"ตู่ดิจิทัล" เจอพิษโซเชียลฯ หลุดเฟซบุ๊กไลฟ์ไม่พอใจสื่อถามเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง "จะตายห่ากันให้หมดหรืออย่างไรก็ไม่รู้กับไอ้เรื่องซังกะบ๊วย" เหน็บพรรคการเมือง ปรับอย่างไร คนไม่เลือกก็อยู่ที่โชคชะตา ก่อนขอโทษผ่าน "พุทธิพงษ์" ที่ใช้คำไม่สุภาพ ส่วนประธาน กกต.บอกจบแล้ว ขณะที่ประชาธิปัตย์สุโขทัยโวย ชูแผนที่เขตเลือกตั้งฟันหลอเอื้อพรรคใกล้ชิดรัฐบาล เตือนซ้ำรอยแก๊งสามหนา
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2561 เวลา 10.15 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 5/2561 โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ชื่อ "สภาพัฒน์"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงหนึ่งว่า หลายอย่างวันนี้ยังมีปัญหา ตนกลับมาก็ไม่ได้พัก ไม่ได้ไปเที่ยวไหน ตามจี้ตูดถามกันทุกเรื่อง ตนจึงต้องพูดในทุกเรื่อง ถ้าฟังตนบ่นก็อย่าเพิ่งเบื่อกัน เพราะตนจะบ่นเป็นครั้งสุดท้ายจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ที่ผ่านมารัฐบาลอื่นไม่ทำอะไร เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง อย่างเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
“สื่อข้างนอกก็ถามกันอย่างเดียว เรื่องการแบ่งเขต จะตายห่ากันให้หมดหรืออย่างไรก็ไม่รู้กับไอ้เรื่องซังกะบ๊วยพวกนี้ ก็ว่ากันไปตามกติกา จะผิดหรือถูกผมไม่รู้ กติกาว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ผมจะไปรู้อะไร นายกฯ จะรู้เรื่องการแบ่งเขตหรือ ไม่เกี่ยวหรอก ใครได้ใครเสียก็ว่าไป"
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เขาแบ่งด้วยอะไร เขาแบ่งด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้นกับเรื่องของพื้นที่ วันนี้เปลี่ยนไปเท่าไหร่แล้ว 4-5 ปี กูจะเอาแบบเดิมตลอด ติดพื้นที่แบบเดิมตลอด ไม่ว่าจะปรับอย่างไร แก้อย่างไร ถ้าคนไม่เลือกเลยพรรคไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น
"ก็แล้วแต่โชคชะตาก็แล้วกันประเทศไทยไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เหลือแต่คนในห้องนี้คงเข้าใจผมนะ” พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการเดินทางเยือนเยอรมนีที่ผ่านมาว่า ช่วงแรกเขาก็มีท่าทีกับตนแข็งๆ หลังๆ มีท่าทีที่อ่อนลง ตนไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างเขาอยู่แล้ว พูดเรื่องประเทศไทยไปเยอะ ตอนหลังก็เป็นเพื่อนกัน
"เขาก็รับผมได้ในแบบบ้าๆ บอๆ ของผม ซึ่งเขาได้ถามผมว่า การเป็นทหารกับเป็นนายกฯ ต่างกันหรือไม่ ผมตอบไปว่าเป็นนายกฯ ก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะปัญหามีเยอะ สรุปว่าเขาเข้าใจและยินดีที่เรามีการเลือกตั้ง แต่พอผมกลับมาที่ประเทศไทยก็ถูกสื่อถามว่า เยอรมันถามรุกไล่เรื่องการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 หรือไม่ ไม่ถามว่ามีข้อตกลงอะไรที่ทำกับเยอรมันบ้าง สื่อถามไม่สร้างสรรค์ ผมไม่ได้รังเกียจ แต่รำคาญ ซึ่งผมต้องขอโทษที่บ่นในวันนี้ แต่มีอะไรต้องพูดหมด"
นายกฯ ยังได้กล่าวประเด็นเดียวกันนี้ในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ช่วงค่ำวันศุกร์ว่า การเดินทางเยือนประเทศต่างๆ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของผู้นำประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น ที่ผ่านมา รวมทั้งเยอรมนี ในครั้งนี้ อีกทั้งการเข้าร่วมประชุมสำคัญๆ ในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความยอมรับและความเชื่อมั่นทางการเมืองจากประเทศชั้นนำต่างๆ ต่อศักยภาพและบทบาทของไทยในเวทีโลก
"การสอบผ่าน บทพิสูจน์เหล่านี้ ย่อมนำมาสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือ ที่จะนำพาประเทศของเรา บรรลุวิสัยทัศน์มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้ในที่สุดนะครับ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ขอโทษที่ใช้คำไม่สุภาพ แต่ที่จริงไม่มีเจตนา เพียงแต่ต้องการสื่อว่าตัวท่านเองและรัฐบาลไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับการแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต. และ กกต.ก็ชี้แจงหลักเกณฑ์การแบ่งเขตชัดเจนแล้วว่ามาจากอะไร เช่น การใช้เกณฑ์ประชากรที่เพิ่มขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ สิ่งที่เคยทำมาแต่เดิมก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วยเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่ใช่ทำเพื่อเข้าข้างใครทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน รักษาความสงบของบ้านเมือง และเตรียมตัวสู่การเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง
กกต.ไม่สนเสียงค้าน
ด้านนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวยืนยันว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าแบ่งเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ก็สุดแท้แต่ความเห็น คงห้ามความคิดกันไม่ได้ แต่ กกต.ไม่ได้เเบ่งเขตเพื่อเอื้อใคร หรือมองว่าใครจะได้ไม่ได้อย่างไร และไม่หวั่นไหว เราคิดแต่มีหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไร ให้แบ่งเขตก็แบ่ง โดย กกต. แต่ละท่านต่างก็มีข้อคิดเห็น แต่ก็ใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายมาคุยกัน หลักเกณฑ์กฎหมายว่าอย่างไรก็แบ่งไปตามนั้น
เมื่อถามว่า จะมีการชี้แจงเหตุผลถึงการแบ่งเขตในจังหวัดที่มีการตั้งข้อสงสัยหรือไม่ ประธาน กกต.ตอบว่า คงไม่ต้องชี้แจงอีก เพราะทุกอย่างทำบนหลักพื้นฐานของกฎหมายแล้ว รวมถึงขณะนี้ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่าการแบ่งเขตเสร็จสิ้นแล้ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีบางพรรคการเมืองมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นศาลปกครอง หากไม่พอใจเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า ถ้าใครไม่พอใจสามารถไปร้องศาลปกครองได้ เพราะเป็นวิธีเดียวที่ทำได้ ถ้าไปยื่นร้องแล้วศาลปกครองไม่รับคำร้องตนก็ไม่รู้ด้วยแล้ว ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ที่ออกมานั้น เป็นตัวป้องกันในการฟ้องร้อง ซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะกรรมการชุดใหญ่ที่เราเขียนป้องกันไว้ให้ แต่ไม่คุ้มครองผู้ปฏิบัติระดับล่างหรือ กกต.จังหวัด และถ้าไปยื่นแล้วศาลเห็นว่าคำร้องที่ถูกยื่นไม่เข้าข่าย เพราะการแบ่งเขตที่ออกมาเป็นที่สุดแล้ว ศาลก็จะไม่รับคำร้องดังกล่าว
“แต่ถ้าพบว่ามีการทุจริตหรือตุกติกในระดับล่าง หรือ กกต.จังหวัด หรือมีสิ่งยืนยันว่าการแบ่งเขตไม่ได้มาจากมติเอกฉันท์ของ กกต.ชุดใหญ่ ยกตัวอย่าง อาจมีคนร้องว่า กกต.ชุดเต็มจะต้องมี 7 คน แต่ในการพิจารณาอาจมีแค่ 5 คน อาจจะไม่ถูก ก็ไปร้องได้ เป็นต้น” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า หลายพรรคการเมืองไม่พอใจ จะนำไปสู่ความวุ่นวายหรือไม่ยอมรับกติกาเลือกตั้งหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรมีแบบนั้น และไม่ควรทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งออกมาแล้วพรรคการเมืองต่างๆ ก็สามารถพิจารณาจัดวางคนที่จะลงรับเลือกตั้งได้แล้ว
นายวิษณุเผยว่า การหารือระหว่าง คสช. กกต. และพรรคการเมือง ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ คสช.ได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ กกต.เป็นฝ่ายเชิญพรรคการเมืองมาร่วมพูดคุย ประเด็นที่จะพูดคุยกันนั้นเป็นเรื่องที่ คสช.เป็นผู้เตรียม ตนจะร่วมชี้แจงในระหว่างการหารือ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ คสช.จะชี้แจงรายละเอียดในลำดับต่อไป โดยการหารือจะเริ่มในเวลา 13.00 น. หลังจากวันที่ 11 ธ.ค.นี้ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ ทุกอย่างก็จะทยอยออกมาตามที่เคยชี้แจงไว้
จะไปรู้ได้อย่างไร
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเสียงวิจารณ์การแบ่งเขตเลือกตั้งเอื้อพรรคพลังประชารัฐว่า "โห จะไปรู้ได้อย่างไร"
