หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule หรือ divide and conquer) คือการทำให้ศัตรูอ่อนแอด้วยการบั่นทอนความสามัคคี ให้ต่อสู้กันเอง เพื่อเจ้าของยุทธศาสตร์จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าไปปกครองยึดครอง
เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เรื่อยมา ในสมัยอาณานิคมพวกตะวันตกมักใช้แนวทางนี้เพื่อปกครองอาณานิคมที่กว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรมากกว่าทหารที่ส่งไปหลายร้อยหลายพันเท่าตัว
อัสซาดคือตัวแทนของชีอะห์หรือ :
การปกครองของระบอบอัสซาดคืออำนาจนิยมเข้มข้น ใช้แต่คนใกล้ชิด นานวันเข้าคนใกล้ชิดใช้อำนาจโดยไร้การตรวจสอบ ร่วมกันทุจริตคอร์รัปชัน คนที่ใกล้ชิดกับพรรคบาธ (Baath Party) คนของรัฐบาลเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ ประชาชนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นคนที่ถูกรัฐทอดทิ้ง จนถึงจุดหนึ่งมีเหตุจุดประกาย ประชาชนเหล่านี้จึงพร้อมใจกันลุกฮือต่อต้านรัฐบาล เกิดอาหรับสปริงซีเรียเมื่อมีนาคม 2011
จากการชุมนุมประท้วงธรรมดากลายเป็นการใช้ความรุนแรง พร้อมกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างนิกาย เช่น หน่วยลับชีอะห์เข้าสังหารพวกซุนนี เห็นชัดว่าเป็นความพยายามปั่นให้เป็นความขัดแย้งระหว่างซุนนีกับชีอะห์ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ให้สัมภาษณ์ว่ามีผู้จ่ายเงินให้คนประท้วงและเรียกร้องการปฏิวัติ ถ้าแนวทางนี้ไม่สำเร็จจะอ้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อศาสนา
ทั้งนี้เพราะตระกูลอัสซาดเป็นชีอะห์สำนักคิดอาละวี/อัลละวีย์ (Alawite) ที่แตกแขนงออกจากมุสลิมชีอะห์ แต่การที่ตระกูลอัซาดเป็นชีอะห์อาละวีไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีเป้าหมายปฏิวัติอิสลาม ให้กลายเป็นรัฐชีอะห์หรืออาละวีแต่อย่างไร อุดมการณ์ทางการเมืองคือแนวทางของพรรคบาธ ต้องการสร้างโลกอาหรับตามแนวทางฝ่ายโลก ไม่คิดสร้างรัฐอิสลามแต่อย่างไร
เดิมเคิร์ดอยู่ฝ่ายอัสซาด :
ชนชาวเคิร์ด (Kurds) ในซีเรียเป็นชนกลุ่มน้อยใหญ่ที่สุดที่มิใช่เชื้อสายอาหรับ ส่วนใหญ่นับถืออิสลามนิกายซุนนี เป็นพลเมืองซีเรียโดยแท้ อาศัยทางตอนเหนือติดกับพรมแดนตุรกี ในช่วงแห่งความวุ่นวายพวกเคิร์ดที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงต้องปกป้องตัวเอง ความเป็นเขตปกครองตนเองจึงเพิ่มขึ้น
ในช่วงนี้รัฐบาลอัสซาดยังประกาศว่าเคิร์ดเป็นพวกเดียวกับตน
กันยายน 2014 ISIS เปิดฉากโจมตีเคิร์ดหนักหน่วง เดือนต่อมารัฐบาลสหรัฐหย่อนอาวุธ เครื่องกระสุนแก่พวกเคิร์ด พร้อมกับส่งเครื่องบินรบถล่มกองกำลัง ISIS ในแถบนี้อย่างหนัก เป็นช่วงแรกที่รัฐบาลสหรัฐช่วยให้เคิร์ดซีเรีย
ไม่เพียงเท่านั้นกองกำลังเคิร์ดอิรักเดินทางจากประเทศอิรักเข้าโคบานีเพื่อช่วยต้าน ISIS
เคิร์ดอิรักเป็นพันธมิตรสหรัฐตั้งแต่สมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย รัฐบาลบุช (George H. W. Bush) ให้ความคุ้มครองแก่ชนกลุ่มนี้เพื่อแยกพวกเขาจากรัฐบาลซัดดัม เคิร์ดอิรักกับรัฐบาลสหรัฐจึงสัมพันธ์ใกล้ชิด
เคิร์ดอิรักกับเคิร์ดซีเรียเป็นชนเชื้อสายเดียวกัน แต่ไม่ถือเป็นกลุ่มเดียวกันเพราะต่างมีผู้นำของตนเอง มีแนวทางของตนเอง การที่เคิร์ดอิรักเข้าช่วยเคิร์ดซีเรียน่าจะเป็นเพราะการผลักดันจากรัฐบาลสหรัฐ
ในที่สุดผู้ก่อการร้ายถอนตัว เมืองโคบานีปลอดภัย จากนั้นมีข่าวว่ารัฐบาลสหรัฐส่งเสบียงอาวุธแก่เคิร์ดต่อเนื่อง กองกำลังเคิร์ดเติบใหญ่ เข้มแข็งขึ้นทุกวัน
กันยายน 2015 สถานการณ์รบในซีเรียถึงจุดเปลี่ยนเมื่อประธานาธิบดีปูตินประกาศโจมตีกลุ่มผู้ก่อการร้าย ตั้งฐานทัพในซีเรีย ประกาศสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดอย่างเต็มที่
ไม่กี่เดือนต่อมา ISIS อ่อนแรงอย่างชัดเจน กองทัพรัฐบาลอัสซาดเริ่มยึดคืนพื้นที่
เคิร์ดซีเรียอยู่ฝ่ายสหรัฐเต็มตัว :
มีนาคม 2017 สหรัฐส่งนาวิกโยธินหลายร้อยนายพร้อมอาวุธหนักเตรียมโจมตีเมือง Raqqa ในซีเรีย เป็นครั้งแรกที่สหรัฐส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินเต็มตัว จะเห็นว่าเมื่อ IS กำลังพ่ายแพ้ กองทัพอัสซาดเริ่มยึดคืนพื้นที่ สหรัฐรีบส่งหน่วยรบภาคพื้นดินเข้าร่วมรบ ที่สำคัญคือเคิร์ดซีเรียเป็นกองกำลังหลักที่ร่วมรบกับสหรัฐในขณะนี้
ณ จุดนี้ควรกล่าวได้ว่าเคิร์ดซีเรียอยู่ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐแล้ว
แผนแยกเคิร์ดออกจากรัฐบาลอัสซาด :
รัฐบาลสหรัฐอาศัยความปลอดภัยของเคิร์ดซีเรีย ความต้องการเอกราช เป็นเครื่องมือใช้กองกำลังเคิร์ด People’s Protection Units (YPG) ปราบปรามผู้ก่อการร้าย ISIS และกลุ่มอื่นๆ แล้วยึดครองพื้นที่ดังกล่าวให้อยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐ วิธีนี้เป็นประโยชน์เพราะไม่ต้องพะวงว่าทหารอเมริกันจะเสียชีวิต ผู้ไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแทนคือกองทัพเคิร์ด ไม่ต้องกังวลว่าจะชาวอเมริกันจะประท้วง ช่วยประหยัดงบประมาณเพราะการจ้างทหารอเมริกันแพงกว่ามากทั้งค่าแรงกับระบบอาวุธประจำกาย อาวุธที่ส่งให้ทหารเคิร์ดไม่จำต้องเป็นอาวุธดีที่สุด และไม่ใช่เช่นนั้น
สำหรับเคิร์ดแล้ว หากไม่ร่วมมืออาจกลายเป็นภัย กลายเป็นเป้าหมายที่จะถูกกำจัด ไม่ว่าจะโดยผู้ก่อการร้ายหรือต่างชาติ เคิร์ดรู้ดีว่าถูกใช้งานแต่ไม่อาจเลี่ยงได้ จำต้องอยู่ใต้ปีกรัฐบาลอเมริกาไปก่อน ยอมที่จะให้สูญเสียคนบางส่วนเพื่อรักษาคนที่เหลือ
และนี่คือตรรกะที่ฝ่ายยุทธศาสตร์สหรัฐทราบและอาจเป็นผู้สร้างให้เป็นเช่นนั้น
รัฐบาลสหรัฐรู้ว่าเคิร์ดซีเรียแม้เป็นมุสลิมซุนนี เป็นพลเมืองซีเรีย แต่ต้องการเป็นเอกราช ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจระบอบอัสซาดหรือพวกอาหรับ เคยประสบความสำเร็จในการใช้แนวทางนี้แยกเคิร์ดอิรักออกจากรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก ต่อมากลายเป็นฐานที่มั่นให้สหรัฐตระเตรียมกองกำลังก่อนส่งลงมาบุกโค่นล้มระบอบซัดดัม
นับจากที่เคิร์ดอิรักอยู่ใต้อุ้งปีกสหรัฐ บรรษัทน้ำมันอเมริกาคือผู้ทำธุรกิจกรายใหญ่กับบ่อน้ำมันของเคิร์ด ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เมื่อ ISIS รุกรานซีเรีย รัฐบาลโอบามากับทรัมป์ใช้แนวทางนี้กับเคิร์ดซีเรียซ้ำ เบื้องต้นคือเพื่อความปลอดภัยของเคิร์ด ความหวังว่าจะได้เอกราชหรือปกครองตนเองมากขึ้นกว่าเดิม
อันที่จริงแล้ว รัฐบาลอัสซาดให้เคิร์ดปกครองตนเองระดับหนึ่งอยู่แล้ว และไม่มีปัญหาต่อกัน แต่การเข้ามาของ ISIS ทำให้เคิร์ดซีเรียต้องหันมาเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสหรัฐ ฝากความมั่นคงของตนไว้กับมหาอำนาจ
ถ้ายึดผลประโยชน์เคิร์ดซีเรียเป็นที่ตั้ง การทำเช่นนี้อาจจะเหมาะสม และจำต้องตัดสินใจเช่นนั้นในยามคับขันที่กองทัพ ISIS อยู่ตรงหน้า
ถ้ามองว่านี่คือแผนจากฝ่ายยุทธศาสตร์สหรัฐ ต้องพูดว่าเป็นแผนที่แหลมคม สามารถแยกเคิร์ดออกจากรัฐบาลอัสซาด ให้มาอยู่กับตน และเป็นปรปักษ์กับพวกอาหรับต่อไปด้วย
ถ้ามองโดยยึดซาอุฯ กับพวก แม้สามารถบั่นทอนรัฐบาลอัสซาด จันทร์เสี้ยวชีอะห์หักกลาง แต่เอื้ออำนวยเคิร์ดแข็งแกร่ง กินพื้นที่มากขึ้นและมีโอกาสพัฒนาให้เข้มแข็ง ภายใต้การคุ้มครองจากรัฐบาลสหรัฐดังเช่นอิสราเอล รัฐบาลซาอุฯ กับพวกเหมือนปราบศัตรูได้คนหนึ่ง แต่กลับเป็นเหตุส่งเสริมศัตรูอีกคน
ทั้งหมดนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ประโยชน์ทุกด้าน สามารถคงทหารราบตรงใจกลางตะวันออกกลาง พื้นที่ซีเรียส่วนหนึ่งกลายเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐ (ไม่ใช่ของผู้ก่อการร้าย หรือฝ่ายต่อต้านสายกลางซีเรีย) เป็นความสำเร็จอีกครั้งของสหรัฐโดยแท้
เพราะยอมให้แบ่งแยกเองหรือไม่ :
กลยุทธ์แบ่งแยกแล้วปกครองไม่ใช่ของใหม่ ใครๆ ก็อ่านแผนออก แต่ที่สำเร็จเพราะยอมให้แบ่งแยก ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น พวกผู้นำเคิร์ดได้ประโยชน์จึงผลักดันให้ประชาชนสนับสนุน ยอมเสียประโยชน์อยู่ใต้อำนาจมหาอำนาจเพื่อแลกกับความปลอดภัย
ในภาพกว้าง ต้องระลึกว่าพวกซุนนีซีเรียบางคนบางกลุ่มสนับสนุน ISIS มากกว่ารัฐบาลอัสซาด ซีเรียที่อ่อนแอก็เพราะการแบ่งแยกทั้งจากเชื้อสายกับนิกายศาสนา ไม่ว่าข้อสรุปนี้จะมีน้ำหนักเพียงใด ภาพที่ปรากฏคือความพยายามปลุกปั่นให้เป็นเช่นนั้น
คนที่ยึดมั่นพหุสังคมเชื่อว่าการที่สังคมประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนานิกาย เป็นจุดแข็งของสังคม แม้มีความขัดแย้งบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง มีพวกหัวรุนแรงบ้างแต่เป็นคนส่วนน้อย
แต่ความเป็นพหุสังคมของซีเรียกลายเป็นเหตุต่างชาติเข้าแทรก ปลุกปั่นให้แตกแยก จนถึงขั้นถืออาวุธสงครามเข้าห้ำหั่นกัน ด้วยความคิดว่าอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้
ไม่เพียงใช้หลักสร้างความแตกแยก มหาอำนาจใช้แนวคิด “ถ้าไม่เป็นมิตรก็คือศัตรู” ทำให้ฝ่ายที่อ่อนแอต้องยอมอยู่ใต้อิทธิพล กลายเป็นทหารรับใช้ที่ออกรบแนวหน้า
6 ปีแห่งความขัดแย้ง ชาวซีเรียเสียชีวิตกว่า 500,000 คนแล้ว ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตหลายหมื่น ส่วนทหารสหรัฐเสียชีวิตไม่กี่นาย ข้อมูลชิ้นเล็กๆ นี้บ่งชี้ความสำเร็จอีกครั้งของหลักแบ่งแยกแล้วปกครองหรือไม่
บางคนอาจโทษรัฐบาลสหรัฐ แต่นี่คือแนวทางของเขา และควรทบทวนว่าทำไมจึงหลงกล ดังคำพูดที่ว่าตบมือข้างเดียวจะดังได้อย่างไร
โลกที่เราดำรงอยู่เป็นโลกแห่งการตีความ บางคนตีความว่าสีขาวคือสีแห่งความบริสุทธิ์ สีดำคือความชั่วร้าย บ่อยครั้งที่ต่างคนตีความเป็นคนละอย่าง แยกแยะความถูกความผิด ความเป็นมิตรเป็นศัตรูแตกต่างกัน ศัตรูของผู้หนึ่งแต่เป็นมิตรของอีกคนหนึ่ง
มนุษย์มักตีความให้คุณค่าแก่สิ่งต่างๆ เรื่องต่างๆ ไม่เท่ากัน คำถามคือ สิ่งที่ให้คุณค่าเป็นประโยชน์สูงสุด ยั่งยืนที่สุดหรือไม่
การแบ่งแยกแล้วปกครองพยายามให้ตีความให้คุณค่าในรูปแบบที่สร้างความแบ่งแยก เกลียดชัง จนอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้.
ภาพ : พื้นที่ถิ่นอาศัยของชนชาวเคิร์ด
ที่มา : https://thekurdishproject.org/wp-content/uploads/2015/11/11907164_1658887681023782_5337654842828259130_o.png
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |