อัยการพิเศษสหรัฐสหรัฐทำหนังสือถึงศาลวอชิงตัน เสนอให้ละเว้นการลงโทษจำคุก "ไมเคิล ฟลินน์" อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่รับสารภาพให้การเท็จต่อเอฟบีไอ ระบุฟลินน์ให้ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์มากต่อการสอบสวน
แฟ้มภาพ วันที่ 1 สิงหาคม 2556 โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) แถลงอำลาตำแหน่งที่กระทรวงยุติธรรม / AFP
บันทึกช่วยจำของโรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนข้อกล่าวหารัสเซียแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐปี 2559 ที่เสนอแนะต่อศาลรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีขึ้นก่อนหน้าที่ศาลแขวงดิสตริกต์ออฟโคลัมเบียจะมีคำพิพากษาวันที่ 18 ธันวาคมนี้ หลังจากที่ถูกเลื่อนมาแล้ว 4 ครั้งใน 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ด้วยว่า อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวที่โดนบีบให้ลาออกหลังเข้ารับตำแหน่งไม่กี่สัปดาห์ อาจเป็นพยานคนสำคัญ
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 กล่าวว่า ฟลินน์รับสารภาพเมื่อปีที่แล้วว่าเขาโกหกเกี่ยวกับการติดต่อกับคนของรัสเซียภายหลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 แต่บันทึกช่วยจำที่มุลเลอร์ยื่นต่อศาลเพื่อเสนอแนะให้ละเว้นโทษจำคุกนั้น เขาระบุว่า ฟลินน์ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนของเขา และการสอบสวนคดีอาญาของหน่วยงานรัฐบาลกลางอื่นที่ไม่เปิดเผย ซึ่งรวมถึงการเข้าให้ปากคำ 19 ครั้ง
มุลเลอร์กล่าวว่า ถึงแม้ฟลินน์จะทำผิด "ร้ายแรง" แต่อดีตนายพล 3 ดาวและอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหารของเพนตากอนรายนี้ มีประวัติที่ดีในการทำงานให้กองทัพและงานบริการสาธารณะ
ฟลินน์เป็นบุคคลแรกที่ยอมรับสารภาพผิด ในการสอบสวนโดยคณะของมุลเลอร์เกี่ยวกับคำกล่าวหาว่าคณะทำงานหาเสียงของทรัมป์สมคบคิดกับรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้ง เขาเป็นบุคคลระดับสูงที่คลุกวงในและติดตามทรัมป์ออกงานสำคัญๆ รวมถึงการปราศรัยสำคัญต่อที่ประชุมพรรครีพับลิกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 แล้วต่อมาทรัมป์แต่งตั้งเขาเป็นที่ปรึกษาภายในไม่กี่สัปดาห์หลังเข้ารับตำแหน่ง สถานะของฟลินน์ทำให้เขามีโอกาสเป็นพยานปากสำคัญอย่างที่สุด แต่การที่ฟลินน์เคยให้การเท็จหลายครั้ง ทำให้หลายฝ่ายมองว่าน่าจะลดค่าความสำคัญในฐานะพยานปากเอกของเขา
แฟ้มภาพ วันที่ 1 ธันวาคม 2560 พลเอกไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ขณะเดินออกจากศาลในกรุงวอชิงตัน / AFP
ฟลินน์เคยให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 หรือ 4 วันหลังทรัมป์สาบานตนรับตำแหน่ง โดยโกหกเกี่ยวกับคำสนทนาระหว่างเขากับเซอร์เกย์ คิสล์ยัค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐ ระหว่างการพบกันเมื่อเดือนธันวาคม 2559 หลังจากทรัมป์ชนะเลือกตั้งแล้ว ครั้งนั้นมีบันทึกดักฟังคำสนทนาโดยหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ที่เปิดโปงว่าฟลินน์พยายามบ่อนทำลายนโยบายของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียตอบโต้การแทรกแซงเลือกตั้ง
ในคำสนทนาครั้งนั้น ดูเหมือนฟลินน์พยายามทำความตกลงทางการเมืองกับรัสเซีย โดยบอกให้รัสเซียอดรนไว้ก่อน อย่าเพิ่งตอบโต้ เพราะทรัมป์จะยกเลิกการคว่ำบาตรนี้เอง
ภายหลังโดนจับได้ว่าเขาโกหกรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ เรื่องการนัดพบกับทูตรัสเซียครั้งนี้ ฟลินน์ก็ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2561 ในการให้ปากคำครั้งที่ 2 กับสำนักสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ฟลินน์ก็โกหกอีกครั้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงก่อนและหลังเลือกตั้ง ที่เขาทำสัญญาวิ่งเต้นมูลค่า 530,000 ดอลลาร์ในนามตัวแทนล็อบบี้ของตุรกี ซึ่งเขาไม่ได้รายงานเรื่องนี้
บันทึกช่วยจำของมุลเลอร์กล่าวว่า ในเวลานั้น จำเลยเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และทำหน้าที่ตัวแทนหาเสียงของทรัมป์ โดยได้แสดงทัศนะอย่างเปิดเผยในประเด็นความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายการต่างประเทศ
แม้บันทึกนี้จะเสนอโทษสถานเบา แต่มุลเลอร์ก็ไม่ได้แย้มว่าฟลินน์ได้ให้การที่เป็นประโยชน์อะไรไว้ อย่างไรก็ดี ในภาคผนวกมีการปิดบังข้อความหลายช่วงหลายตอนที่บ่งบอกว่า ฟลินน์อาจกำลังช่วยเหลือการสอบสวนของหน่วยงานอื่นที่นอกเหนือจากคณะของมุลเลอร์ด้วย ซึ่งอาจรวมถึงความสัมพันธ์ด้านการเงินระหว่างทรัมป์กับรัสเซียผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |