ถ้าหุ่นยนต์ครองโลก มนุษย์จะอยู่อย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

    หุ่นยนต์จะมาทำลายมนุษย์จริงหรือ? AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งงานคนจนหมดสิ้นกระนั้นหรือ?
    คำถามทั้งหลายนี้กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมมนุษย์ และนักเขียนนักคิดหลายสำนักพยายามจะหาคำตอบให้ทันการ
    หนึ่งในนั้นคือหนังสือชื่อ Rise of the Robots :  Technology and the Threat of a Jobless Future ซึ่งตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประเด็น
    วันก่อน คุณปาณัสม์ วงศ์เบญจรัตน์ ซึ่งกำลังเรียนหนังสืออยู่ที่ London Business School ซึ่งเป็นนักอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับแนวโน้มใหม่ๆ ของโลก เขียนสรุปประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้มาให้ผมอ่าน
    ผมจึงขออนุญาตนำเอาความย่อของสองบทที่มีความสำคัญซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยสนใจเป็นพิเศษมาเล่าต่อให้อ่านกันครับ
    Super-Intelligence and the Singularity
    ปัจจุบันหุ่นยนต์ที่เริ่มมีบทบาทในการแย่งงานของมนุษย์ยังเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกผลิตมาเพื่องานนั้นๆ โดยเฉพาะอยู่ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งคอมพิวเตอร์ งานวิจัยเกี่ยวกับ Artificial Intelligence และการศึกษาโครงสร้างสมองของมนุษย์ พร้อมกับการแข่งขันกันระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Google, Facebook และ Amazon 
    ในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์อาจจะสามารถสร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาได้สำเร็จ นั่นคือ Artificial General Intelligence (AIG) หรือหุ่นยนต์ที่มีความตระหนักนึกคิดได้ในระดับเดียวกับมนุษย์ และพร้อมที่จะพัฒนาความฉลาดของตัวเองขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    Singularity คือเหตุการณ์สมมติที่หุ่นยนต์ AI เริ่มมีความสามารถมากกว่ามนุษย์ในระดับที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ (Intelligence Explosion) หุ่นยนต์จะกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของโลกและมนุษย์อาจจะหมดค่าลงอย่างรวดเร็ว
    นักวิชาการบางคนยังเชื่อว่ามนุษย์และหุ่นยนต์จะมีความสัมพันธ์ที่ซ้อนทับกันมากขึ้น อาทิ การอัพโหลดสมองของมนุษย์ (transcend) เข้าไปในร่างหุ่นยนต์เพื่อมีชีวิตอมตะ ซึ่งปัจจุบันก็มีบริษัทหลายบริษัทที่โฟกัสในการทำให้มนุษย์มีอายุยืนมากขึ้นเพื่อรอเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น (Live long enough to live forever)
    หากมองโลกในแง่ดีที่สุด การเกิดขึ้นของ AI ที่เป็นมิตรกับมนุษย์จะทำให้ตำแหน่งงานจำนวนมากสูญสลายไป แต่หาก AI เหล่านั้นกลายมาเป็นศัตรูกับมนุษย์ขึ้น มนุษยชาติคงจะถึงจุดจบไม่ต่างจากหนังเรื่อง The Terminator และอีกหลายๆ เรื่อง ผู้ชนะในการแข่งขันสร้าง AI ได้คนแรกจะมีอำนาจอย่างมหาศาล และอาจไม่มีใครตามทันได้ตลอดกาล
    เทคโนโลยีอีกชนิดที่หากเกิดขึ้นจริงจะนำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารต่อมนุษยชาติ คือ Advanced Nanotechnology ในจุดที่มนุษย์สามารถจัดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอะตอมและโมเลกุลได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง มนุษย์จะสามารถสร้างอะไรก็ได้ขึ้นมาจากอากาศแถมยังสามารถรีไซเคิลวัตถุดิบทุกชนิดได้อย่างรวดเร็ว ด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำมากๆ อุตสาหกรรมการผลิตและจัดการขยะจะถูกกำจัดไปภายในชั่วพริบตา
    ปัจจุบัน Nanotechnology เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ Carbon Nanotube ที่เป็นโครงสร้างของคาร์บอนที่มีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กกล้า 100 เท่า และมีน้ำหนักเบากว่า 6 เท่า พร้อมกับสามารถนำความร้อนและไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
    AI และ Advanced Nanotechnology อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ที่แน่ๆ เทคโนโลยีในระดับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ก็กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับมนุษยชาติแล้ว
    Toward a New Economic Paradigm
    ในปี 1963 ประธานธิบดีสหรัฐ John F. Kennedy ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความกังวลถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อจำนวนงานที่ลดลง ขณะเดียวกันจำนวนประชากรของสหรัฐก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ “To even stand still, we have to move fast” JFK เชื่อมั่นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ “การศึกษาที่ดี”
    ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ความเชื่อว่าการศึกษาที่สูงขึ้นจะทำให้อัตราการว่างงานลดลงนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์หลังจากตำแหน่งงานทุกระดับชั้นได้รับผลกระทบอย่างมากจากเทคโนโลยี กลุ่มคนทำงานกว่า 30% ในสหรัฐและ 40% ในจีนต้องทำงานที่คุณสมบัติต่ำกว่าวุฒิการศึกษาและผลที่ตามมาคือภาวะการเฟ้อของวุฒิการศึกษาที่งานต่างๆจะยกระดับคุณสมบัติของผู้สมัครขึ้น รวมถึงการลดความสำคัญของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงลง
    กลุ่มต่อต้านระบบ automation ที่สนับสนุนนโยบายให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจที่จ้างงานด้วยผลประโยชน์ด้านต่างๆ นั้นดูจะไม่สามารถปฏิบัติได้ในระยะยาว เนื่องจากกลุ่มธุรกิจที่เลือกใช้งานหุ่นยนต์แทนมนุษย์จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าในที่สุด แถมธรรมชาติของผู้ประกอบการ ถ้าเลือกได้ พวกเขาจะไม่จ้างมนุษย์ที่ทั้งขี้เกียจ ขี้โกง ขี้เหนื่อย ขี้ป่วย และอีกมากมายอยู่แล้ว
    นโยบายที่ผู้เขียนสนับสนุนเพื่อลดผลกระทบปัญหาการว่างงานจากเทคโนโลยี คือ Basic Guarantee Income ที่รัฐบาลจะมอบเงินรายได้แก่ประชาชนวัยทำงานทุกคนในระดับที่เพียงพอให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ก็ไม่มากเกินกว่าที่จะอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย เปรียบเศรษฐกิจเป็นบ่อปลา ชาวประมงที่จับปลาไปขายก็ต้องปล่อยปลากลับคืนมาในบ่ออย่างสม่ำเสมอ เงินขั้นต่ำที่ประชาชนได้รับเปรียบเหมือน Citizen’s dividend หรือผลประโยชน์จากการที่พวกเขาเป็นประชาชนที่มีการจับจ่ายใช้สอยให้เศรษฐกิจเติบโต
    นโยบาย Basic Guarantee Income จะสามารถดำรงอยู่ได้หากกำหนด Incentive หรือผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้อย่างลงตัว โดยต้องยังคงสนับสนุนให้ผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดในการศึกษาในระดับสูงๆ และหางานดีๆ ทำอยู่ ผู้เขียนเชื่อว่านโยบายนี้จะส่งผลให้เกิด Peltzman Effect หรือการที่มนุษย์อยู่ในสถานะที่ปลอดภัยมากขึ้น พวกเขาจะเสี่ยงมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าเราอาจจะเห็นการเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการมากกว่ากลุ่มคนขี้เกียจที่ยอมรับแต่เงินขั้นต่ำโดยไม่ทำงานใดๆ และนั่นก็เป็นการดีเพราะพวกคนขี้เกียจเหล่านั้นก็สมควรที่จะหลุดออกจากวงจรการทำงานตั้งแต่แรกอยู่แล้ว กลุ่มคนที่เลือกที่จะทำงานจะได้รับเงินค่าจ้างที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น และส่วนหนึ่ง นโยบายนี้ยังสนับสนุนให้คนออกมาเลี้ยงบุตรหลานและดูแลผู้สูงอายุกันมากขึ้น และยังทำให้เกิดการอพยพผู้คนจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองเล็กๆ ที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าได้
    ในอเมริกา หากต้องการให้เงินขั้นต่ำแก่ประชาชนทุกคน 10,000 ดอลลาร์ จะต้องใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับยอดการใช้จ่ายของภาครัฐในนโยบายช่วยเหลือคนจนและคนว่างงานกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เงินส่วนต่างรัฐบาลสามารถจัดเก็บได้จากระบบภาษีต่างๆ ที่ส่วนหนึ่งจะได้รับเงินมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นตามลำดับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"