คนหนีคดีหมดสิทธิฟ้องอาญา


เพิ่มเพื่อน    

    สภานิติบัญญัติแห่งชาติไฟเขียวกฎหมายตัดสิทธิ์บุคคลหลบหนีคดีฟ้องคดีอาญาต่อศาล ระบุเมื่อไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ก็ย่อมไม่ได้สิทธิได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ขณะที่ "จาตุรนต์" หวั่นออก กม.หวังผลต่อตัวบุคคล อาจกระทบต่อระบบยุติธรรม เพจหนุนแม้วร้อนตัวโวยลั่น ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
    เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 5 มาตรา ในวาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว
    โดยสาระสำคัญในมาตรา 5 การห้ามประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องคดีผู้อื่นโดยไม่สุจริต หรือเพื่อกลั่นแกล้งกัน โดยตัวแทน กมธ.ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า หากพบว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งเอาเปรียบจำเลย ถือเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริต ศาลมีอำนาจยกฟ้อง หรือไม่รับฟ้องได้ และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอีก ซึ่งจะครอบคลุมถึงกรณีผู้ปฏิเสธคำสั่ง คำพิพากษาศาลในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร 
    เช่น ศาลตัดสินลงโทษจำคุกหรือปรับ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม เช่น หลบหนีไป บุคคลผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิไม่ให้มาฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้อีก เพราะกฎหมายไม่ควรให้สิทธิผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิการฟ้องคดีอาญาดังกล่าว ไม่รวมถึงกรณีการไปดำเนินคดีผ่านช่องทางตำรวจและอัยการ 
    นายสุรสิทธิ์ แสงวิโรจน์พัฒน์ เลขานุการ กมธ. ฐานะตัวแทนศาลยุติธรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า สำหรับพฤติกรรมที่หมายถึงการฟ้องคดีไม่สุจริต ซึ่งได้เพิ่มเติมขึ้นใหม่ ในส่วนของผู้ที่ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งหมายถึงการไม่ยอมรับคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้น จะหมายถึงการหลบหนีการรับโทษตามคำพิพากษาทั้งคำตัดสินให้จำคุก หรือชำระค่าปรับ 
    "แต่กรณีดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิ์หรือตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะดำเนินคดีอาญากับโจทก์ที่ถูกตัดสิทธิ์ฟ้องร้องคดี กรณีที่คดีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" นายสุรสิทธิ์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม สนช. ได้ซักถามถึงกรณีการใช้สิทธิฟ้องร้องโดยไม่สุจริต ตามที่เคยมีกรณีที่ผู้เสียหายนำคดีเดียวกันไปฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมในหลายจังหวัด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนกับผู้ที่ถูกฟ้องร้อง 
    นายสุรสิทธิ์ชี้แจงว่า ตนเข้าใจว่าฟ้องไม่ได้ เพราะทำให้เกิดกรณีรังแกจำเลย
    ด้านนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องคดีพร่ำเพรื่อกลั่นแกล้ง ทั้งที่ผู้ฟ้องบางคนก็ไม่ทำตามกฎหมาย ดังนั้นบุคคลใดที่ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ก็ย่อมไม่ได้สิทธิได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกันเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
    นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจคือ มาตรา 4 ซึ่งเพิ่มเติมวรรคสามของมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ให้อำนาจเจ้าพนักงานศาลสามารถจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว กรณีที่มีเหตุจำเป็น โดยไม่ต้องรอตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองดำเนินการ ซึ่งปรับเนื้อหาให้ทันกับการใช้เทคโนโลยีติดตามตัวผู้ที่ถูกศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ สนช.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 149 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เตรียมประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต่อไป
    ที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการจะออกกฎหมายอะไร และหวังผลต่อบุคคลเป็นการเฉพาะต้องคำนึงว่าจะส่งผลเสียหายต่อระบบยุติธรรมโดยรวมอย่างไร ซึ่งอาจจะกระทบกับคนอีกมากมายที่เขาไม่สามารถสู้คดีด้วยเหตุจำเป็นอีกนานาประการ ซึ่งคนเหล่านี้เขาจะเสียสิทธิไปอีก ดังนั้นการจะทำอะไรไปกระทบบุคคลโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวมได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศนี้มามากแล้ว
    วันเดียวกัน เฟซบุ๊กกรุงเทพ กรุงเทพ ที่สนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความหลัง สนช.ผ่านกฎหมายตัดสิทธิ์คนหนีคดีฟ้องคดีอาญาต่อศาล ระบุว่า ที่ผ่านมาให้ความยุติธรรมจริงหรือ? คนในตระกูลชินวัตร ได้รับความยุติธรรมจริงหรือเปล่า?
    คนส่วนใหญ่มองว่าในประเทศนี้ กติกาไม่เป็นกติกา กฎหมายไม่เป็นกฎหมายคนที่ทำหน้าที่ที่ควรให้ความยุติธรรมกลับไม่ยุติธรรม
    นอกจากจะไม่คืนความยุติธรรมให้เขาแล้ว ยังให้ใครก็ได้รังแกเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก ประเทศนี้ไม่คำนึงถึงความหมายของสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกัน ในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยฝ่ายที่โดนกระทำ จะไม่มีสิทธิ์ ที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมอีกเลย "ตลอดชีวิต"
    ประเทศกูมี กฎหมายมัดมือชก ให้ใครก็ได้เล่นงานคนได้ข้างเดียว ห้ามร้อง ห้ามขอความเป็นธรรม คนที่ยกมือผ่านร่างกฎหมายนี่ เป็นมนุษย์พันธุ์ไหน?
    ทางด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  "วันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ได้ลงมติในวาระสองและวาระสาม แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องสิทธิในการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหาย ในกรณีที่ผู้เสียหายจะฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองคือ
    ผู้ที่หลบหนีการลงโทษตามคำพิพากษาของศาล ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องผู้อื่นเป็นคดีต่อศาลได้
    เรื่องนี้ผมเคยเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
    เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่หลบหนีการลงโทษตามคำพิพากษาของศาล แสดงว่าบุคคลนั้นไม่ยอมรับอำนาจของศาล เมื่อตนเองไม่ยอมรับอำนาจของศาล ก็ไม่ควรให้สิทธิบุคคลนั้นฟ้องบุคคลอื่นต่อศาลเช่นเดียวกัน
    คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่ สนช.ได้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมแล้ว
    บุคคลที่หลบหนีการลงโทษตามคำพิพากษาตามคำพิพากษาของศาลไม่ได้มีเฉพาะนายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้ที่หลบการลงโทษตามคำพิพากษาของศาลไม่น้อย โดยเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ไม่เป็นข่าวในหน้าสื่อสารมวลชนเท่านั้น
    อนึ่งกฎหมายที่ สนช.แก้ไขในวันนี้คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่ประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอาญา ดังที่สื่อมวลชนบางแห่งเสนอข่าว
    ประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอาญา คือบทบัญญัติที่ว่าด้วยการกระทำผิด และมีโทษเพียงใด เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 395 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 389 มีโทษประหารชีวิต เป็นต้น
    ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา คือบทบทบัญญัติที่ว่าด้วยการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา เริ่มตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ และในชั้นศาล ว่าจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้ได้ผู้ที่กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามที่กฎหมายที่มีโทษทางอาญาบัญญัติไว้".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"