เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕...........
"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" มีพระราชปรารภกับ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ในรัชกาลที่ ๙ ว่า
"ปัจจุบัน มีคนไทยดูโขนน้อยมาก"
สร้างความเป็นห่วงอย่างมากแก่พระองค์ท่าน เพราะทรงตระหนักว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นของล้ำค่า
"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ในรัชกาลที่ ๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ฟื้นฟูการแสดงโขนขึ้นมา ถึงกับมีพระราชเสาวนีย์ด้วยว่า
"เมื่อไม่มีคนดูโขน ฉันจะดูเอง"
https://sudsapda.com/top-lists/70413.html
ขอกราบแทบเบื้องพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
โขนอยู่คู่ประเทศ จนได้ขึ้นทะเบียนจาก UNESCO เป็น "มรดกทางวัฒนธรรม" ครั้งนี้
ก็ด้วยน้ำพระราชหฤทัยแห่งพระองค์ทรงห่วงศิลปวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงรากเหง้าความเป็นไทยจะถูกละทิ้ง
จึงมีรับสั่งให้ฟื้นฟู..........
พระราชทานทรัพย์ให้ศึกษาค้นคว้า จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน งามดุจเทพนิรมิต ดังทุกวันนี้
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสุดหาใดเปรียบ
มวลพสกนิกรในแผ่นดินไทย กราบสำนึก และขอจำพระมหากรุณาธิคุณนี้ ตราบชีวิต
ครับ........
กันเรียกสับสน ขอบอกนิด "โขน" ไม่ใช่ขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก"
หากแต่ขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกทางวัฒนธรรม"
มรดกโลก ต้องเป็นวัตถุ คือจับต้องได้ อย่างเช่น เขาพระวิหาร อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา เป็นต้น
เรื่อง "มรดกโลก-มรดกวัฒนธรรม" มีกรอบอยู่ ตัวผมเอง "รู้ไม่ถึง"
ฉะนั้น จะนำที่ท่านผู้รู้โพสต์ fb ไว้มาให้อ่าน ดังนี้
Akkharaphong Khamkhun
เรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ถาวรวัตถุ (Intangible Cultural Heritage)
(ภาษาราชการจะใช้คำว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" หรือภาษาในสื่อมวลชนจะใช้ว่า "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้")
อนุญาตสรุปและยกตัวอย่างเป็นประเด็นๆ สั้นๆ ดังนี้
ไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage ฉบับปี 2546
โดยกัมพูชาเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาฉบับนี้ ตั้งแต่ปี 2549 และขึ้นทะเบียนมรดกที่ไม่ใช่ถาวรวัตถุไปแล้วจำนวน 5 รายการ ได้แก่
ปี 2561 - Lkhon Khol Wat Svay Andet (USL)
ปี 2559 - Chapei Dang Veng (USL)
ปี 2558 - Tugging Rituals and Games (RL)
ปี 2551 - Royal ballet of Cambodia (RL) และ Sbek Thom, Khmer shadow theatre (RL)
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2558 มีการขึ้นทะเบียน "ชักคะเย่อ" (Tugging Rituals and Games สังเกตว่าเป็นทั้งพิธีกรรมและการละเล่น)
โดยเสนอร่วมกัน (multi-national nominations) ระหว่าง 4 ชาติ ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม โดยเรียกชื่อต่างกัน ได้แก่
-กัมพูชา ------- (LbaengTeanhProt)
-ฟิลิปปินส์ Punnuk
-เกาหลีใต้ 줄다리기(Juldarigi)
-เวียดนาม Kéo co (Keo Co)
ส่วนประเด็น การขึ้นทะเบียนโขน ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น
เนื่องจากมีปัญหามาก ก็เลยเสนอขอขึ้นทะเบียนแยกจากกัน ซึ่งสามารถทำได้
เหมือนกรณีตัวอย่าง เช่น "ผักดอง-กิมจิ" ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ก็เสนอขึ้นทะเบียนแบบแยกกัน (เพราะสองประเทศนี้ไม่ค่อยชอบกัน ใครเขาก็รู้)
โดย...........
-เกาหลีใต้ ขึ้นทะเบียนก่อนในปี 2556 ในชื่อ Kimjang, making and sharing kimchi
-เกาหลีเหนือ ขึ้นทะเบียนต่อมาในปี 2558 ในชื่อ Tradition of kimchi-making
ในส่วนของประเทศไทยนั้น.............
เราเพิ่งเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาฉบับนี้เป็นลำดับที่ 171 ในปี 2559 นี้เองครับ
โขน จึงเป็นการขึ้นทะเบียนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยเราในปี 2561
โปรดสังเกตว่า การขึ้นทะเบียนของไทยใช้คำว่า "โขน (Khon, masked dance drama in Thailand)"
แต่ในส่วนของกัมพูชาใช้ว่า "Lkhon Khol Wat Svay Andet" (อีกชื่อหนึ่งคือ "ละคอนวัดสวาย (Lkhon Wat Svay)"
ที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมคือ เขาได้ขึ้นทะเบียนอยู่คนละกลุ่ม กล่าวคือ
การขึ้นทะเบียนของกัมพูชาในปีนี้ ได้จัดอยู่ใน List of Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding (USL)
คือ ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
ส่วนของไทยเราได้อยู่ในกลุ่มของ Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity (RL) คือ เพื่ออนุรักษ์และรักษาให้คงอยู่สืบทอดต่อไป ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนอะไรเหมือนในแบบแรก
สรุปว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ไม่ใช่ถาวรวัตถุนั้นจะขึ้นแยกหรือรวมกันก็ได้
แต่ต้องเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาก่อน และไม่เกี่ยวว่าใครขึ้นก่อนหรือขึ้นหลัง ถ้าขึ้นทะเบียนแล้วสบายใจก็ขึ้นไป
แต่ต้องสงวนรักษา อนุรักษ์ และส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนให้ยอดเยี่ยมจริงจัง
ไม่ใช่สักแต่จะขึ้นทะเบียนให้ได้โล่...แล้วก็ยังไม่มีใครในประเทศชาติของตัวเองรู้เลยว่า หลังจากที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว...ได้ทำอะไรไปบ้างให้สร้างสรรค์????
Kornkit Disthan
หนังสือ "ละเขานเขาล วัตตสวายอัณแดต" ซื้อมาจากกัมพูชา
ว่าด้วย "ละคอนโขลวัดสวายอัณแดต" ของเขมร ที่ยูเนสโกเพิ่งจะขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
ตอนนี้ไม่ต้องดราม่าแล้วนะครับ เขมรกับไทยได้ไปทั้งคู่ และส่งชิงกันคนละสาขา
ของไทยเป็นสาขา "เอกลักษณ์ของชาติ" ของเขมรเป็นสาขา "ใกล้สาบสูญ"
ส่วนเรื่องใครเป็นต้นตำรับว่ากันตามหลักฐาน ซึ่งหลักฐานมี จะมาเหมาว่าเป็น "วัฒนธรรมร่วม" หมดไม่ได้หรอก
เคยเขียนไปตั้งแต่วิวาทะโขนไทย-โขลเขมรเมื่อหลายเดือนก่อนว่า
คณะ "วัดสวายอัณแดต" เรียนมาจาก "ขนบโขนไทยโบราณ" ในราชสำนักกัมพูชาที่ "นักองค์ด้วง" ขอมาจากราชสำนักบางกอก
เป็นโขนชายล้วน ซึ่งต่อมาของไทยขาดผู้สืบทอดไป ซึ่งคณะนี้ เป็นคณะเชลยศักดิ์
ต่อมาสิ้น "องค์ด้วง" แล้ว คณะผู้ชายหมดความนิยมลง ในราชสำนักเขมร จึงเลิกเล่นโขนผู้ชายเหมือนบางกอก
พวกมหาดเล็กเก่า เอาของในวังมาเล่นกันต่อนอกวัง จึงเหลือเวอร์ชั่นชายที่วัดสวาย
ต่อมา ละคอนโขลเขมร เจอพิษภัยสงคราม ครูละครดีๆ หายไปเกือบหมด
คณะ "วัดสวายอัณแดต" รอดมาได้คณะเดียว
แต่เพราะมันเป็นคณะเชลยศักดิ์ เครื่องแต่งกาย หัวโขนเป็นของพื้นบ้านไปหมด (ทั้งยังนิยมเล่นตอนกุมภกรรณทดน้ำเป็นหลัก)
เทียบไม่ได้กับโขนหลวง ยิ่งไม่ต้องเทียบกับต้นฉบับคือของไทย
แต่คณะ "วัดสวายอัณแดต" ไม่ใช่ของไทย มีวิวัฒนาการของตัวเองที่ห่างจากไทยมาพอสมควรแล้ว
โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายที่ออกพื้นๆ ตอนนี้ยังหาคนสืบทอดได้ยาก
ทางกัมพูชาขอให้ยูเนสโกประสานงาน "เพื่อนบ้าน" ให้ไปช่วยอนุรักษ์ ซึ่งผมเข้าใจว่าไทยนั่นเอง (ก็เรียกไทยไปเลยง่ายกว่า)
ปัญหาคือ โขนไทยวิจิตรพิสดารกว่า เกรงว่าจะครอบของพื้นๆ เวอร์ชั่นเขมร จนเสียของเดิมไป
ที่เรียกว่า "วัฒนธรรมร่วม" มันร่วมแค่บท "รามเกียรติ์" นะครับ รายละเอียดปลีกย่อย "ของใคร-ของมัน"
ก็ขอบคุณ Akkharaphong Khamkhun และ Kornkit Disthan ที่ให้ผมหยิบฉวยงานของท่านมาใช้เป็น "องค์ความรู้" ตรงนี้
มีอีกนิด อยากพูด คือเมื่อทั้งของไทย-ของเขมร เป็นมรดกวัฒนธรรมด้วยกัน เพียงคนละกลุ่มเท่านั้น
ปรากฏว่า มีคนส่วนหนึ่ง นำไปเกทับ-บลัฟแหลกกัน ประมาณว่า "ของข้าดีกว่าเอ็ง" ทำนองนั้น
ผมว่า "อย่าเลย"!
ไหนๆ ก็ได้ขึ้นทะเบียนด้วยกัน แสดงความยินดีต่อกัน จะไม่เป็นทางสร้างสรรค์ มากกว่า "เอ็งเหยียดข้า-ข้าเหยียดเอ็ง" อย่างที่ทำกันดอกหรือ?
ศิลปวัฒนธรรม เป็นเครื่องหมายอารยะ แล้วเราจะอนารยะไปเพื่ออะไร?
โขนเขมร-โขนไทย ก็พี่น้องโขนกัน เพื่อนบ้านเขาจะแสดงความเห็นอย่างไร ถ้าเรายกใจสูงไว้
โขนไทย ก็จะยิ่ง "อมตะเลอค่า" สูงสมไทยยิ่งขึ้น!
วันนี้ คุยเรื่องโขน เลยไม่ได้คุยเรื่องแบ่งเขต ที่บางพรรคเขาโวย
ที่จริงก็เห็น "โวยกันทุกสมัย"
ในเมื่อปวารณาตัวเป็นผู้รับใช้ประชาชน เขาจะแบ่งยังไง ประเทศไทยก็ที่เดิม ชาวบ้านก็อยู่ที่เดิม
อยากเป็น ส.ส.ก็ไปบอกเขาสิว่า "ฉันจะมาอาสาเป็นผู้รับใช้นะ"
ถ้าไม่ตีราคาชาวบ้านเป็น "สินค้าตกเขียว" ไว้ล่วงหน้าละก็
มองไม่เห็นจะเป็นปัญหา "ขนาดโลกแตก" อย่างที่ออกฤทธิ์-ออกลายกันตอนนี้เลย
เคยแต่ "วางเรือใบ" คนอื่นเขาใช่มั้ย พอเจอเข้าบ้าง
ร้อง.....
เหมือน...ถูกน้ำหน่อไม้ดองราดหลังงั้นแหละ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |