อายุที่มากขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อมตามสภาพ แต่ถ้าหากผู้สูงวัยเรียนรู้เตรียมพร้อมป้องกันหรือรับมือความเสื่อม และรู้จักซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อาการต่างๆ ก็จะชะลอหรือเราสามารถใช้งานได้ยาวกว่าปกติ ที่สำคัญมีคุณภาพด้วย
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีการดำเนินงาน ตลอดจนแผนงาน โครงการที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขและมีคุณค่า โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 ที่สายตาไม่ดี การมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดภาวะสายตาเลือนรางหรืออาจตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก
โรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ คือ โรคต้อกระจก โรคต้อหิน จุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา และภาวะสายตายาวสูงอายุ นอกจากนี้ยังมีโรคตาอีกหลายโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ระวัง ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบความผิดปกติในระยะแรกจะสามารถรักษาและป้องกันหรือชะลอความเสื่อมได้ นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพของตนเอง สวมแว่นกันแดดเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสายตา เช่น ผัก ผลไม้ สีเขียว สีเหลือง และไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุที่มารับการรักษาโรคตาที่โรงพยาบาลเมตตาฯ มากเป็นอันดับต้นๆ คือ 1.โรคต้อกระจก 2.ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา 3.โรคต้อหิน ซึ่งโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุดและเป็นเมื่ออายุมากขึ้น คือ 1.ต้อกระจก เกิดจากความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาธรรมชาติ จากสาเหตุส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอตาประสาทด้านในลูกตาได้น้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจตาบอดได้ วิธีการรักษาคือการผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่
2.ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา สาเหตุจากโรคเบาหวานทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดฝอย ส่งผลให้ขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงจอตา และกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่อย่างผิดปกติที่จอประสาทตา ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นสภาพปกติได้ การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมุ่งหวังให้โรคไม่ลุกลามไปจากระยะที่เป็นอยู่ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งดูแลโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ไขมันในเลือดสูงอย่างเหมาะสม และผู้ป่วยเบาหวานทุกคนต้องตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง
3.ต้อหิน เป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร โดยที่ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัวเกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนมีการทำลายประสาทตา ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวที่เป็นต้อหิน อายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น โรคนี้มักไม่มีอาการ จะเริ่มสูญเสียลานสายตา คือการมองเห็นจำกัดวงแคบลงเรื่อยๆ และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร อาจมีต้อหินบางประเภท เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลันที่มีอาการปวดมาก ตามัวลงและตาแดง ถือเป็นภาวะเร่งด่วนมาก ต้องมาพบจักษุแพทย์ทันที สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องมาตรวจติดตามอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
4.จุดภาพชัดจอตาเสื่อม เกิดจากภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดที่อยู่ส่วนกลางของจอตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางของภาพมัวลง โดยที่บริเวณรอบข้างยังเห็นได้ปกติ ปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะสูงวัย แสงรังสี UV สูบบุหรี่ และความดันโลหิตสูง ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ เมื่อจอตาเสื่อมมากขึ้นจะมีอาการตามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นจุดดำตรงกลางภาพ และสูญเสียการมองเห็นตรงกลางภาพโดยไม่มีอาการปวด
5.ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน ผู้ป่วยจะอ่านหรือเขียนหนังสือ ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้ไม่ชัดเจน แต่มองไกลได้ปกติ บางคนมีอาการตาพร่า หรือปวดตา มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความสามารถและระยะในการเพ่งปรับสายตาลดลง เลนส์แก้วตาแข็งตัวขึ้น และการทำงานของกล้ามเนื้อตาลดลง สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นสายตา แต่ควรมาตรวจกับจักษุแพทย์ให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติของโรคตาอื่นๆ ร่วมด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |