4ธ.ค.61 -นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)กล่าวว่า คณะกรรมการของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มี 2 บอร์ด คือ บอร์ดนโยบาย มีการลาออกไป 5 คน และบอร์ดบริหารมีการลาออก 3 คน ภายหลังมีประเด็นการยื่นทรัพย์สินตามประกาศของ ป.ป.ช. ซึ่งการลาออกไม่ใช่เพราะกลัวว่าจะถูกตรวจสอบแต่เนื่องมาจากการที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นภาระมากเกินไป เพราะการที่มาเป็นกรรมการส่วนใหญ่ก็มาด้วยจิตอาสาไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์ ตนก็ไม่สามารถห้ามหรือยับยั้งได้ ต้องแล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละท่าน
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ภายหลังที่ ป.ป.ช.บอกว่าจะมีการทบทวนก็ต้องมาดูว่า จะทบทวนเปลี่ยนแปลงไปทางไหน อย่างไร ก่อนจะพูดคุยกับคณะกรรมการที่ลาออกว่าจะเปลี่ยนใจหรือไม่หากสถานการณ์คลี่คลายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการที่เหลือก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะมีการลาออกเพิ่ม ต่างรอดูท่าทีของ ป.ป.ช.ก่อน เพราะเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2561 ทาง สช.ได้เชิญเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. มาชี้แจงต่างๆและเปิดให้มีการซักถามก็มีคณะกรรมการจากบอร์ดอื่นมาร่วมรับฟังด้วย
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการบริหารรพ.บ้านแพ้ว(บอร์ดรพ.บ้านแพ้ว) และกรรมการวัคซีนแห่งชาติ(บอร์ดวัคซีน) กล่าวว่า รพ.บ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชน ตามประกาศของป.ป.ช. คณะกรรมการบริหารรพ.บ้านแพ้วจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหาบอร์ดชุดใหม่แทนบอร์ดชุดเดิมที่หมดวาระเมื่อเดือนพ.ย.2561 แต่บอร์ดชุดเดิมที่ต้องรักษาการไปจนกว่าจะได้บอร์ดชุดใหม่จะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย ส่งผลให้บอร์ดรพ.บ้านแพ้วในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3-4 คนจาก 7 คนแสดงความจำนงในการลาออกเพราะไม่ต้องการที่จะยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ป.ป.ช.มีการขยายเวลาการดำเนินการเรื่องนี้ออกไปก่อน จึงได้มีการระงับการขอลาออกดังกล่าวไว้ อาจเนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงรักษาการและอาจจะได้บอร์ดชุดใหม่ก่อนระยะเวลาที่ป.ป.ช.ขยายเวลาออกไป ในส่วนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ(บอร์ดวัคซีน)ยังไม่มีกรรมการท่านใดแสดงความประสงค์ที่จะลาออกแต่อย่างใด
ด้านแหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประกาศของป.ป.ช.เป็นเรื่องที่มีเจตนาที่ดี ซึ่งตามหลักกฎหมายจำเป็นที่จะต้องป้องกันการคอรัปชั่นแต่เป็นการดำเนินการที่ผิดสัดส่วน โดยก่อนที่ป.ป.ช.จะออกประกาศเช่นนี้ ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับองค์กรต่างๆก่อน ไม่ใช่ออกมาแบบเหมาเข่ง จากนั้นจึงกำหนดความจำเป็นในการแสดงบัญชีทรัพย์สินให้เหมาะสมตามสัดส่วน โดยองค์กรที่มีอำนาจมาก หรือมีงบประมาณมากควรให้ทั้งแสดงบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะอาจจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการคอรัปชั่นได้มาก ส่วนองค์กรที่มีอำนาจน้อยและมีงบประมาณไม่มีอาจกำหนดเพียงให้แสดงบัญชีทรัพย์สินแต่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ และเมื่อกำหนดหลักเกณฑ์แล้วก็ควรต้องใช้เวลาเพื่อให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นบอร์ดองค์กรต่างๆมีเวลาในการคิดและตัดสินเลือกเองว่าจะยังต้องการเข้ามาเป็นบอร์ดอยู่หรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กรณีขององค์กรต่างๆด้านสุขภาพและสาธารณสุข เช่น รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ได้รับประมาณสนับสนุนจากรัฐน้อยกว่ารพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎ หรือรพ.มหาราชนครราชสีมากถึง 10 เท่า แต่ต้องโชว์บัญชีทรัพย์สินแต่รพ.อื่นๆไม่ต้องโชว์ หรือกรณีร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ บอร์ดก็ต้องแสดงทรัพย์สิน ขณะที่ร.ร.อื่นๆอีกมากไม่ต้องแสดง หรือสวรส.และสรพ.ที่ได้รับงบประมาณปีละราว 40-50 ล้านบาท ลำพังมาใช้เป็นค่าตอบแทนบุคลากรก็แทบจะไม่เหลือแล้ว และบอร์ดก็ได้รับเพียงเบี้ยประชุมเดือนละ6,000-12,000 บาทไม่มีเงินเดือนหรือเงินอื่น ก็น่าจะกำหนดเฉพาะให้แสดงบัญชีทรัพย์สินแต่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะก็เพียงพอแล้ว ขณะที่สปสช.ที่มีงบประมาณหลักแสนล้านบาท แต่แท้จริงก็เป็นเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขและจัดสรรให้รพ.เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็กำหนดการแสดงบัญชีทรัพย์สินให้เหมาะสม