คู่รักอินเดีย วัยรุ่นตุรกี และสาวเกาหลีสุดมั่น


เพิ่มเพื่อน    

.

รูปปั้นกลคนยืนปัสสาวะที่หน้าอาคาร “พิพิธภัณฑ์ฟรานซ์ คาฟกา”

เป็นความคิดของโกรันที่นัดกินอาหารเที่ยงกันตอนประมาณบ่าย 3 โมงที่ร้าน Coa ร้านอาหารเอเชียบนถนน Rovolucni ใกล้ๆ กับ Namesti Republiky หรือ “รีพับลิกสแควร์” อีกย่านการค้าสำคัญของกรุงปราก

ร้านมีขนาดค่อนข้างกว้างขวาง แคชเชียร์และคนเดินโต๊ะเป็นฝรั่ง อาจจะรวมถึงเจ้าของและคนทำอาหาร เพราะก๋วยเตี๋ยวไก่เส้นเล็กที่ผมสั่งเสิร์ฟมาในชามสีขาว น้ำซุปใสแจ๋ว มีถั่วงอกและเนื้อไก่ชิ้นเล็กๆ ไม่กี่ชิ้น ทำให้ทั้งชามมีสีขาวเกือบสนิท รสชาติเหมือนกินเส้นก๋วยเตี๋ยวกับน้ำโรยเกลือที่นับเม็ดได้ แม้แต่ลิ้นของเด็กอ่อนก็คงรู้สึกว่าจืดชืดเหลือเกิน ราคาชามนี้ 140 โครูนา หรือประมาณ 210 บาท เบียร์ Budweiser แบบที่ทำจากข้าวสาลี แก้วเล็ก ราคา 30 โครูนา ยังมีรสชาติของความเป็นอาหารมากกว่า ผมไม่เข้าใจว่าโกรันชอบร้านนี้ได้อย่างไร เขาสั่งบะหมี่ผัดกินกับเบียร์เช่นกัน แล้วก็ยังชมว่าอร่อย ผมไม่ได้ขอชิมแต่ดูสภาพแล้วรสชาติคงไม่ต่างกับก๋วยเตี๋ยวนัก

เสร็จจากมื้อเที่ยง โกรันก็นั่งรถรางไปรับอาซาร์ (อเล็กซานเดอร์) ลูกชายวัย 10 ขวบของเขาที่โรงเรียนในเขตปราก 5 แล้วบอกว่าจะนั่งรถรางกลับไปที่ออฟฟิศเพื่อขับรถไปส่งที่งานวันเกิดของเพื่อนอาซาร์ที่ไหนสักแห่ง ส่วนผมเดินผ่านรีพับลิคสแควร์ไปบนถนน Na Prikope เลี้ยวซ้ายเข้าถนน Hybernska แล้วเลี้ยวขวาทันทีเข้าถนน Senovazna เมื่อสุดถนนเส้นนี้ก็เป็นถนน Jindrisska เลี้ยวขวาเข้าถนนเล็กๆ ชื่อ Panska ที่ Fusion Hotel โรงแรมในความทรงจำของผมตั้งอยู่

รถโบราณพาทัวร์ อีกสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของกรุงปราก

Fusion Hotel ที่เคยพักเมื่อคราวมาเยือนกรุงปรากครั้งก่อน ปัจจุบันถูกซื้อและเปลี่ยนชื่อไปเป็น NYX Prague โรงแรมในเครือ Leonardo Hotels หนึ่งในกลุ่มโรงแรมของ David Fattal มหาเศรษฐีจากอิสราเอล ตรงข้าม NYX Prague คือ Palace Hotel Prague โรงแรมเก่าขนาดใหญ่ มีร้านอาหารชื่อ Palace Café ที่ผมเคยกินมื้อเช้า ถัดไปจาก NYX Prague คือ Mucha Museum พิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะแนว “อาร์ตนูโว” ของศิลปินชื่อดังชาวเช็ก Alphonse Mucha (1860 – 1939) ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วนแสดง แต่ผมไม่ได้เข้าชมเพราะค่าตั๋วประมาณ 400 บาท และพิพิธภัณฑ์ใกล้จะถึงเวลาปิดแล้ว จึงเดินทะลุถนน Panska ไปออกถนน Na Prikope แล้วเดินไปยังย่านเมืองเก่า ผ่านย่านวัดยิว จนถึงริมแม่น้ำวอลตาวา

พี่มืดในชุดกะลาสียืนขายทัวร์นั่งเรือชมสองฝั่งเมืองอยู่ แกยังใจดีคอยบอกนักท่องเที่ยวที่เลี้ยวซ้ายหวังจะไปสะพานชาร์ลส์ว่าเป็นทางตัน ผมเดินเลียบฝั่งแม่น้ำไปทางขวามือ มีสวนสาธารณะเล็กๆ ที่ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวปูผ้านั่งปิกนิกและพักผ่อนอยู่จำนวนไม่น้อย ใกล้ๆ กันคือ Ceska filharmonie หรืออาคารแสดงคอนเสิร์ตซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งสาธารณรัฐเช็ก

ผมเดินข้ามแม่น้ำจากสะพาน Manes ซึ่งหัวสะพานตั้งอยู่ระหว่างสวนสาธารณะกับ Ceska Filharmonica เมื่อถึงอีกฝั่งก็เดินลงไปยังชายหาดด้านซ้ายมือซึ่งเต็มไปด้วยนกพิราบ มีสภาพค่อนข้างสกปรก จึงเดินขึ้นฝั่งไปเจอ Franz Kafka Museum พิพิธภัณฑ์แสดงหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ “ฟรานซ์ คาฟกา”ยอดนักประพันธ์ชาวเช็ก เชื้อสายยิว ผู้รจนาเป็นภาษาเยอรมัน มีชื่อเสียงโด่งดังหลังจากที่เจ้าตัวเสียชีวิตไปแล้ว ผมเคยอ่านเพียง The Metamorphosis ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือชื่อเรื่อง “กลาย” ในฉบับภาษาไทย แปลโดย “มนตรี ภู่มี” แต่ไม่เคยหาซื้อได้ นอกจากบรรดาหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกของคาฟกาแล้วพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงจดหมายที่เขาเขียนโต้ตอบกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท และคนรัก รวมถึงบทบันทึก และภาพเขียนอีกจำนวนหนึ่งด้วย

งานเขียนของคาฟกาส่วนใหญ่ถูกตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วในวัยเพียง 40 ปี (ค.ศ. 1924) ด้วยวัณโรค มัจจุราชแห่งยุคนั้น ก่อนตายได้สั่งให้ “แม็กซ์ โบรด” (Max Brod) เพื่อนนักเขียนของเขาเผาทำลายต้นฉบับเสียให้สิ้น แต่โบรดกลับนำไปตีพิมพ์ แม้ตลอดชีวิตของคาฟกาจะเขียนเรื่องสั้นและนิยายไว้ไม่มากนักแต่มีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนรุ่นหลังเหลือคณานับ

โบสถ์เซนต์มาร์ตินในกำแพง (Church of St. Martin in the Wall) สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1187 ชื่อนี้มีที่มาจากที่กำแพงทิศใต้ของโบสถ์สร้างติดกับกำแพงเมืองเก่ากรุงปราก

 

ที่หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ มีรูปปั้นกลคนยืนฉี่อยู่ 2 หน่อ เป็นจุดยอดนิยมสำหรับการถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าจะเข้าไปชมงานแสดงเสียอีก เช่นเดียวกับผมเองที่ไม่ได้เข้าไปภายในตัวพิพิธภัณฑ์เพราะเลยเวลาปิดทำการไปสักพักแล้ว

บาร์เบียร์ชื่อ Lokal ระหว่างทางกลับที่พักมีความน่าสนใจมาก ที่นั่งด้านในเต็มจนคนต้องออกมายืนดื่มกันนอกร้านเลยไปจนถึงบาทวิถีของอีกฝั่งถนน หากว่าไม่ปวดเท้าจนระบม โดยเฉพาะบริเวณส้น ผมคงเป็นหนึ่งในพวกนั้นอย่างแน่นอน

ก่อนจะงีบหลับในห้องพัก หนุ่มอังกฤษแขกใหม่แนะนำตัวอย่างสุภาพแบบฉบับชาวผู้ดีของแท้ เมื่อผมตื่นขึ้นมาเขาไม่อยู่แล้ว พอเดินออกไปยังระเบียงที่เชื่อมเป็นรูปตัว U ระหว่างส่วนรีเซ็พชั่นและห้องพักรวมของผมกับส่วนที่เป็นครัวและห้องพักที่เหลือ ก็เจอกับพวกอังกฤษกลุ่มหนึ่งนั่งเล่นไพ่ออกันอยู่ตรงระเบียงทางเดิน กลุ่มวัยรุ่นตุรกีที่เช็กอินตั้งแต่เมื่อวานมาด้อมๆ มองๆ เหมือนอยากจะเล่นด้วย

ที่หัวมุมระเบียงถัดไปจากวงไพ่มีเก้าอี้วางเรียงอยู่ราวสี่ห้าตัว หนุ่มเติร์กคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีนั่งคุยอยู่กับสาวเกาหลี ผมเข้าไปสนทนาด้วยแต่ไม่นานนักเพราะรู้สึกหิวตั้งแต่ตื่นจึงออกไปเดินหาร้านอาหาร ส่วนมากคนแน่นเพราะเป็นช่วงเวลามื้อเย็นพอดี จึงเดินเข้าร้านชำแต่ไม่มีอะไรน่ากิน ในร้านผมเจอหนุ่มตุรกีผู้โดดเดี่ยวและน่าสงสาร หน้าตอบ ตัวผอม ผมลีบยาวประบ่า พักโฮสเทลเดียวกันแต่ไม่ได้มากับกลุ่มวัยรุ่นที่ดูร่าเริงสนุกสนานกลุ่มนั้น เขาหลบสายตา ขี้อายปนขี้กลัว ผมตัดสินใจเดินไปกินไก่ทอดและสลัดที่แม็คโดนัลด์ ก็เจอตุรกีคนนี้อีก ผมพยายามมองเขาเพื่อจะทักทายแต่เขาก็หลบตาตามเคย

มุมหนึ่งของ รีพับลิกสแควร์ในวันอากาศดี

ระหว่างมื้อเย็นก็นั่งคิดเรื่องแผนการเดินทางต่อจากนี้ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปเมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ ดีหรือไม่ เพราะแผนเดิมคือจะไปนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี แต่เพื่อนคนไทยที่นั่นไม่ว่างจนกว่าจะผ่านไปอีกสี่ห้าวัน จำเป็นต้องไปที่ไหนสักแห่งก่อนเข้าแฟรงก์เฟิร์ต แต่กรากุฟจะกินพลังงานมากเกินไป ตอนนี้ก็อ่อนแรงลงไปมากแล้วเพราะกลางวันเดินเยอะและกลางคืนก็ดื่มเบียร์จนดึกดื่น มีตัวเลือกเมืองเดรสเดนของเยอรมนีที่อยู่ไม่ไกลออกไป เป็นเมืองที่มีอาคารบ้านเรือนสวยงาม โดนระเบิดถล่มราบคาบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ได้สร้างขึ้นใหม่ให้ดูเหมือนสภาพเดิม ทว่าที่พักราคาสูง และค่ารถจากเดรสเดนไปแฟรงก์เฟิร์ตก็แพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน หรือจะเวียนนา เพราะยังไงก็วางแผนจะไปอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าไปเวียนนาก่อนแฟงค์เฟิร์ตก็ต้องวกกลับมาปรากอีก เพื่อจะลงไปฮังการี แล้วเข้าโรมาเนีย ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับ

กินเสร็จก็ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ กลับมายังที่พักก็พบว่าอังกฤษกับตุรกีอยู่วงเดียวกันแล้ว พวกเขาเล่นไพ่และพูดคุยกันเสียงดังหนวกหูมาก ผมย้ายที่เขียนบันทึกจากในครัว ไปยังล็อบบี้ แล้วไปจบในห้องพัก เสียงพวกเขาก็ตามไปรบกวนได้ทุกที่จึงต้องเลิกล้มความพยายามในที่สุด ด้วยความรำคาญพวกอังกฤษไร้มารยาทนี้เองจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าพรุ่งนี้จะต้องเดินทางออกจากกรุงปราก คำตอบของสถานที่ปลายทางจะต้องปรากฏเมื่อตื่นนอน

ในห้องพักรวมของผม ลุงชาวอินเดียและภรรยาชาติเดียวกันเป็นผู้มาใหม่อีก 2 คน ทั้งคู่หลับลงไปได้อย่างเหลือเชื่อ ส่วนผมต้องรอให้พวกผู้ดีเสียงดังออกไปเที่ยวข้างนอกกันก่อนตอนประมาณตีหนึ่งจึงสามารถหลับได้ สำหรับแก๊งตุรกีก็ทยอยเดินเข้าห้องนอนของพวกเขา

รถราง, หอคอยแบบโกธิค และศิลปะชั้นต่ำของนักพ่นสีมือบอน

“เวียนนา” เมืองหลวงของออสเตรีย คือภาพที่ผุดขึ้นหลังจากตื่นนอน

ลุงชาวอินเดียแกชื่อ “คริส” เกิดที่มุมไบ แต่ไปทำมาหากินอยู่ที่นครโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้ 25 ปี และปัจจุบันเกษียณแล้ว ทุกคืนนอกจากศรีภรรยาแกก็ยังมีเครื่องหยุดกรนที่ต้องนอนกับแกด้วยทุกคืน แกเล่าว่าเคยกรนอย่างหนักจนครั้งหนึ่งหยุดหายใจไปหลายวินาที หมอจึงแนะให้ซื้อเครื่องหยุดกรน ราคา 1,600 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5 หมื่นบาท แกว่าถูกมากหากเทียบกับที่เคยเกือบตาย เครื่องนี้มีลักษณะคล้ายเครื่องเล่นเทปแบบแบนๆ มีที่ครอบจมูกและปาก นอกจากส่งอากาศเข้าจมูกแล้วก็กันไม่ให้ปากอ้าไปพร้อมกัน ลุงแกว่า “ไม่รู้เป็นไร คนอินเดียกรนกันทุกคน”

คู่รักวัยเกษียณมีแผนเดินทาง 50 วันในยุโรป เพิ่งมาจากกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ ที่หมายต่อไปคือบูดาเปสต์ แต่ลุงคริสยังไม่รู้ว่าจะต้องซื้อตั๋วที่ไหนอย่างไร ผมจึงแนะนำให้แกนั่งรถรางไปซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรถไฟกลางของกรุงปราก (Prague Main Railway Station) แกก็ทำตามอย่างน่ารัก

ผมเช็กเอาต์แล้วแบกกระเป๋าลงจากโฮสเทล เดินไปที่ป้ายรถรางก็เจอลุงคริสและภรรยา แกซื้อตั๋วแบบ 24 ชั่วโมงเดินทางได้ทุกสายทุกโซน แต่รอรางผิดฝั่ง แกจึงว่าโชคดีที่เจอผมไม่อย่างนั้นคงนั่งไปไหนก็ไม่รู้ ผมซื้อตั๋วแบบเที่ยวเดียวราคา 24 โครูนา นั่งรถรางสาย 15 สายเดียวกับลุงคริส แกขออีเมลผมไป บอกว่าคืนนี้จะเขียนถึง ผมไหว้ลาแกและภรรยา ก่อนลงก็ทำตัวเป็นผู้รู้ “ของลุงป้ายถัดไป” พอลงมาจึงรู้ว่าต้องนั่งไปอีก 2 ป้าย

จนบัดนี้ผมยังไม่เคยได้รับอีเมลจากลุงคริส ไม่รู้เพราะทำให้แกลงผิดป้ายแล้วหลงทางจนเกลียดผมไปเลยหรือเปล่า

กลุ่มนักท่องเที่ยวบริเวณจัตุรัสเมืองเก่า ฉากหลังคือ Church of Our Lady before Tyn ส่วนซ้ายมือคือนาฬิกาดาราศาสตร์อันลือชื่อ

จากป้ายรถราง เดินไปอีกประมาณ 500 เมตรก็ถึงสถานีรถบัส Florenc ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีรถบัสหลักของกรุงปรากสำหรับเดินทางระหว่างประเทศ บริษัท FlixBus มีให้บริการ 2 ช่องติดกัน สามสาวจากเมืองไทยยืนเข้าคิวอยู่ พวกเธอจะไปนครมิวนิค ประเทศเยอรมนี เพื่อขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพ ทั้งสามซื้อตั๋วกรุงเทพ – มิวนิค มา 1 สัปดาห์ และระหว่างมิวนิคกับปรากก็ไม่ได้ห่างกันมาก จึงถือโอกาสมาเที่ยวเสียให้คุ้มค่าตั๋ว

ผมได้รถบัสเที่ยวถัดไปเวลา 14.15 น. ราคา 15 ยูโรเท่านั้น หากจะเดินทางเที่ยวนี้เวลา 12.15 น. จะต้องไปขึ้นที่สถานีรถไฟ (มีจุดจอดรถบัส) ค่าตั๋ว 25 ยูโร ซึ่งคงไปไม่ทัน หากขึ้นตรงสถานี Florenc นี้ก็ทันแต่ราคาขึ้นไปที่ 48 ยูโร ทั้งที่เป็นรถคันเดียวกัน นี่คือลูกเล่นของบริษัทรถที่ผมไม่ตามเกมด้วย ขอแบกกระเป๋าไปกินไก่ทอดเคเอฟซีเป็นมื้อเช้าดีกว่า และจากการสำรวจไก่ทอดยี่ห้อนี้มาหลายประเทศ ที่เช็กรสชาติติดอันดับต้นๆ ส่วนอันดับสุดท้ายเกรงใจเหลือเกินที่ต้องบอกว่าเป็นไก่ญี่ปุ่นที่รักของผม

ขึ้นรถได้ครู่หนึ่งก็รู้สึกมีอาการแสบคอ บนรถคันนี้สาวเกาหลีผู้เซ็กซี่โฉบเฉี่ยวจากโฮสเทลโดยสารมาด้วย เรานั่งเก้าอี้คนละแถวแต่ก็มีโอกาสได้คุยกันสองสามครั้ง รถบัสไม่มีการจอดแวะระหว่างทาง ผ่านเมือง Brno ของเช็ก เข้าสู่เมืองเล็กๆ ชื่อ Poysdorf ของออสเตรีย ข้ามแม่น้ำดานูบ จนรถมาจอดที่สถานี Erdberg ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเวียนนา

Ceska filharmonie หรืออาคารแสดงคอนเสิร์ตซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งสาธารณรัฐเช็ก

ตอนอยู่บนรถบัสสาวเกาหลีบอกผมว่าจะเดินทางเข้าเมืองไปด้วยกัน แต่แผนที่กูเกิลในมือถือซึ่งปกติจะระบุวิธีการเดินทางอยู่ด้วยกลับไม่แสดงเส้นทางของรถไฟใต้ดิน (ข้อมูลเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2560 ปัจจุบันแสดงเส้นทางรถไฟใต้ดินแล้ว) และเธอก็เชื่อตามว่าไม่มีรถไฟใต้ดินแถวนี้

เธอบอกลาและยิ้มให้ก่อนออกเดินลากกระเป๋าใบยักษ์ไปบนบาทวิถีระยะทางไกล 3 กิโลเมตรเพื่อไปยังที่พักที่จองไว้ ส่วนผมเดินไปถามหนุ่มขายกาแฟแถวนั้น เขาบอกให้ข้ามถนนแล้วจะเจออักษร U ตัวใหญ่ “นั่นแหละสถานีรถไฟใต้ดิน”

ห่างออกไปประมาณ 50 เมตร จากจุดจอดรถบัส.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"