมจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อผลิตหนังสั้นความยาวไม่เกิน 15 นาที จำนวนทีมละ 5,000 บาท ในธีม “แม่น้ำโขง : วิถีชีวิตลุ่มน้ำ เด็ก ชุมชน วัฒนธรรม ความงาม ความรัก ปัญหา และการเปลี่ยนแปลง ?” โดยมีนายปรัชญา ปิ่นแก้ว, บัณฑิต ทองดี, บุญส่ง นาคภู่ ฯลฯ ผู้กำกับหนังชื่อดังเป็นกรรมการตัดสินประกวดหนังสั้นในครั้งนี้
ทั้งนี้หนังสั้นที่ได้รับรางวัล ระดับมัธยมศึกษา คือ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง “สาวจิน” โดยกลุ่มสมอง โรงเรียนเจริญศิลป์ศึกษา ‘โพธิ์คำอนุสรณ์’ จ.สกลนคร ได้รับรางวัล 20,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง “สายน้ำ...ของฉัน” โดยทีมโล๊ะป่าตุ้มทีม โรงเรียนบ้านโล๊ะป่าตุ้ม จ.เชียงราย ได้รับรางวัล 15,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง “My Summer : เพื่อนกันวันปิดเทอม” โดย คน-ธรรม-หนัง เชียงราย โรงเรียนแม่เจดีย์วิทยาคม จ.เชียงราย ได้รับรางวัล 5,000 บาท
ประเภทอุดมศึกษา รางวัลชนะเลิศ เรื่อง “ปณิธาณของสินธุ์” โดย ทีม ม.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ได้รับรางวัล 30,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง “THE RIVER” โดยทีมสนามเด็กเล่น โปรดักชั่น ม.อุบลราชธานี จ.อุบลฯ ได้รับรางวัล 20,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง “Memory” โดยทีม 00.02 Production ม.ศรีปทุมกรุงเทพฯ ได้รับรางวัล 10,000 บาท รางวัลบทดีเด่น เรื่อง “My Summer : เพื่อนกันวันปิดเทอม” โดย คน-ธรรม-หนัง เชียงราย และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม เรื่อง “สาวจิน” โดยกลุ่มสมอง โรงเรียนเจริญศิลป์ฯ จ.สกลนคร ได้รับรางวัลทีมละ 3,000 บาท
ทีมชนะเลิศระดับอุดมศึกษาจาก ม.ขอนแก่น
นายทิวทัศน์ นะระแสน ตัวแทนจากทีม ม.ขอนแก่น ชนะเลิศระดับอุดมศึกษา เรื่อง “ปณิธาณของสินธุ์” บอกว่า ทางทีมไม่เคยผลิตหนังสั้นมาก่อน แต่อยากทำหนังสั้นจึงรวบรวมเพื่อนในคณะศึกษาศาสตร์ปี 4 ม.ขอนแก่น มาร่วมกันทำ โดยศึกษาข้อมูลเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงเพื่อนำมาเขียนบทหนัง ใช้กล้องดิจิตัลของ Cannon ใช้เวลาถ่ายทำ (ไม่ต่อเนื่อง) ประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายทำที่ริมแม่น้ำโขง จ.บึงกาฬ และสถานที่ใน จ.ขอนแก่น
“หนังเรื่องนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เช่น การระเบิดแก่ง การสร้างเขื่อน การเดินเรือขนาดใหญ่ จะทำให้ชาวบ้านที่หากินกับแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบ เช่น ปลา สาหร่ายน้ำโขง หรือไก ที่เป็นอาหารของคนและปลาจะลดลง ทำให้คนที่หาปลาไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ต้องเข้าไปขายแรงงานในเมือง ครอบครัวก็จะขาดความอบอุ่น เพราะต้องแยกย้ายไปหางานทำ จึงอยากให้ผู้ชมได้รับรู้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในแม่น้ำโขงและช่วยกันอนุรักษ์แม่น้ำโขงเอาไว้” ตัวแทนที่ชนะเลิศการทำหนังสั้นระดับอุดมศึกษากล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจชมหนังสั้นที่ชนะรางวัลต่างๆ สามารถเข้าชมได้ที่ facebook/Mekong River Film Festival 2018 และทาง YouTube / Mekong Film
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |