60 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ยุทธวิธียึดบท 'ตัวแปร'


เพิ่มเพื่อน    

      ในช่วงที่พรรคเพื่อไทยระส่ำ ส.ส.เลือดไหลไม่หยุด  ขณะที่พรรคพลังประชารัฐอาจหลงเงาตัวเองว่ากระแสดีเวอร์ จนนึกว่าการเลือกตั้งจะมาอันดับแรก โดยลืมให้ราคาพรรคการเมืองเก่าในสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคตัวแปรอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) หรือกลุ่มพรรคเติมแต้มอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นต้น

      โดยเฉพาะ ภท. ระยะหลังกระแสแรงขึ้นพร้อมด้วยขุมกำลัง ส.ส.เกรดเอ และผู้สมัครท้องถิ่นตบเท้าเข้ามากันพรึ่บพรับ 

      จนคอการเมืองทุกค่ายยอมรับว่า “เป็นของจริง” และคาดการณ์กันต่อว่า ภท.จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญกำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 24 ก.พ.62 

      ถึงขนาดโพลจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยังชู “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้า ภท.แทรกขึ้นมาเป็นแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี”

      คอการเมืองต่างวิเคราะห์ว่าสาหตุที่ “ภูมิใจหนู” กระแสดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะบทบาท “หัวหน้าอนุทิน”วางตัวเป็นกลาง เล่นการเมืองสร้างสรรค์ ไม่สร้างศัตรู  พร้อมทำหน้าที่กาวใจประสานความแตกแยกทุกฝ่าย โดยมีแบ็กอัพชั้นดีระดับ “ครูใหญ่” หนุนหลัง    

      แต่นั้นไม่สำคัญเท่ากับขอโอกาสเข้าไปแก้ปัญหาปากท้องประชาชนผ่าน 3 แนวทางหลักคือ ข้อ 1.แก้ปัญหาหนี้ กยศ. การศึกษาทางเลือกด้วยเทคโนโลยีใหม่ผ่านระบบออนไลน์  

      ข้อ 2.นำระบบแบ่งปันกำไรอย่างเป็นธรรมมาใช้กับพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ยาง ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่ต้องการแบ่งปันกำไร 70 :15 : 15 ที่สามารถเขย่าหัวใจชาวนา 20 ล้านคนท้าทายระบบค้าข้าวยุคไดโนเสาร์ และ 3.แชร์ริ่ง อีโคโนมี คือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เช่น แกร็บแท็กซี่ถูกกฎหมาย และแอร์บีเอ็นบี ซึ่งคือการปล่อยห้องว่างในบ้านของบุคคลทั่วไปให้สามารถเป็นที่พัก

      ส่วนที่ถามกันมา เลือกตั้งปี 62 จะได้จำนวน ส.ส.เท่าใด แกนนำ ภท.ได้นำบทเรียนจากปี 54 มาแก้ไข จากเดิมเคยแพ้กระแส รวมทั้งความประมาทของผู้สมัคร เพราะเชื่อว่ามีอำนาจรัฐหรือบางคนถูกหัวคะแนนต้มตุ๋น

       “อนุทิน” จึงแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยการจุดกระแสพรรคผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทางสื่อสาร ยิงตรงไปที่สมาชิกพรรค โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ผู้รับผิดชอบ ตั้งเป้าจะหาผู้สนับสนุนพรรคทั่วประเทศให้ได้ 4 ล้านคน ขณะที่ตัวผู้สมัครจะต้องมีคะแนนนิยมขั้นต่ำหลักหมื่นคนขึ้นไปถึงจะส่งลงชิงชัย และที่สำคัญจะต้องอยู่ทำงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

      ส่วนการชิงชัยในสนามเลือกตั้ง จะทะลวงจุดอ่อนคู่แข่ง อย่างเช่นในพื้นที่อีสาน ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแชมป์เก่า แต่บัดนี้แบรนด์ทักษิณไม่ขลังเหมือนเดิม ผู้สมัครยังไร้คุณภาพ คนที่เข้ามาแทนหลังถูกดูดก็เป็นหน้าใหม่ชาวบ้านห่างเหิน  

      เช่นเดียวกับ พปชร. ที่ปั่นกระแสให้แรงขึ้นมา แต่ก็มีภาพลบด้วยยี่ห้อทหารจนยากที่จะสลัดออก ส่วนคนที่ดูดเข้าก็ไร้บุญเก่าจากกระแสพรรคช่วยอีกแล้ว อย่างเช่นที่จังหวัดเลย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.เพื่อไทย ก่อนย้ายไป พปชร. ก็ชนะมาเพียงแค่ 3,460 เท่านั้น รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็อ่อนแอลงมากเพราะเบื่อวาทกรรม  

       “ดีแต่พูด”

      จึงเป็นโอกาสให้ ภท. ที่ยังเป็นผู้สมัครหน้าเก่าและมีคะแนนอันดับสองเมื่อปี 54 อาศัยจุดอ่อนเหล่านี้เบียดแทรกขึ้นมาชนะ ประกอบด้วยขุมกำลังที่เข้าที่ มีความเข้มแข่งในตัวบุคคล รวมทั้งพื้นที่ ส.ส.เดิมหลายแห่ง ที่นับเก้าอี้ได้เลย 

       คาดกันว่าเลือกตั้งปี 62 “ภูมิใจหนู” จะมี ส.ส.อย่างต่ำ 50-60 คน จากเดิมเลือกตั้งปี 54 ได้ 34 คน (กลุ่มเพื่อเนวิน 27 คนและกลุ่มมัชฌิมา 7 คน) 

       ประกอบด้วยฐานที่มั่นใจคือ บุรีรัมย์ 8 คนยกจังหวัด,  สุรินทร์ 3 คน, นครราชสีมา 3-4 คน, อำนาจเจริญ 1 คน,  ศรีสะเกษ 1 คน, นครพนม 1 คน, มหาสารคาม 1 คน, อุดรธานี 1 คน, บึงกาฬ 1 คน, เลย 2 คน, ขอนแก่น 1 คน  ปราจีนบุรี 2 คน, ราชบุรี 1 คน อ่างทอง 1 คน, นครสวรรค์ 1 คน, ลพบุรี 2 คน, สระบุรี 1 คน, อุทัยธานี 2 คน, พระนครศรีอยุธยา 2 คน ขณะที่ภาคใต้ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดสตูล พัทลุง ภูเก็ต ระนอง หวังเข้ามา 3-4 คน เป็นต้น   

      ขณะที่บางเขตที่ไม่ชนะ อาทิ ภาคเหนือ กรุงเทพฯ และอื่นๆ ก็หวังคะแนนอันดับ 2 ไหลไปสู่บัญชีรายชื่อเพิ่มจำนวนเก้าอี้อย่างน้อย 10 คนขึ้นไป

       ภท.จะได้สวมบท “ตัวแปร” ผู้ทรงพลังจริงหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"