4 ธ.ค.61- นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล วิจารณ์คสช.ในหัวข้อ รัฐประหาร 2 ธันวาคม 1851 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
หลุยส์ นโปเลียน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1848
ระบอบสาธารณรัฐที่ 2 สร้างความหวังให้แก่ผู้นิยมสาธารณรัฐและเสรีภาพ แต่แล้ว เพียง 3 ปี หลุยส์ นโปเลียน ก็ก่อรัฐประหาร ล้มระบอบสาธารณรัฐที่ 2 ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ เปลี่ยนให้ฝรั่งเศสกลายเป็นจักรวรรดิที่ 2
มูลเหตุเริ่มมาจาก รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 2 กลัวว่าจะมีคนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปยาวๆ จึงกำหนดให้เป็นได้เพียงวาระเดียว 3 ปี เมื่อใกล้จะครบวาระ หลุยส์ นโปเลียน หาทางแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่สำเร็จ
สุดท้าย เขาจึงเลือกวิธี "รัฐประหาร"
เขาประกาศกฎอัยการศึก ออกมาตรการจำกัดเสรีภาพมากมาย คุมสื่อ ห้ามชุมนุม จากนั้น ก็แก้ไขกติการการเลือกตั้ง ขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปให้ฐานเสียของเขา
จากนั้น ก็จัด "ประชามติ" ปลอม ใช้กลไกรัฐเข้าช่วย สร้างความชอบธรรมให้ตนเองว่า คนฝรั่งเศสเห็นด้วยให้เขาเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพ เห็นด้วยให้ยกเลิกสาธารณรัฐที่ 2 และเริ่มต้นจักรวรรดิที่ 2 โดยให้เขาเป็นจักรพรรดิในชื่อ นโปเลียนที่ 3 ในวันที่ 2 ธันวาคม 1851
รัฐประหาร 2 ธันวาคม 1851 คือการฉายหนังซ้ำม้วนเดียวกันกับรัฐประหาร 18 Brumaire
ทำนองเดียวกันกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือ รัฐประหาร “ซ่อม” จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
รัฐประหาร 2 ธันวาคม 1851 ได้แรงสนับสนุนจากประชาชนฝรั่งเศสที่ “อ่อนล้า” กับความขัดแย้งทางความคิดของ 3 ระบอบ ที่สะสมมาตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส
ทำนองเดียวกันกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยข้ออ้างความขัดแย้งทางการเมืองตลอดทศวรรษ
รัฐธรรมนูญจักรวรรดิที่ 2 ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งด้วย
โดยมีสองแบบ ได้แก่
แบบแรก ประชามติแบบ Plebiscite จักรพรรดิเรียกให้ทำประชามติได้ทุกเรื่องทุกเวลา ซึ่งหลุยส์ นโปเลียน เอามาใช้สร้างความชอบธรรมให้ตนเองเสมอ
แบบที่สอง คือ การเลือกตั้ง ส.ส.
นโปเลียนที่ 3 ปกครองแบบ "Démocratie césarienne" คือ ตนเองเป็นผู้เผด็จการ แล้วใช้เทคนิควิธี "การเลือกตั้ง" มาฉาบหน้าสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง
กฎหมายการเลือกตั้งจึงเป็น "เครื่องมือ" สำคัญในการก่อรูปของระบอบนี้ จะออกแบบกติกาอย่างไรให้ นโปเลียนที่ 3 ไม่มีวันแพ้เลือกตั้ง
ตั้งแต่ ขยายคนมีสิทธิเลือกตั้งไปที่ฐานเสียงของตนเอง แบ่งเขตเลือกตั้งให้ตนเองได้เปรียบ ใช้กลไกรัฐเข้าช่วย ออกแบบบัตรเลือกตั้งพิสดาร ชี้นำประชาชนให้เลือกพวกของนโปเลียนที่ 3 เท่านั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการระดมเสียงให้ โดยถือว่านี่คือภารกิจของชาติ
ทั้งหมดนี้มาในนามของ "กฎหมาย"
ดังนั้น คะแนนเสียงของนโปเลียนที่ 3 ในช่วงสิบปีแรกจึงมากมายมหาศาล ชนะขาดตลอด ขณะที่ฝ่ายต่อต้าน ก็ใช้วิธีบอยคอต
การล้มสาธารณรัฐที่ 2 คือ รัฐประหาร
ส่วนรัฐธรรมนูญ 1851 คือ รัฐประหารถาวร หรือ Coup d'Etat en Permanence
นั่นคือ เมื่อรัฐประหารล้มระบอบลง จะทำอย่างไรให้ระบอบเผด็จการที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นั้นมีความสถาพรนิรันดรและชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล เช่นกัน
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือ รัฐประหาร ส่วนรัฐธรรมนูญ 57 และ 60 คือ รัฐประหารถาวร
เพราะ ได้ติดตั้งเอาระบอบรัฐประหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญ และปิดประตูล็อคตายไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ
การออกจากรัฐประหารถาวรนี้ได้ จำเป็นต้องสร้าง “ประชาชน” ให้กลับมาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
การเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 คือ ก้าวแรกของกระบวนการนี้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ “ชูธง” แก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่
ขอยืนยันว่าวันแรกหลังการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่จะเดินหน้ารณรงค์ทุกช่องทางและใช้ทุกโอกาสเพื่อทลายล็อคตาย แก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ “ประชาชน” กลับมาเป็นผู้ทรงอำนาจในการทำรัฐธรรมนูญใหม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |