บอร์ดสุขภาพลาออกเพียบ หนีแจงบัญชีทรัพย์สินปปช.


เพิ่มเพื่อน    

    หนีแจงบัญชีทรัพย์สินกันจ้าละหวั่น บอร์ดองค์กรด้านสุขภาพทยอยลาออกเพียบ "หมอปิยะสกล" ขอให้รอความชัดเจนจาก ป.ป.ช.ก่อน ขณะที่บอร์ด สปสช.เลือก 4 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน กก.ที่ลาออกแล้ว "นิมิตร์" ตั้งคำถามทำไมไม่พร้อมเปิดเผย ด้าน ป.ป.ช.ยันประกาศชัดเจนแล้วยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติม ส่วนบอร์ด สปสช.ลาออกเป็นสิทธิส่วนตัว
    เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ มีการประชุมคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาสรรหากรรมการแทนผู้ที่ลาออก 
    โดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวภายหลังว่า สำหรับการพิจารณาเลือกกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิแทน 4 ท่านที่ลาออกไปนั้น ประกอบด้วย 1.นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข เป็นกรรมการ สปสช.สัดส่วนด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเคยเป็นปลัดกระทรวง และเคยเป็นกรรมการในบอร์ดสปสช. 2.พลเอก นพ.เอกจิต ช่างหล่อ กรรมการ สปสช.สัดส่วนด้านแพทย์ทางเลือก โดยเป็นผู้รู้ด้านแพทย์ทางเลือก 3.นางดวงตา ตัณโช กรรมการ สปสช. สัดส่วนด้านการเงินการคลัง ซึ่งเคยเป็นกรรมการ สปสช.ปีที่ผ่านมา และ 4.นางสมศรี วัฒนไพศาล กรรมการสัดส่วนด้านกฎหมาย ซึ่งก็มีความรู้ด้านกฎหมาย และเป็นรองอัยการ 
    ส่วนที่มีลาออกเพิ่มเติม คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.นั้น ได้มีการหารือกันแล้วโดยได้ส่งผู้แทนจาก กทม. คือ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม.มาแทน ส่วนสภาเภสัชกรรมก็ส่งผู้แทนมาใหม่แล้วเช่นกัน คือ ภญ.วรนัดดา ศรีสุพรรณ
      ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวบอร์ดอื่นๆ ทยอยลาออกด้วย ทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.), สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ทราบเบื้องต้นว่ามีการลาออก แต่ยังไม่เห็นหนังสือรายงานเข้ามาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามคิดว่าทุกคนกำลังรอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนประกาศอย่างไร จะให้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะชัดเจนภายในเดือนนี้ หากใครยังลังเลอยู่ขอให้รอความชัดเจนตรงนี้ก่อน
    เมื่อถามว่าล่าสุดเหมือนบอร์ดสถาบันรองรับคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จะลาออกยกชุด ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่าตนยังไม่เห็นรายงานเข้ามา
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าบอร์ดในแวดวงสาธารณสุขเริ่มมีกรรมการยื่นหนังสือขอลาออกบ้างแล้ว อย่างที่ทราบบอร์ด สปสช.มีรวม 6 คน ขณะที่บอร์ด สรพ.มีข่าวว่าจะลาออกยกชุด แต่ยังไม่มีความชัดเจน เบื้องต้นมี 3 คนที่ยื่นหนังสือลาออกแล้ว ได้แก่ 1.นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย 2.น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์  อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนบอร์ด สพฉ.มีข่าวว่ายื่นลาออก 3 คน คือ นายสุเทพ ณัฐกานต์กนก ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ส่วนอีก 2 คนยังไม่ยืนยันว่ายื่นหนังสือลาออกแล้วหรือยัง คือ นายมนัส แจ่มเวหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน และ นพ.สุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย ขณะที่บอร์ด สวรส.มีผู้แสดงความประสงค์แต่ยังไม่ยื่นหนังสือ 2 คน
      วันเดียวกัน นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล  (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.กล่าวว่า บอร์ดของ สรพ.มีกรรมการทรงคุณวุฒิทั้งหมด 8 คน ล่าสุดยื่นขอลาออกถึง 3 คน ซึ่งทั้งหมดยื่นหนังสือลาออกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดังนั้นขณะนี้ต้องให้บอร์ดที่เหลืออีก 5 คนทำการสรรหากรรมการใหม่ 3 คน แต่จากการที่ นพ.สุรเชษฐ์ซึ่งเป็นประธานบอร์ดได้ลาออกด้วย ทำให้ต้องตั้งกรรมการ 1 ใน 5 คนมาเป็นรักษาการแทนไปก่อน แต่เบื้องต้นคาดว่าไม่กระทบกับการทำงานมากนัก แต่จะมีผลทำให้การพิจารณาเรื่องต่างๆ มีความล่าช้าลง เพราะบอร์ดชุดนี้ก็เพิ่งทำการแต่งตั้ง เชื่อว่าไม่น่ามีผลกระทบต่อการพิจารณาโบนัส เพราะกรรมการที่เหลือสามารถพิจารณาได้ และขณะนี้ได้ส่งหนังสือรายงานไปให้ รมว.สธ.แล้ว
    นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากบอร์ด สรพ.แล้ว ทั้งนี้ตนไม่ได้คัดค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สินเพราะถือเป็นการป้องกันการทุจริตได้ แต่คิดว่าไม่ควรมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะอาจเป็นการกระทบต่อบุคคลที่สามหรือไม่ ที่สำคัญมองว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินและมีการเปิดเผย กับการที่ตนมานั่งทำงานเป็นบอร์ดให้ สรพ.ซึ่งเป็นองค์การมหาชน งบประมาณไม่ได้มากมาย และการตัดสินใจพิจารณาเรื่องต่างๆ ก็เป็นองค์คณะ ไม่ใช่รายบุคคล ซึ่งตนก็ไม่ใช่มาทำงานการเมือง 
    นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้บอร์ดของ สวรส.มีการแจ้งความประสงค์ว่าจะยื่นเรื่องลาออกจำนวน 2 คน แต่ก็ยังไม่มีการยื่นหนังสือมาอย่างชัดเจน เพราะเชื่อว่ายังรอความชัดเจนจาก ป.ป.ช.ก่อน
    นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการบอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ในแง่ของการแสดงบัญชีทรัพย์สินภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่มีความเหมาะสมเพื่อใช้ในการควบคุม กำกับดูแลบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐที่มีส่วนในการจัดการการเงินของประเทศ แต่ทั้งนี้การที่บอร์ด สปสช.ได้ลาออกไปนั้น ไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรเพราะไม่ได้มีการเปิดเผย แต่หากมีเหตุผลว่าไม่พร้อมที่จะเปิดเผย ก็เป็นสิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการทำงานที่ผ่านมา ทำไมถึงไม่พร้อม 
    "ซึ่งก็สามารถมองได้เป็น 2 ประเด็น คือ 1.แบบฟอร์มที่ให้กรอกอาจมีความยุ่งยาก หากกรอกผิดอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง เช่นอาจจะมีโทษต่างๆ ตามมา ดังนั้นต้องมีความชัดเจนว่าส่วนไหนต้องยื่น ส่วนไหนไม่ต้อง เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้แสดงบัญชีทรัพย์สินสามารถมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาภายหลัง หรือ 2.การที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทำให้กระทบชีวิตส่วนตัวมากเกินไปหรือไม่ ทั้งคู่สมรสและตัวกรรมการเอง อย่างไรก็ตามคิดว่าไม่ได้กระทบกับระบบบริการ เพราะระบบไม่ได้ขับเคลื่อนไปด้วยบุคคล แต่สามารถเดินหน้าไปด้วยด้วยตัวระบบเอง" นายนิมิตร์กล่าว 
    ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีการลาออกจากบอร์ด สปสช. สืบเนื่องจากประเด็นการยื่นทรัพย์สินตามประกาศของ ป.ป.ช. ว่า ขณะนี้ในส่วนของ ป.ป.ช.เองยังไม่มีมาตรการหรือคำสั่งเพิ่มเติมในการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปอีกครั้ง มีแต่เพียงคำสั่งเดิมเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไป 60 วันในกลุ่มที่กำหนดไว้ ส่วนจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่นั้นยืนยันขณะนี้ยังไม่มีแน่นอน เพราะที่ผ่านมาก็ได้มีการประกาศชัดเจนแล้ว ส่วนกรณีที่มีการลาออกของบอร์ด สปสช. ถือเป็นสิทธิของเจ้าตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการประกาศแล้วว่าอย่าเพิ่งลาออก รอให้พิจารณาทบกวนก่อนจะมีการบังคับใช้เสียก่อน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"