รัฐบาล ‘ติดหล่ม’ แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน ถึงจุด ‘บิ๊กป้อม’ กำหนด 'ตายเดี่ยว-ตายหมู่'


เพิ่มเพื่อน    

 

    ปมแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การทำงานของรัฐบาลติด หล่ม
    นับจากเกิดเรื่องเมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2560 จวบจนวันนี้เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม แต่ความสนใจของสังคมต่อประเด็นนี้ไม่ได้เบาบางลงไป กลับกันยิ่งร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
    จากเรื่องบุคคล เฉพาะตัว “บิ๊กป้อม” นำมาสู่การสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
    นั่นเพราะสังคมเชื่อว่า มีกระบวนการพยายามจะอุ้ม “บิ๊กป้อม” ให้ได้อยู่ในเก้าอี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หน่วยงานตรวจสอบที่ บิ๊กกุ้ย-พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ในฐานะอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาถูกเชื่อมโยงความสัมพันธ์
            หรือแม้แต่ “บิ๊กตู่” ที่เหมือนอยากจะ “รักษา” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ให้อยู่ในเก้าอี้ต่อไป จากการแสดงออกหลายกรรมหลายวาระ โดยเฉพาะเรื่องการขอให้ลดราวาศอกต่อกัน จนถูกติติงว่า ยอมทิ้งมาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของตัวเองลงเพียงเพราะคนใกล้ชิด
    จากสภาวะที่อยู่ในช่วง ขาลง อยู่แล้ว มาประจวบเหมาะกับประเด็นของ “บิ๊กป้อม” มันเลยยิ่งทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลยิ่งแย่ขึ้นเรื่อยๆ
        ประเด็นของ “บิ๊กป้อม” ถูกพาลไปในทุกๆ เรื่องของรัฐบาล ตั้งแต่เรื่องที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิมกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มาเป็นให้มีผลบังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน
        ยิ่งถูกค่อนแคะหนัก ถึงความชอบธรรมที่จะลากยาว!
        แม้กระทั่งล่าสุดกรณี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เอาผิดกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่ไปชุมนุมบนสกายวอล์ก ฐานผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ห้ามชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ที่ถูกย้อนศรให้เอาผิดกลุ่มที่มาให้กำลังใจ “บิ๊กป้อม” หน้ากระทรวงกลาโหมเช่นกัน
    สังคมพร้อมใจแขวะรัฐบาลเรื่อง บรรทัดฐาน
        มันสะท้อนให้เห็นว่า เรื่อง “บิ๊กป้อม” เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่ได้คำตอบที่สังคมพอใจ มันยากจะจบ แล้วจะส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลเดินหน้าไม่ได้สักเรื่อง
        คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเรื่องนี้ ไม่ใช่ “บิ๊กป้อม” แต่เป็น “บิ๊กตู่” โดยเฉพาะแผนการนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีใน “เทอมสอง” จะไม่ง่ายอย่างที่คิด
        ต้องยอมรับว่า เรื่องแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนของ “พี่ป้อม” ทำให้ “น้องตู่” เสีย “กองหนุน” ไปจำนวนมาก จากการตัดสินใจทำในสิ่งที่ค้านสายตาประชาชน
        ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะดำเนินการผิดพลาดในหลายๆ เรื่อง แต่ทุกครั้งจะมีมวลชนที่พร้อมสนับสนุน “บิ๊กตู่” ที่คอยออกมาปกป้อง และเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ แต่กับเรื่องนี้แทบไม่มีมวลชนคนใดออกมาช่วยเลย
           ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องนาฬิกาหรู มันเป็นประเด็นที่ค่อนข้างจะมัดว่า “บิ๊กป้อม” กระทำผิดกฎหมายชัดเจน จากการไม่แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนของนาฬิกา
            ข้ออ้างเรื่อง “นาฬิกาเพื่อน” ไร้น้ำหนักสำหรับสังคม คนที่ชอบนาฬิกาเป็นชีวิตจิตใจ ปรากฏภาพว่า สวมใส่กว่า 20 เรือน แต่กลับไม่มีเป็นของตัวเองเลยสักเรือน มันย้อนแย้งกับความเป็นจริง
        แม้แต่กองเชียร์ทหารแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ที่ออกมาปกป้องเป็นประจำ ยังไม่กล้าออกมาต่อสู้ในเรื่องนี้ให้ เพราะมันมีแต่ “เจ็บตัว” จนถูกถากถางว่า เป็นพวกรักแบบไม่ลืมหูลืมตา
    หรือต่อให้คนภายในกันเอง ทั้งในรัฐบาล และ คสช. เว้นแต่ “บิ๊กตู่” และผู้ใต้บังคับบัญชาที่สนิทสนม ไม่มีใครกล้าออกมาพูดเรื่องนาฬิกาเพื่อช่วย “บิ๊กป้อม” เลย ทุกคนต่างกลัว “เจ็บตัว” เพราะเรื่องนี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกฎหมาย สนช. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
    “กองหนุน” ที่เหนียวแน่น หายไปทีละคนสองคน “มิตร” เปลี่ยนเป็น “คนอื่นไกล” อย่างเช่นเพื่อนเซนต์คาเบรียล และอดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเดียวกัน หม่อมอุ๋ย-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังออกมากระตุกให้ไขก๊อกเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาล
    “อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์” อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล คนที่ประกาศตัวชัดว่า สนับสนุนรัฐประหาร ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพราะถูก “เซ็นเซอร์” ผลสำรวจเรื่องนาฬิกาที่พบว่า ประชาชนไม่เชื่อว่า “บิ๊กป้อม” ยืมนาฬิกาเพื่อนมา
    องค์กรที่เคยได้รับความเชื่อถือศรัทธาอย่าง “ป.ป.ช.” ได้รับผลกระทบเรื่องเครดิตอย่างมากจากการทำหน้าที่ตรวจสอบประเด็นนี้
        ถูกองคาพยพต่างได้รับผลกระทบจากการ “อยู่ต่อ” ของ “บิ๊กป้อม” แทบทั้งสิ้น              
       “ผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 11 จนถึงขณะนี้ผ่านมา 50 ปีแล้ว ไม่เคยมีเรื่องอะไรหนักๆ ก็ดูเอาแล้วกันว่าผมได้ทำอะไรที่เสียหายกับประเทศชาติบ้านเมืองหรือไม่ ผมเข้ามาเพราะอยากจะช่วยเหลือบ้านเมือง อยากทำงานให้บ้านเมือง ถ้าประชาชนไม่ต้องการ ผมก็พร้อมที่จะไปจากตำแหน่งนี้”
    ฟังดูเหมือนไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ แต่ตีความได้ว่า “บิ๊กป้อม” ยังดันทุรังอยู่
        เพราะถ้าหันไปมองเสียงสะท้อนจริงๆ จากสังคม พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ น่าจะได้คำตอบไปนานแล้วว่า ตัวเองควรตัดสินใจอย่างไรกับเรื่องนี้ ที่สำคัญ จะไม่พูดคำคำนี้ออกมา
            ดังจะเห็นได้ว่า พลันที่ประโยคนี้หลุดจากปากรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สังคม “ขานรับ” ต่อเรื่องนี้ในทันที เพจชื่อดังเปิดสำรวจความคิดเห็นของประชาชน คะแนนออกมาคนที่อยากให้ “บิ๊กป้อม” ลาออกมีมากกว่าคนที่อยากให้อยู่ต่อแบบขาดรอย
    แน่นอนว่า มันอาจดูไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเมื่ออยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย แต่มันสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ณ ตอนนี้ของคนในสังคมได้เป็นอย่างดีว่า มีทัศนคติในเรื่องนี้อย่างไร
    อย่าลืมว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีประกาศ หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามเรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ กดการเคลื่อนไหวเอาไว้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ อาจได้เห็นการเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงกว่านี้ ดังนั้นถ้าจะตัดว่า คนที่ออกมาคัดค้านการอยู่ต่อของ “บิ๊กป้อม” เกิดขึ้นเฉพาะในโซเชียลมีเดีย และจากภาคการเมืองเท่านั้น ต้องคำนึงถึง ข้อจำกัด ตรงนี้ด้วย
    การหวังพึ่งองค์กร “ป.ป.ช.” เพื่อ ฟอก ตัวเอง ไม่ดีด้วยประการทั้งปวง เพราะนอกจากคนจะไม่เชื่อในคำตอบแล้ว ไม่ใช่ “บิ๊กป้อม” คนเดียวที่พัง แต่เป็น “ป.ป.ช.” และ “บิ๊กตู่” หรือองคาพยพทั้งหมด
    เรื่องนี้มันเดินมาไกลกว่าเป็นเรื่อง ส่วนตัว แต่ได้กลายมาเป็นเรื่องที่กำหนดได้ว่า อนาคตของ “บิ๊กตู่” และรัฐบาลจะเป็นอย่างไร
        มันรวนกันมาร่วม 2 เดือนแล้ว หลายอย่างไม่สามารถขยับเขยื้อนไปข้างหน้า เพราะติดกับ “หล่มลึก” แบบไม่เห็นทางหลุดพ้น
            มาถึงจุดที่ว่า จะเสียสละจมไปคนเดียว หรือจะลากคนอื่นให้จมตามตัวเองไปด้วย.

                                ทีมข่าวการเมือง
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"