ในสายตาของหลายคนมองพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยม มีแต่ลูกท่านหลานเธอเข้ามาเล่นการเมือง แตกต่างจากพรรคอื่นๆ ที่ถูกมองว่าเปิดกว้างให้ลูกชาวบ้านทั่วไปได้มีโอกาสมากกว่า ซึ่ง “พรหม” พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ 1 ใน 21 New Dem กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นบุตรชายของ “พนิช วิกิตเศรษฐ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถามกรณีดังกล่าวไว้ว่า ตอนที่ตนเข้ามาพรรคใหม่ๆ ผู้เป็นบิดาก็ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในพรรค แต่ก็ยอมรับว่าทุกคนมองว่าตนเป็นลูกของนายพนิช ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ตนเปลี่ยนไม่ได้ และเห็นว่าการเป็นลูกจะยิ่งทำให้ต้องทำงานยากขึ้น เพราะคนมองว่าเป็นเด็กเส้น ซึ่งเราต้องทำงานพิสูจน์หนักกว่าคนอื่น เพื่อยืนยันว่าเราไม่ใช่เด็กเส้นหรือมีพ่อคอยช่วยเหลือ
“วิธีที่พ่อคุยกับผมในพรรคไม่เหมือนคุยที่บ้าน พ่อเห็นผมเป็นลูกพรรคคนหนึ่ง พ่อมีความเป็นมืออาชีพในพรรค แยกแยะออก เราเข้ามาในพรรคชัดเจนว่าแยกกันทำงาน ไม่จำเป็นต้องคุยกับพ่อในทุกเรื่อง ชัดเจนว่าในเชิงนโยบายไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง พ่อดูนโยบายเศรษฐกิจ ผมชัดเจนว่าเข้ามาช่วยนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ดูเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม เราชัดเจนนามสกุลเดียวกัน แต่ทำงานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
ก่อนเป็นนักการเมืองทำอะไรบ้าง
ระหว่างที่เรียน ช่วงปิดเทอมเคยมีโอกาสได้ช่วยบิดาหาเสียงทั้งช่วงการเลือกตั้งซ่อม ตอนปี 2553 ซึ่งเราแยกกันหาเสียง ตนได้รับมอบหมายให้ปราศรัยตามโรงเรียน และตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 ไปกับ ส.ก.อีก 2 คน โดยจะเจอกับพ่อตอนเย็นเพื่อประชุมหารือถึงแนวทางการหาเสียง ซึ่งถือว่าได้ประสบการณ์เต็มๆ
นอกจากนี้ “พรหม” เล่าว่า รู้ตัวเองว่าชอบการเมืองตั้งแต่อายุ 15 ปี เพราะระบบการศึกษาอังกฤษให้เลือกเรียนวิชาที่ชอบ อย่างไรก็ตาม ตอนแรกสนใจประวัติศาสตร์ของอังกฤษและอเมริกา แต่ก็มาคิดได้ว่าจะสนใจแต่ต่างประเทศโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้ จึงหันมาศึกษาและติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด
“หลังจบปริญญาตรี อยากทำงานการเมืองที่อเมริกามาก ผมไม่รู้ว่าจะไปสมัครกับใคร ผมก็เข้าไปในเว็บไซต์ของสภาคองเกรส ซึ่งในสภาของอเมริกาจะมีชมรม ซึ่ง ส.ส.คนดังกล่าวที่ผมได้ทำงานกับเขาอยู่ในชมรมที่เกี่ยวกับประเทศไทย กว่าจะได้งานก็ต้องสัมภาษณ์ผ่านสไกด์ถึง 3 ครั้ง เป็นการสมัครด้วยตัวเอง ถึงแม้จะมีพ่อเป็นนักการเมืองที่ไทย แต่ไม่ได้มีคอนเน็กชั่นที่โน้น สุดท้ายได้ทำงาน 1 ปี เป็นผู้ช่วย ส.ส. และระหว่างนั้นก็ตัดสินใจเรียนปริญญาโทต่อ เพราะรู้ดีว่าจะเป็นนักการเมืองต้องเรียนรัฐศาสตร์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ควรเจาะให้ลึกอีกหนึ่งด้าน”
ในฐานะคนรุ่นใหม่อยากเห็นการเมืองไทยเป็นอย่างไร
ตนเติบโตมาในยุคที่ประเทศเกิดความขัดแย้งรุนแรง ในฐานะที่สนใจการเมืองแต่เด็กก็อยากให้การเมืองก้าวข้ามเรื่องความขัดแย้ง แล้วหันมาถกเถียงกันเฉพาะเรื่องนโยบายการบริหารประเทศเพื่อบ้านเมืองเป็นหลัก อยากให้ประเทศไทยเหมือนกับต่างประเทศที่ทะเลาะในเชิงอุดมการณ์การเมือง ถกเถียงนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะการเมืองต้องเถียงกันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทะเลาะกันเรื่องยกมือให้ใครหรือจับมือกับใครเพื่อตั้งรัฐบาล
นักการเมืองคือการประกอบอาชีพอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การเข้ามาชั่วคราวแล้วออกไป แต่เป็นอาชีพหนึ่งเหมือนกับแพทย์หรือครู โดยตัวชี้วัดของนักการเมืองคือประชาชนมีความสุข ได้อะไรจากการที่มีเราเป็น ส.ส. ถ้าไม่ทำประโยชน์ให้ก็ถูกคัดออก แต่ถ้าได้ประชาชนก็จะโหวตให้เรากลับมา ซึ่งเรื่องนี้สำคัญ และตนก็ขออาสาเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะพลิกโฉมนักการเมืองให้หันหน้าคุยเรื่องทิศทางในการพัฒนาประเทศมากกว่าการมานั่งทะเลาะกัน
อะไรคือแรงบันดาลใจให้สนใจการเมือง
สาเหตุหนึ่งคือเพราะเห็นความสำคัญของการเป็นนักการเมือง และอีกอย่างหนึ่ง คือ สมัยเรียนที่ประเทศอังกฤษได้เห็นแบบอย่างที่ดีของประเทศเขา ก็เกิดความคิดว่าอยากนำสิ่งเหล่านี้กลับมาประยุกต์ใช้กับประเทศของเรา ยกตัวอย่างเช่น การกระจายอำนาจ บ้านเราความเจริญยังกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่ายังเป็นศูนย์รวมประเทศไทยเกินไป แต่ถ้าเป็นประเทศอังกฤษ นอกรอบของเมืองหลวง ประชาชนก็สามารถเรียนโรงเรียนที่ดีใกล้บ้าน หาหมอที่ดีใกล้บ้าน ทำงานใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามายังกรุงลอนดอนซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขา อันนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่ง ที่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้น ประชาชนสามารถอยู่ต่างจังหวัดโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
แผนที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ การกระจายอำนาจ เช่น ด้านการปกครอง ต้องให้ประชาชนในจังหวัดนั้นเป็นคนเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตัวเอง เพราะถ้าเป็นแบบระบบเดิมเราอาจได้ผู้ว่าฯ ที่ไม่ชำนาญในพื้นที่ และกรุงเทพฯ ยังเป็นศูนย์รวมในการส่งผู้ว่าฯ ไปประจำตามจังหวัดต่างๆ ด้านการศึกษาก็ต้องตั้งหลักสูตรให้สอดคล้องกับพื้นที่ ไม่ใช่หลักสูตรมาจากส่วนกลาง ส่วนระบบสาธารณสุข ต้องบอกว่าประเทศไทยดีกว่าหลายประเทศ เรายังเข้าถึงการรักษาของภาครัฐได้ แต่ปัญหาของเราก็ยังมีตรงที่โรงพยาบาลมีจำนวนไม่พอรองรับผู้ป่วย แพทย์ขาดแคลน ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน การที่จะแก้ไขต้องเริ่มจากท้องถิ่น เช่น มีระบบกรองระหว่างประชาชนกับโรงพยาบาล มีแพทย์ หรือ อสม.ไปประจำตามพื้นที่ในชุมชนเพื่อรักษาโรคเบื้องต้น เช่น ไข้หวัด ซึ่งหากอาการยังไม่หายจึงค่อยส่งตัวไปโรงพยาบาล
อยากเข้ามาแก้ปัญหาด้านใด
ตั้งใจจะเข้ามาแก้ปัญหาพลาสติก โดยการเก็บค่าถุงพลาสติก ซึ่งในระยะสั้นจะเริ่มเก็บในร้านขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเกิน 250 คน โดยต้องเก็บภาษีถุงพลาสติกจากลูกค้า ส่วนร้านเล็กยังไม่จำเป็นต้องเข้าโครงการ แต่ถ้าจะเข้าจะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งเงินเก็บได้จะเข้าสู่กองทุนพลาสติก เพื่อใช้ทุนดังกล่าวช่วยผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทน เช่น ถุงไบโอ กล่องชานอ้อยที่ใช้แทนถ้วยโฟม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกราคายังแพง เช่น ชามโฟม 1 บาท แต่กล่องชานอ้อย 3 บาท ซึ่งเราจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนกล่องชานอ้อยให้ถูกเท่ากัน หรือน้อยกว่าชามโฟม ส่วนขวดพลาสติก ต้องทำลักษณะว่าคืนขวดแล้วได้เงินกลับคืน เราก็จะสามารถนำขวดไปรีไซเคิลได้ โดยรูปแบบอาจมีร้านธงเขียวที่รับซื้อขวดพลาสติก และจ่ายเป็นคูปองแลกเงินสดให้กับประชาชน.
พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ หรือพรหม ปัจจุบันอายุ 26 ปี เกิดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2535 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ จากประเทศอังกฤษ และจบปริญญาโทด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จากประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบการณ์ทำงาน ผู้ช่วย ส.ส.สหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ดูแลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |