คลังเตรียมแจกอั่งเปาคืนแวต 5% กระตุ้นช็อปตรุษจีน 1-15 ก.พ. จ่ายผ่านบัตรเดบิตไม่เกิน 2 หมื่นบาท สรรพากรแจงช็อปช่วยชาติปีนี้ช่วยเกษตรกร-ชุมชน-พัฒนาคน ปัดเอื้อนายทุน สูญรายได้ 1.6 พันล้าน
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จำนวน 5% ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย แก่ประชาชนที่จับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเดบิต ในสินค้าที่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยโครงการนี้จะใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือระหว่างวันที่ 1 ถึง 15 ก.พ.2562
"คาดโครงการนี้จะใช้งบประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท แต่จะขอวงเงินเผื่อไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท หากโครงการอนุมัติจะเริ่มคืนแวตให้กับประชาชนหลังสิ้นเดือน ก.พ.62 ไปอีก 15 วัน ผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชนเท่านั้น นอกจากนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ผ่านระบบอีเพย์เมนต์ คลังจะขอให้สถาบันการเงินยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจัดทำบัตรเดบิตด้วย" นายอภิศักดิ์ระบุ
รมว.การคลังกล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการคืนแวตให้กับประชาชน และทำมาตลอด 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นช็อปช่วยชาติ เพราะการบริโภคลดลง หรืออยู่ที่ 1% แต่ขณะนี้การบริโภคอยู่ที่ 4% ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในบางสินค้ายังต้องช่วยเหลือ ส่วนมาตรการคืนแวต เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เกิน 4% ซึ่งตอนนี้คาดว่าจะขยายได้ในระดับ 4% ต้นๆ หากว่าเศรษฐกิจตกลง จะต้องใช้มาตรการแรงเพื่อดึงขึ้นมา แต่กรณีนี้เราใช้มาตรการเพื่อพยุง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อการหาเสียง
ด้านนายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น จะดำเนินการแนวทางเดียวกันกับการคืนภาษีแวตให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นโจทย์ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รับมา โดยให้คิดแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งแนวทางการคืนเงิน (แคชแบ็ก) เป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาครั้งนี้ด้วย และเดิมกรอบเวลาที่จะใช้ในการดำเนินการจะอยู่ในช่วงปลายปี 2561 แต่ด้วยกระบวนการ และระบบหลายอย่างต้องใช้เวลา จึงมีการขยับเวลาของมาตรการออกไปเป็นช่วงเดือน ก.พ.2562
“เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีมีสัญญาณหัวทิ่มลง ดังนั้นจึงมีโจทย์ให้ สศค.ไปคิดเกี่ยวกับแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นผ่านการคืนเงินเป็นแนวทางที่มีการศึกษาไว้ ซึ่งจะใช้หลักการคือ ใช้เท่าไหร่ จ่ายคืนในปริมาณที่เท่าเทียมกัน โดยแนวทางการคืนก็จะเป็นแบบเดียวกับการคืนภาษีแวตให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” นายปิ่นสาย กล่าว
โฆษกกรมสรรพากรยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติ ที่สนับสนุนให้มีการซื้อสินค้า 3 รายการ ได้แก่ ยางรถยนต์ทุกประเภท หนังสือ และสินค้าโอท็อป เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้า มากกว่าช่วยประชาชน และควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่านั้นว่า มาตรการช็อปช่วยชาติที่จะดำเนินการระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2561-15 ม.ค. 2562 ไม่เหมือนกับมาตรการในปีที่ผ่านๆ มา เพราะมีการกำหนดชนิดสินค้าที่เข้าร่วมได้ 3 รายการ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงคุ้มค่าที่จะดำเนินการ
กรณียางรถยนต์ ซึ่งรวมถึงยางรถจักรยานยนต์ และยางรถจักรยานด้วยนั้น วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราคายางที่ตกต่ำจากปัญหาสต๊อกยางพารา ที่ต้องเร่งระบายออกกว่า 6,000 ตัน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตยางในประเทศทั้งสิ้น 28 บริษัท โดยกรมสรรพากรได้มีการคำนวณว่ายางพารา 1 ตัน สามารถผลิตยางรถยนต์ได้ 80 เส้น ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อนจากการซื้อยางล้อนั้น จะต้องมีใบกำกับภาษีจากผู้ขายและคูปองที่ติดมากับยางล้อ โดยกรมสรรพากรได้เตรียมคูปองในส่วนนี้ไว้ 2 แสนใบ เพื่อเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์ หรือปลอมแปลงต่างๆ โดยในคูปองดังกล่าวจะต้องมีเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิตและบริษัทผู้ขายยางกำกับด้วย และยางล้อจะต้องมีตราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำกับด้วย โดยยาง 1 เส้นต่อคูปอง 1 ใบ
ส่วนการใช้สิทธิจากการซื้อหนังสือ หรืออีบุ๊ก โดยไม่รวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่านของคนในประเทศ จะต้องมีใบเสร็จจากร้านค้า สำหรับสินค้าโอท็อป เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน โดยผู้ผลิตจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน โดยผู้ใช้สิทธิสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท
อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่ามาตรการช็อปช่วยชาติ สำหรับ 3 ชนิดสินค้า จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ ประมาณ 1.6 พันล้านบาท จากมาตรการในปีก่อนหน้า ที่สูญเสียรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท จากผู้ยื่นแบบเพื่อขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย
นายปิ่นสายยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ ต้องแจ้งความประสงค์เพื่อใช้สิทธิดังกล่าวกับบริษัทประกันในการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 1 ธ.ค.2561 ว่า ไม่เป็นความจริง โดยกรมสรรพากรได้กำหนดให้บริษัทประกันสามารถยื่นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของลูกค้าที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพได้ถึงวันที่ 7 ม.ค.2562 โดยข้อมูลดังกล่าวกรมสรรพากรจะนำไปใช้ในการคำนวณภาษีเพื่อให้สามารถประมวลผลได้เร็วขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |