ผมเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้สัมผัสกับภาพความเป็นจริงหลายประเด็น หนึ่งในหลายๆ ความรู้สึกดีๆ ที่ได้มาคือ คนในสามจังหวัดใต้สุดของประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันสร้างความเป็นปกติสุขกลับมาให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคระหว่างทางมากเพียงใดก็ตาม
ที่อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ผมเห็นจิตวิญญาณแห่งความอดทนมุ่งมั่นที่ฝรั่งเรียกว่า resilience อย่างชัดเจน ร้านรวงและผู้คนใช้ชีวิตปกติแม้กลางเมืองที่ถนนรวมมิตรจะมี "บังเกอร์" ที่เป็นคอนกรีตกลมๆ วางเรียงรายเพื่อป้องกันการก่อเหตุร้ายครั้งใหม่ แต่แท่งซีเมนต์เหล่านี้บัดนี้กลายเป็น "งานศิลป์" ที่กลมกลืนกับภูมิทัศน์ของชุมชนเมืองไปแล้ว เพราะคนยะลาใช้จินตนาการเขียนรูปการ์ตูนและดอกไม้ให้ "บังเกอร์" ที่น่ากลัวกลายเป็น "แท่งศิลป์" ที่ผ่อนคลาย ปิดบังความเครียดของการที่ต้องระแวดระวังไม่ให้เกิดเหตุร้ายอีก
ผมนั่งกินข้าวที่ร้านอาหารกลางเมืองซึ่งเคยถูกระเบิดมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แต่เจ้าของร้านก็ไม่เลิกกิจการ ตรงกันข้ามคนยะลาและผู้มาเยือนกลับมาอุดหนุนร้านนี้ (ที่มีปลาเผาอร่อยอย่างยิ่ง) กันอย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย
เจ้าของร้านทักทายผมอย่างเป็นกันเองและร่าเริง ถามไถ่ถึงเพื่อนของเขาที่เป็นเพื่อนของผมเหมือนกันอย่างสนุกสนาน ไม่มีร่องรอยของความเกรงกลัวต่อความไม่ปกติที่กลายเป็นความปกติแต่อย่างใด
อีกด้านหนึ่งของเมืองยะลาเป็นจุด street art ที่น่าประทับใจ เพราะคุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาบอกผมว่า ท่านต้องการให้ยะลาเป็นเมืองทันสมัย ร่าเริง มีศิลป์และความพร้อมที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นครยะลาได้ชื่อว่ามีผังเมืองที่เป็นระเบียบที่สุดของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีความสะอาดอันดับต้นๆ ของประเทศ
"นี่คือจุดเด่นของยะลาที่เราต้องปกปักรักษาและพัฒนาต่อเนื่อง มีคณะจากหลายๆ จังหวัดมาดูงานของเราตลอดเวลาทุกครั้ง ทำให้พวกเรามีความภูมิใจมากครับ" คุณพงษ์ศักดิ์บอกผม
ผมไปยืนอยู่หน้ารูปวาดที่สะท้อนถึงจินตนาการของศิลปินริมถนนของยะลาแล้วเกิดแรงบันดาลใจในทางบวกไม่น้อยเลย
หนึ่งในป้ายที่มีความหมายมาก เป็นข้อความ Peace for Yala หรือ "แด่สันติภาพของยะลา" ทำให้เห็นภาพของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนที่นี่
แนวคิด "พหุวัฒนธรรม" ของที่นี่หมายถึงการให้คนต่างศาสนาและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนมุสลิม พุทธ หรือคริสต์ต่างก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ในระดับชาวบ้าน ผมยืนยันได้ว่าคนต่างวัฒนธรรมของที่นี่อยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่น มีความเอื้ออาทรต่อกัน ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงมาจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีวาระด้านการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น อีกด้านหนึ่งอำเภอเบตงกำลังจะมีสนามบิน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายโอกาสของการเป็นเมืองท่องเที่ยว สมกับความเป็น "สวิตเซอร์แลนด์" อีกจุดหนึ่งของประเทศไทย
มีคนเขียนบรรยายเสน่ห์ของเบตงว่า
"เบตงไม่ใช่แค่โอเค แต่ดีมากจนหลงรัก"
สมกับคำขวัญประจำอำเภอเบตงที่ว่า "เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน"
ศักยภาพของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหลือล้น มาถึงที่จึงสัมผัสได้ถึงความพร้อมของผู้คนที่จะสร้างอนาคตใหม่เมื่อสันติภาพหวนคืนมา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |