ทั่วประเทศมีการน้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ปฏิบัติเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแต่ละจังหวัด รวม 77 จังหวัด โดยกรุงเทพมหานคร เกิดชุมชนพอเพียง หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบมากมายสานต่อแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันยังขาดตัวชี้วัดผลความสำเร็จจากการดำเนินโครงการตามคำพ่อสอนที่ชัดเจน เพื่อจะติดตามว่ามีสิ่งไหนควรปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามศาสตร์พระราชาหรือสิ่งไหนควรทำเพิ่มเติมเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอผลการศึกษาโครงการ"ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืนและตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา" ซึ่งมาจากการศึกษาแนวคิดศาสตร์พระราชาในภาพรวมและลงลึกองค์ประกอบ ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง กปร. ปิดทองหลังพระ และเยี่ยมชมพื้นที่โครงการพระราชดำริต่างๆ จนสามารถจัดสร้างตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา (SCI) 2 กลุ่มสำคัญ คือ ตัวชี้วัดสะท้อนการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา หรือ SCI -S4S และกลุ่มที่เป็นผลลัพธ์ของการพัฒนา หรือ SCI-OC ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีเครื่องมือให้คะแนนอย่างเป็นรูปธรรม
การน้อมนำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติทั่วประเทศ พบได้คะแนนเฉลี่ย 60 จาก 100 คะแนนเต็ม
ดร.สมชาย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI กล่าวว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีคุณูปการต่อการพัฒนาของประเทศไทยตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงให้แนวทางการดำรงชีวิต การประพฤติปฏิบัติ และการบริหารจัดการโครงการพัฒนาที่มีความลุ่มลึก รอบด้าน และเป็นองค์รวม รวมเรียกว่า "ศาสตร์พระราชา" โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นองค์ประกอบหลัก และได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การศึกษาศาสตร์พระราชาในเชิงปริมาณยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน เหตุนี้ TDRI จึงสนใจศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ และใช้วิธีการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการพัฒนาระบบตัวชี้วัดที่แสดงถึงการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาของคนไทยทั้งประเทศ แสดงผลระดับชุมชน ระดับภาคหรือประเทศ และสามารถพัฒนาเพิ่มเติมใช้เป็นเครื่องมือติดตามการทำงานโครงการพัฒนาต่างๆ ได้
" ตัวชี้วัดนี้ใช้ในการติดตามว่าประชาชนน้อมน้ำศาสตร์พระราชามาใช้มากน้อยเพียงใด รวมถึงนำเสนอศาสตร์พระราชาต่อประชาคมโลกในฐานะที่เป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับกับแนวคิด SDGs ของสหประชาชาติ ทีมวิจัยไม่ได้คาดหวังให้เป็น หลักการวัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่มีลักษณะเป็นมาตรการอื่นมากกว่า คล้ายกับดัชนีชี้วัดความสุขของภูฏาน (GHN) ซึ่ง GHN ใช้เวลาในการพัฒนาก่อนปี 2553 ปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ แต่นายกฯ คนปัจจุบันสนใจน้อยกว่าอดีต " ดร.สมชาย กล่าวว่า
สำหรับศาสตร์พระราชาที่ใช้เป็นหลักอ้างอิง นักเศรษฐศาสตร์ TDRI ระบุว่า มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานในหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้ง 23 ประการ อาทิ ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ,ระเบิดจากข้างใน,แก้ปัญหาที่จุดเล็ก , ทำตามลำดับขั้น,ภูมิสังคม,ประหยัดเรียบง่าย,ประโยชน์ส่วนรวม,ทรงใช้ธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ ,ปลูกป่าในใจคน,ความเพียร ฯลฯ นำมาสร้างตัวชี้วัด สร้างแบบสอบถามครัวเรือน ข้อมูลครอบครัว บุคคล ถามพฤติกรรม ความคิดที่สะท้อนการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนของคำตอบ ก็เลี่ยงคำถามที่โยงไปถึงคำว่า ศาสตร์พระราชา เช่น คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ระเบิดจากข้างใน จะไม่มีการใช้คำนี้ ในแบบสอบถาม แต่จะใช้คำอื่นแทน ทั้งนี้ เพราะหากใช้คำเหล่านี้ บางคนจะพยายามตอบเพื่อให้คำตอบดูดี เนื่องจาก เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับในหลวง ร.9
แบบสอบถามใช้สำรวจ เลี่ยงคำว่า ศาสตร์พระราชา ไม่มีคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ป้องกันคนตอบสร้างภาพ
โดยการจัดทำโครงการสำรวจคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือด้านข้อมูล โดย TDRI และมูลนิธิมั่นพัฒนา ซึ่งเก็บข้อข้อมูลทั้งนอกเขตและในเขตเทศบาล ทั่วประเทศ รวม 85,080 ครัวเรือน ระหว่างเมษายน-กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา
" แบบสอบถามการน้อมนำศาสตร์พระราชาจะชี้วัดจาก "ความพอประมาณ " ของผู้คน ในแบบสอบถาม เราได้ถามครัวเรือนต่างๆ เรื่องการวางแผนใช้จ่ายรายเดือน ซื้อของเพราะจำเป็นหรือไม่ หรือไม่ซื้อของตามจนเกินกำลัง ไม่มีหนี้ ไม่ผ่อนหนี้จนกินอยู่ลำบาก ข้อถามเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น มีเงินออม หาเงินฉุกเฉิน 10,000 บาทได้ ส่วนเรื่องสามัคคี ถามตรงๆว่าคนในชุมชนแบ่งพรรคแบ่งพวกหรือไม่ ส่วนตัวชี้วัดการพัฒนาในชุมชน เช่น ถามเรื่องระเบิดจากข้างใน (โดยไม่ใช้คำนี้)ว่าแผนชุมชนตรงความต้องการคนในหมู่บ้านหรือไม่ คนในหมู่บ้านรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ การพึ่งตนเอง หมู่บ้านมีประชุมร่วมเพื่อแก้ปัญหาส่วนรวม " ดร.สมชาย ให้ภาพชัดๆ
ดร.สมชาย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI
สำหรับการให้คะแนนมีตั้งแต่ 0 ถึง 100 ถ้าได้ 100 คะแนน หมายถึง ปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาเต็มที่ ซึ่งผลตัวชี้วัดการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา ภาคอีสานได้ 65 คะแนน ภาคเหนือ ได้ 64.1 คะแนน ภาคใต้ 60.8 คะแนน กรุงเทพฯ 60.5 คะแนน ภาคกลาง 57.9 คะแนน นอกจากนี้ พบว่า นอกเขตเทศบาลคะแนนมากกว่าในเขตเทศบาล ทั้งประเทศทำตามศาสตร์พระราชาในหมวดรอบคอบ ระมัดระวัง มากที่สุด 79.4 คะแนน รองลงมาความเพียร และพอประมาณ ส่วนซื่อสัตย์คะแนนน้อยสุด 50.8 คะแนน
" ภาพใหญ่คะแนนสูงสุดกับต่ำสุดห่างกันไม่ถึง 5 คะแนน แต่เฉลี่ยการน้อมนำศาสตร์พระราชาของทุกภาคอยู่ที่ 60 คะแนน ก็ยังห่างจาก 100 คะแนนพอสมควร ฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติของคนไทยตามแนวทางศาสตร์พระราชายังไม่เต็มร้อย งานวิจัยนี้บอกองค์ประกอบย่อยได้ เช่น ความซื่อสัตย์ ต้องสร้างความตระหนักมากขึ้น แล้วยังมีปัญหาการมีภูมิคุ้มกันคะแนนไม่ดีนัก ซึ่งในหลวง ร.9 ทรงเน้นย้ำเรื่องนี้มาก รัฐบาลจะมีนโยบายระดับประเทศอย่างไร รวมถึงเจาะลึกแก้ปัญหาระดับพื้นที่ เช่น ประชาชนเข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อ การมีเงินออม " ดร.สมชายย้ำ
ขณะที่การแบ่งปัน ช่วยเหลือ นักวิจัย TDRI เผยพบว่า ภาคกลาง และกรุงเทพฯ ได้คะแนนต่ำมาก 45 คะแนน ไม่ถึงครึ่ง เทียบกับในเขตผลคะแนนดีกว่า 50 ขึ้นไป สะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนและหมู่บ้าน ฉะนั้น การส่งเสริมให้คนกรุงเทพฯ ปรับปรุงพฤติกรรมให้ช่วยเหลือผู้อื่นก็สำคัญ ความสามัคคีคะแนนก็ไม่ดี มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก คนในชุมชนห่างเหินกัน
" แม้จะพบความย่อหย่อนระดับภาคในการทำตามศาสตร์พระราชา แต่จากผลการศึกษาครั้งนี้มีสิ่งที่ผมตื่นเต้น คือ การปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา นำไปสู่ผลการพัฒนาที่ดีขึ้นในเกือบทุกมิติที่ศึกษา ประชาชนทั่วประเทศตอบว่า มีความสุข มีความพอใจ นี่คือที่สุดแล้ว นอกจากนี้ ยังช่วยหลุดพ้นความยากจน ศาสตร์พระราชา ทำให้ชุมชนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น มีรายได้เพียงพอ ในต่างประเทศบางคนบอกไม่เชื่อ แนวทางนี้ดีเฉพาะคนไทย แต่ผลศึกษานี้ ถ้าไปเผยแพร่ในต่างประเทศจะทำให้ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงหนักแน่นขึ้น ที่ผ่านมาเราเดินสายเผยแพร่ผลศึกษาในอังกฤษ สกอตแลนด์ โรม และมีแผนจะนำเสนองานนี้ที่สหรัฐด้วย " ดร.สมชัย เผย
จากผลการศึกษานี้นักเศรษฐศาสตร์ TDRI เห็นว่า อยากให้รัฐบาลนำไปใช้งานในการส่งเสริมศาสตร์พระราชาระดับประเทศ ภาค จังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก รวมถึงสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำผลการศึกษาที่ลงลึกได้ถึงรายจังหวัดไปใช้จะปรับปรุงเพื่อส่งเสริมโครงการแนวพระราชดำริ ทุกคนท่องกันมาหมดว่า โครงการนี้เดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราอยากเห็นการพิสูจน์ให้ดูว่าดำเนินการจริง นอกจากนี้ ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับเลขาธิการ กปร. เสนอให้นำเครื่องมือตัวชี้วัด 2 กลุ่มนี้ ในการใช้งานร่วมประเมินโครงการที่ระบุน้อมนำแนวพระราชดำริ ร.9 มาดำเนินงาน ซึ่งหลายเรื่องหน่วยงานชงโครงการขึ้นมาเอง เพื่อพิสูจน์ว่า ทำได้จริงหรือเปล่า
" ผมอยากเปลี่ยนวิธีคิดการทำโครงการศาสตร์พระราชา พวกหมู่บ้านพอเพียง ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จทุกแห่งก็ได้ มีหลายโครงการความตั้งใจดีตอนเริ่มต้น แต่เมื่อดำเนินโครงการไป ไม่ตรงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานของในหลวง ร.9 ก็ไม่เห็นผลสำเร็จ ซึ่งต้องปรับปรุง เพื่อสานต่อคำสอนพ่อ แต่อย่าปิดโครงการที่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะนั่นคือการสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่เอกชนก็สามารถขยายผลสำรวจเอกชนทำตามศาสตร์พระราชาหรือไม่ นำคีย์เวิร์ดไปใช้ แต่ข้อถามต้องเปลี่ยนไป " นักวิชาการ TDRI กล่าว
กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ
กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ผลการศึกษาและตัวชี้ที่TDRI พัฒนา ขึ้นมาสามารถใช้บอกเล่าในประชาคมโลก สื่อสารให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าใจผลลัพธ์ การทำตามศาสตร์พระราชาที่สร้างความสุข นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง เดิมต่างชาติรับรู้แนวทางพระราชดำริผ่านเรื่องราวชุมชนที่ศรัทธาในศาสตร์พระราชา แต่ตอนนี้มีตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนว่าใกล้ถึงเป้าหมายหรือยัง ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศมีโครงการสนับสนุนแนวทางศาสตร์พระราชาในต่างแดน จะนำตัวชี้วัดนี้ไปใช้งานอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันการวัดความเติบโตจากเวทีโลกด้วยจีดีพีเชยมาก หลายประเทศพัฒนาตัวชี้วัดความสุขตามแนวทางตนเอง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ชูหลักเศรษฐกิจพอเพียงนำไปปฏิบัติให้เกิดผล และอยากขยายให้ประเทศอื่นที่สนใจนำไปปรับใช้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานสถาบัน TDRI
ในเวทีนำเสนอผลศึกษานี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักการแก้ปัญหาการผลิต แก้ดิน น้ำ ไม่เพียงพอ ทรงตระหนักความสำคัญเรื่องค่านิยม ทัศนคติที่ถูกต้องของประชาชนทุกระดับ ตลอดจนชุมชน และสังคมโดยรวม นี่คือ ต้นกำเนิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทรงชี้แนะหนทางสำเร็จ ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ TDRI สร้างเครื่องมือตรวจวัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อยากเห็นทุกภาคส่วนนำไปใช้งาน และขับเคลื่อนแนวทางพระราชดำริให้เป็นกระแสหลัก การเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 หรือสืบสานพระราชปณิธานใช้เพียงความรักและศรัทธาไม่เพียงพอ แต่ควรศึกษาแนวทางพระราชดำริและหลักการทรงงานให้กระจ่าง สร้างกระบวนการทบทวนเพื่อให้มีประสิทธิผลที่สุด มีตัวอย่างโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ เป็นโอกาสดีกับการทบทวน ปรับปรุง อย่างไรก็ตาม จะสืบสานศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ความร่วมมือเป็นหัวใจสำคัญ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |