ศาลเลือก "นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี" ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ชนะเลือกตั้งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิชั้นศาลฎีกาแทนตำแหน่งที่ว่าง
วันที่ 30 พ.ย. นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงผลการตรวจนับคะแนนการเลือกตั้งซ่อมกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ชั้นศาลฎีกา แทนตำแหน่งที่ว่าง 1 ตำแหน่ง ว่าสำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการตรวจนับคะแนนการเลือกตั้งซ่อม ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลฎีกา แทนตำแหน่งที่ว่าง 1 ตำแหน่ง โดยเริ่มนับคะแนนเวลา 07.50 น. และสิ้นสุดการนับคะแนนเวลา 08.00 น. ซึ่งคณะอนุกรรมการตรวจนับคะแนนเลือกซ่อม ก.ต. ได้รับบัตรลงคะแนนกลับมายังสำนักงานศาลยุติธรรมจำนวน 168 บัตร จากบัตรลงคะแนนที่ส่งไป 176 บัตร
โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า ผลการนับคะแนน 1.นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้ 90 คะแนน 2.นายสมเกียรติ ตั้งสกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้ 65 คะแนน 3.นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ได้ 9 คะแนน และท่านอื่นๆ อีก 2 คะแนน บัตรเสีย จำนวน 2 บัตร ซึ่งจากผลคะแนนเลือกตั้งซ่อม ก.ต.ในชั้นศาลฎีกาดังกล่าว นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาได้คะแนนสูงสุด เป็นผลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น ก.ต.ในชั้นศาลฎีกา แทนตำแหน่งที่ว่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งซ่อม ก.ต.แทนตำแหน่งว่างในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการตรวจนับคะแนนผลการลงมติของผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดยเสียงข้างมากให้ลงมติถอดถอนนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ออกจากตำแหน่ง ก.ต.ในชั้นศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม ที่ปรากฏชื่อนายชำนาญในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เพราะยังเป็นผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกา จึงมีสิทธิได้รับเลือกเป็น ก.ต.ในชั้นศาลฎีกาได้ และไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่า ผู้ที่ถูกถอดถอนไปแล้วไม่สามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็น ก.ต.ได้อีกต่อไป เป็นเหตุผลตามที่คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งซ่อม ก.ต. ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นนี้แล้ว
สำหรับประวัติของนางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกเป็น ก.ต.ในชั้นศาลฎีกา จบการศึกษาตามลำดับจากนิติศาสตรบัณฑิต ม.รามคำแหง, เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตไทย, รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รุ่นที่ 8 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม, หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.2550) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 16 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 26
ประวัติการดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ตามลำดับ เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลช่วยราชการศาลจังหวัดเชียงใหม่, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเบตง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกบินทร์บุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 4, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5, รองประธานศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตามลำดับ ได้แก่ อนุ ก.ต. ประจำศาลชั้นต้น, กรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ประจำศาลชั้นต้น, ก.ต.ประจำศาลอุทธรณ์, ก.บ.ศ.ประจำชั้นศาลฎีกา, ผู้อำนวยการหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (รุ่น 19-20) สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และ ก.ต.ประจำชั้นศาลอุทธรณ์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |