ฟังเสียงคนหลากวงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้


เพิ่มเพื่อน    


    ผมไปตระเวนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาครับ
    ผมตั้งวงพูดคุยกับผู้คนหลายวงการเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด เพื่อสะท้อนความคิดอ่านของคนหลายๆ ฝ่ายสำหรับรายการ Thailand Live ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้านของ Thai PBS 
    พอจะสรุปได้ว่าสถิติความรุนแรงของทางการลดน้อยลง แต่ยังเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ตราบเท่าที่กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายเห็นต่างยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะหาทางออกได้หรือไม่
    ในหลายๆ ด้านบรรยากาศของปัตตานี ยะลา และนราธิวาสไม่ได้น่ากลัวเหมือนภาพที่คนจังหวัดอื่นๆ รับรู้ เพราะทุกครั้งที่มีข่าวจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มักจะเป็นข่าวร้าย ข่าวระเบิด ข่าวความรุนแรง
    แต่ผมพบกับหลายๆ ฝ่ายที่มีเรื่องราวดีๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ควรจะได้มีการเล่าขานอย่างกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่
    ต้องยอมรับว่าตลอด 14 ปีตั้งแต่เกิดความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้ทำให้เกิดบาดแผลหนักหน่วงรุนแรงในหลายๆ ชุมชน การรักษาเยียวยาและฟื้นคืนให้กลับสู่สภาพปกติ พร้อมจะทะยานสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้ยังเป็นภารกิจที่ท้าทายยิ่ง
    แต่อีกด้านหนึ่งผมก็เห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคึกคักและมุ่งมั่นที่จะสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ๆ เช่น startups และ SMEs ที่ใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อการสร้างเสริมอนาคตทางเศรษฐกิจอย่างมีความหวังยิ่ง
    ธุรกิจ e-commerce ก็เริ่มคึกคัก เห็น Kerry มาตั้งสาขามากขึ้นในย่านนี้ก็พอจะสะท้อนได้ว่า การซื้อขายของทางออนไลน์กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ที่น่าสนใจ
    ขณะที่ผมรับทราบว่ายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมก็รับทราบถึงเยาวชนที่มีโอกาสเล่าเรียนทั้งด้านศาสนาและวิชาสามัญ ที่โยงไปถึงการไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อขยายโอกาสทางด้านอาชีพของตนมากขึ้น
    ความพยายามที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาและความรู้ใหม่ๆ ทั้งจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ กลับมาตั้งรกรากในสามจังหวัดกำลังได้รับความสนใจสูงขึ้น ผมไปร้านอาหารที่เคยถูกระเบิดมาสามครั้ง แต่ก็ยังยืนหยัดทำธุรกิจไม่ย่อท้อเพื่อพิสูจน์ว่าความรุนแรงไม่อาจจะทำลายวิถีชีวิตปกติของผู้คนได้
    กลางเมืองยะลามี safety zone อันเป็น "เขตปลอดภัย" ด้วยมี "บังเกอร์" ที่มีรูปร่างเป็นแท่งคอนกรีตกลมๆ วางไว้หน้าบ้านและร้านค้าหลายจุด แทนที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความน่ากลัว คนยะลาก็ช่วยกันเขียนภาพสวยๆ ทั้งที่เป็นดอกไม้และการ์ตูนให้มีความรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าที่จะให้กลายเป็นความเครียด
    วันที่ผมอยู่ที่ปัตตานีก็มีข่าวว่าอาสาสมัครสองคนถูกผู้ก่อเหตุร้ายยิงกลางตลาด แสดงว่ายังไม่อาจจะอ้างได้ว่าความสงบได้กลับมาสู่ดินแดนปลายด้ามขวานอย่างจริงจัง แต่หน้าวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ของปัตตานีก็มีร้านรวงขายอาหารกันคึกคัก ผู้คนขวักไขว่ใช้ชีวิตเป็นปกติ
    ผมตั้งวงตรงนั้น พูดคุยกับคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ทำกิจกรรมเพื่อชักชวนให้คนรุ่นใหม่ของสามจังหวัดชายแดนช่วยกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ช่วยกันสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนคนไทยมุสลิม  พุทธและจีนให้ลดความระแวงสงสัย
    ผู้นำชุมชนที่ผมตั้งวงสนทนาด้วยจะเน้นแนวทาง "พหุวัฒนธรรม" อย่างเป็นระบบ แม้ว่าผมจะได้ข่าวแว่วผ่านบางคนว่าความระแวงสงสัยต่อกันในบางจุดบางชุมชนยังแฝงตัวอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
    ผมพบกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสที่เป็นสุภาพสตรีมุสลิมคนแรกของประเทศไทย (คุณพาตีเมาะ สะดียามู) ที่ได้รับความไว้วางใจให้มาทำงานนี้ หลังจากพิสูจน์ความสามารถของตนเองจากความเป็นเด็กยากจนที่ต่อดิ้นรนต่อสู้มาอย่างโชกโชน และสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนมุสลิมได้อย่างกว้างขวาง
    ท่านบอกผมว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับผู้เห็นต่างควรจะเพิ่มมิติของตัวแทนจากชาวบ้านเข้าไปด้วย เพื่อจะสามารถยกระดับ "ความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน" อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
    ผมชวนเสวนากับพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. และพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาการผู้อำนวยการ ศอ.บต.ซึ่งยืนยันกับผมว่าสถานการณ์ความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นตามลำดับ 
    แต่ท่านก็ยอมรับว่ายังมีงานสร้างความมั่นใจให้ประชาชนอีกไม่น้อยเพื่อให้เกิด "สันติสุข" อย่างแท้จริง
    ภาพใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นส่วนผสมของข่าวดีและข่าวทางลบ ที่ยังรอการแก้ไขโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"