‘รบ.-สศช.’ตั้งโต๊ะแจงยิบ ตัวเลขเหลื่อมลํ้าขยับดีขึ้น


เพิ่มเพื่อน    


 รัฐบาลก้นร้อน “พุทธิพงษ์” แจงด่วนข้อมูลไทยเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก ชี้เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 สภาพัฒน์ตั้งโต๊ะแจงยิบ เผยต้องยึด “ดัชนี GINI” ซึ่งธนาคารโลกใช้ บอกชัดสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนที่โลกออนไลน์แชร์กันเป็นประเมินแบบหยาบ-เก่า-เทียบปีมั่ว ตั้งเป้าปี 2580 คนรวยและจนห่างกันไม่เกิน 15 เท่า!

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีการแชร์ข้อมูลในโลกโซเชียลของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก และมีพรรคการเมืองนำมาต่อยอด ว่าข้อมูลที่รายงานฉบับนี้นำมาอ้างอิงเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 แล้วพยายามนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลบางส่วนของปีปัจจุบัน ทำให้คลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ และขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีส่วนใดเลยที่แสดงถึงการถือครองมูลค่าทรัพย์สินของคนรวย 1% ในประเทศ
“ประเทศที่ถูกนำมาเทียบส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ยกเว้นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย โคลอมเบีย โรมาเนีย แอฟริกาใต้ และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดแตกต่างจากกลุ่มคนจนที่สุด ลดลงจาก 29.92 เท่าในปี 2549 เหลือ 19.29 เท่าในปี 2560” นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายพุทธิพงษ์ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การฝึกอาชีพเพิ่มทักษะ กองทุนการออมแห่งชาติ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือในฐานะโฆษกสภาพัฒน์ ได้แถลงในหัวข้อข้อเท็จจริงเรื่องสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ณ ห้องประหยัด บุรณศิริ สศช. ว่าที่ผ่านมาการวัดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยจะใช้วิธีการวัดตามมาตรฐานของธนาคารโลก โดยวัดจากดัชนี GINI Coefficient Index ซึ่งธนาคารโลกใช้วัดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ 110 ประเทศ โดยดัชนี GINI มี 2 ลักษณะ คือ GINI ด้านรายได้ และ GINI ด้านรายจ่าย โดยค่าดัชนีจะอยู่ระหว่าง 0-1 โดยหากค่าดัชนี GINI มีระดับต่ำ แสดงถึงการกระจายรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับดีกว่าค่า GINI ที่มีค่าสูง 
ในกรณีของไทยการคำนวณค่าดัชนี GINI ทั้ง 2 ลักษณะจะใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นข้อมูลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในระดับฐานรายได้ต่างๆ กัน จำนวนประมาณ 52,010 ครัวเรือน ซึ่งสำรวจรายได้จะทำทุก 2 ปี ขณะรายจ่ายจะดำเนินการทุกปี จากข้อมูลล่าสุดในปี 2560 พบว่าค่า GINI ด้านรายได้ของไทยคิดเป็น 0.453 หรือ 45.3% และค่า GINI ด้านรายจ่าย คิดเป็น 0.364 หรือ 36.4% โดยหากเปรียบเทียบแนวโน้มของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยค่า GINI ด้านรายได้ลดลงจาก 0.499 ในปี 2550 เป็น 0.453 ในปี 2560 และค่า GINI ด้านรายจ่ายลดลงจาก 0.398 ในปี 2550 เป็น 0.364 ในปี 2560
แจงยิบสถานการณ์ดีขึ้น
นายดนุชายังชี้แจงอีกว่า สถานการณ์ด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุดมีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 25.10 เท่าในปี 2550 เป็น 19.29 เท่า ในปี 2560 และความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 11.70 เท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่า ในปี 2560 ซึ่งจากข้อมูลทั้ง 2 ส่วนแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่างๆ ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น 
รองโฆษกสภาพัฒน์ย้ำว่า การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการโดยธนาคารโลก ใช้ค่าดัชนี GINI coefficient เป็นตัวชี้วัด ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 มีค่าดัชนี GINI coefficient ด้านรายจ่ายอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 73 ประเทศ และปรับตัวดีขึ้นเป็นอันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศในปี 2558 โดยประเทศในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลของประเทศต่างๆ ซึ่งมีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ของโลก แต่จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก ค่า GINI ของไทยอยู่ที่ 0.36 และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหราชอาณาจักรมีค่า GINI อยู่ที่ 0.33 และสหรัฐอเมริกา มีค่า GINI อยู่ที่ 0.41 จะเห็นว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับกรณีการวัดความเหลื่อมล้ำของรายงาน CS Global Wealth Report 2018 นั้น นายดนุชาระบุว่าเป็นการวัดการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) โดยใช้ข้อมูล Wealth Distribution ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ประเทศที่มีข้อมูล Wealth Distribution สมบูรณ์มีเพียง 35 ประเทศ และทั้ง 35 ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน โดยในส่วนของไทยนั้นข้อมูล Wealth Distribution ไม่มีการจัดเก็บ เนื่องจากการจัดเก็บต้องมีความชัดเจนของคำจำกัดความและข้อมูลข้อเท็จจริงของสินทรัพย์ที่มีความชัดเจน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในส่วนของไทย ผู้จัดทำรายงานใช้การประมาณการทางเศรษฐมิติบนสมมติฐานว่าการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) มีสัมพันธ์กับการกระจายรายได้ (Income Distribution) ซึ่งการคำนวณดังกล่าวในรายงานระบุไว้ชัดเจนว่าการประมาณการ Wealth Distribution ของ 133 ประเทศ ที่นอกเหนือจาก 35 ประเทศที่มีข้อมูลสมบูรณ์เป็นการประมาณการอย่างหยาบ (Rough Estimate) สำหรับประเทศที่มีข้อมูลการกระจายรายได้ (Income Distribution) แต่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง (Wealth Ownership) ซึ่งไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 133 ประเทศที่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง แต่มีข้อมูลการกระจายรายได้
“การประมาณการ Wealth Distribution ของไทย ผู้จัดทำรายงานได้ใช้ข้อมูลในปี 2549 (2006) ในขณะที่ข้อมูลประเทศอื่นๆ เป็นข้อมูลของปีที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไป ซึ่งต่างจากชุดข้อมูลของธนาคารโลกที่ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบในช่วงปีเดียวกัน ดังนั้น การวัดการกระจายความมั่งคั่งตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว อาจไม่สะท้อนสถานการณ์ของไทยได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการวัดจากข้อมูลสำรวจจริงตามมาตรฐานของธนาคารโลกที่ไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2531” นายดนุชากล่าว
ปี 2580"จน-รวย"ห่าง15เท่า
นายอนุชากล่าวว่า สศช.ขอเรียนว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยจากการสำรวจข้อมูลจริงและใช้วิธีการวัดที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยธนาคารโลก ไทยไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดอย่างที่ปรากฏข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์แต่อย่างใด ในทางกลับกัน สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านรายได้และรายจ่ายของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นผ่านกลไกของภาครัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยมีการกระจายรายได้ในด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากร 10% ที่มีรายได้สูงที่สุดต่อประชากร 10% ที่มีรายได้น้อยที่สุดที่ไม่เกิน 15 เท่า (ปัจจุบัน 22 เท่า) ภายในปี 2580 หรือมีค่า GINI coefficient ด้านรายได้ในระดับ 0.36
ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ว่า นายพุทธิพงษ์แก้ตัวว่าเป็นข้อมูลเก่าปี 2549 ไปเอามาจากสองหน่วยงานเท่านั้น องค์กรนี้เขาทำรายงานเรื่องนี้มานานแล้ว และได้รับความเชื่อถือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ท่านเองมั่วหรือเปล่าที่บอกว่าเขาเอาข้อมูลปี 2549 เขาเอาข้อมูลของไทยปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2561 ด้วยซ้ำไป ซึ่งทั้งสองปีก็ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลรัฐประหารทั้งนั้น
     วันเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โพสต์ว่า ขอตอบข้อข้องใจเรื่องเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่พี่น้องประชาชนถามว่าเอาเงินมาจากไหน เงินมันมีอยู่แล้วขอยืนยันว่ารัฐบาลจะจ่ายไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่มีคนบอกว่ารัฐบาลนี้จะทำประเทศล้มละลาย ก็ไม่จริง เพราะตามเกณฑ์สากลบอกว่าหนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 60% ปัจจุบันเรามีหนี้สาธารณะ 41.7% เท่านั้น ซึ่งการนำเงินมาใช้จ่ายตามโครงการต่างๆ ก็มาจากรายได้ของรัฐ เช่น ภาษีต่างๆ รวมถึงการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำเงินมาเสริมการใช้จ่าย เพราะพวกเรายังมีรายได้ที่จะจ่ายภาษีไม่มากนัก หลายประเทศก็มีรายได้จากภาษีไม่พอเช่นกัน รัฐบาลจึงต้องช่วยดูตรงนี้ ว่าทำอย่างไรจะเดินหน้าประเทศได้ ช่วยเหลือตรงจุดที่จำเป็น และที่สำคัญงบประมาณต้องไม่รั่วไหล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"