เมื่อถามว่า นักการเมืองมองว่าไม่เป็นธรรม พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ต่างคนก็ต่างอยากได้" ถามถึงการเตรียมความพร้อมดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่เขตการเลือกตั้ง รองนายกฯ ตอบว่า ไม่ต้องเป็นห่วง ทุกอย่างเรียบร้อย
"คสช.ไม่ใช่คนไปแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่ได้เกี่ยวข้อง ยืนยันไม่ได้ไปก้าวก่ายการทำงานของ กกต. ถือเป็นเรื่องธรรมดาเขตที่ตัวเองอยากได้แต่ได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ร้อง มี 84 พรรค จะได้ทุกพรรคหรือไม่ก็เป็นไปไม่ได้"
รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่กลัว ไม่มีการบอยคอต พรรคที่ออกมาร้องมีเพียงไม่กี่พรรค ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนที่มีพรรคการเมืองไม่เข้าร่วมการหารือในวันที่ 7 ธันวาคมนั้น คงไม่กระทบกับแนวทางของ คสช.ที่ได้วางไว้ ถ้าไม่มาก็อย่ามา จะไปง้อทำไม
พล.อ.ประวิตรย้ำว่า อยากให้นายกฯ อยู่บริหารบ้านเมืองอีก 4 ปี เพราะท่านทำงานดี และทำในทุกเรื่องเพื่อประชาชนให้อยู่ดีกินดี ให้ทำอีก 4 ปี เผื่อทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ตอนนี้ก็ถือว่าประเทศดีขึ้นมากแล้ว
ขณะที่ฝ่ายการเมืองมีการแสดงความเห็นแย้งการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง โดยนายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และนายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล อดีต ส.ส.สุโขทัย ร่วมกันแถลงถึงกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมในจังหวัดสุโขทัยว่า เป็นไปตามแบบที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ตามระเบียบที่ กกต.วางไว้ ทั้งที่ได้ยื่นหนังสือให้ทบทวนแล้ว แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากมีนักการเมืองอาวุโสที่อยู่ในซีกรัฐบาลเข้าแทรกแซงพยายามผลักดันให้ใช้แบบที่ 4 ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่สับสนและได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น
ทั้งนี้ นายธนาได้นำรูปภาพแผนผังการแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ของจังหวัดสุโขทัย ที่มี 3 เขต โดยแบ่งตามภูมิศาสตร์และจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน และเป็นที่ยอมรับของทุกคน แต่การแบ่งเขตล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย. กกต.ได้แบ่งเขตของสุโขทัยเป็น 3 เขตก็จริง แต่ในเขตเลือกตั้งที่ 2 อยากถามว่ามีการแบ่งเขตที่อัปลักษณ์อย่างนี้หรือไม่ เพราะลักษณะการแบ่งเขตทอดยาวขึ้นไป และมีจุดติ่งซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อที่ไปเชื่อมต่อและมีภูเขา หากประชาชนจะเดินทางไปเขตเลือกตั้งจะทำให้ไม่สะดวก รวมทั้งไม่สะดวกกับเจ้าหน้าที่ กกต.จะควบคุมการเลือกตั้งอย่างไร
เก็บประชาชนทุกหมู่บ้าน
"การแบ่งเขตครั้งนี้สอดคล้องกับสิ่งที่เราเคยพูดว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลใช้วิธีการดึงตัวนักการเมืองเข้าพรรค ด้วยการบอกว่าสามารถขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งได้ตามต้องการ ดังนั้น จากปัญหาการแบ่งเขตที่เกิดขึ้น พบว่ามีหลายสิบจังหวัดที่มีปัญหาลักษณะเดียวกับสุโขทัย ทางพรรคจึงให้อดีตส.ส.แต่ละจังหวัดรวบรวมรายละเอียดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งจัดทำภาพประกอบว่าการแบ่งเขตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อรายงานให้พรรคทราบ เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดยโสธร เป็นต้น" นายธนากล่าว
ด้านนายสัมพันธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาพูดตลอดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องระวังใน 5 ข้อ ได้แก่ 1.พลังดูด 2.แบ่งเขตเลือกตั้ง 3.การพิมพ์บัตร 4.โกงการเลือกตั้ง ซึ่งจะบอกว่าหนักกว่าแบ่งเขตเลือกตั้ง พูดไว้เลย แม้กระทั่งในจังหวัดสุโขทัยการเรียกรวมตัว จ่ายเงินเต็มไปหมด ซึ่งต้องรีบทำเสร็จก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.บ.ส.ส.) จะประกาศใช้ในวันที่ 11ธ.ค.นี้ รวมทั้งมีการให้ผู้นำหมู่บ้านเก็บบัตรประชาชนของทุกบ้านทุกหลังคาเรือน โดยอ้างว่าจะนำไปทำบัตรประชารัฐหรือบัตรคนจน ถ้าใครไม่ให้ถือว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม และ 5.ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่อาจจะเอาคนของตัวเองเข้าไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่สุโขทัยและกาญจนบุรีก็พร้อมสู้ ประชาธิปัตย์เสียเปรียบมาหลายครั้งในการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญคือเป็นการตอกย้ำ เราไม่พยายามพัฒนาการเมือง และไม่ยกระดับการเมือง ยังคงอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ ที่อาศัยอำนาจใช้ความได้เปรียบ ขาดธรรมาภิบาลรุนแรง
เมื่อถามว่า เปรียบเทียบอำนาจรัฐปีนี้และปี 2548 เป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ในฐานะที่อยู่มาทั้ง 2 ยุค ต้องบอกว่าไม่ค่อยเห็นความแตกต่างเท่าไหร่ และเห็นว่าใครที่ไม่ทำตามหน้าที่ในที่สุดต้องรับผิดชอบ แต่กกต.ยุคนี้มีมาตรา 44 คุ้มครองอยู่ อาจทำให้มีความคิดว่าไม่เป็นไรก็ได้ ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ กกต.เป็นหลัก ไม่เช่นนั้นการเมืองไทยจะวนกลับสู่ภาวะวิกฤติ
ถามย้ำว่า จะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงว่า ฝ่ายกฎหมายคงต้องดูอีกทีว่ามีช่องทางหรือไม่ และถ้าไม่มีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 การแบ่งเขตลักษณะนี้น่าจะขัดกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ก็คงดำเนินการ แต่เมื่อมีมาตรา 44 คุ้มครองต้องดูช่องทางกันใหม่ เพราะในมาตรา 44 ระบุให้ถือว่าสิ่งที่ทำชอบด้วยกฎหมาย
เชื่อ พปชร.ไม่ได้เกิดที่อีสาน
นายวิฑูรย์ นามบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ในพื้นที่อีสานยังคงเป็นของพรรคเพื่อไทย เพราะไม่มีใครย้ายออกไป ส่วนที่ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็เป็นอดีต ส.ส.จากภาคอื่น ดังนั้น พปชร.ในภาคอีสานจะได้ ส.ส.น้อยมาก หรือเบียดไม่ได้เลย ทั้งนี้ พรรคที่จะได้หลักๆ คือพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคอื่นแทบมองไม่เห็นตัว และไม่เห็นว่า พปชร.จะได้ ส.ส.จากจังหวัดไหน
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งแรกของ กกต.ฉบับที่ประธาน กกต.ลงนามส่งให้ไปลงราชกิจจานุเบกษาที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ก่อน พรรคไหนฉีกทิ้งแล้วมีประกาศ คสช.ที่ 16/2561 ออกมาแทรกแซง กกต. จนมีประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งฉบับใหม่ ถามว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ทำเช่นนี้จะก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อ กกต.และสังคมในอนาคต กกต.และข้าราชการทุกกระทรวง ควรดูตัวอย่างกรณี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานกกต. ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกพร้อม กกต.ชุดดังกล่าวไว้เป็นอุทาหรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่
ที่พรรคไทยรักษาชาติ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค และนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ แถลงถึงแนวทางยุทธศาสตร์พรรค นายจาตุรนต์กล่าวว่า มีความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. เพื่อบริหารประเทศแบบเดิม จะทำให้ประเทศเสียหายต่อไปอีก เราต้องยับยั้งการสืบทอดอำนาจให้ได้ ไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และจะผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย นโยบายสำคัญที่พรรคจะผลักดันเป็นอันดับแรกคือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การใช้เทคโนโลยีให้ทันกับโลกสมัยใหม่ การแก้ปัญหายาเสพติด คอร์รัปชัน และความเป็นประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์กล่าวว่า การแบ่งเขตครั้งนี้ถือเป็นรอบสุดท้ายในการให้คุณให้โทษกับพรรคการเมืองก่อนการสรรหาผู้สมัครและการปลดล็อก ถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจที่สุด แม้จะไม่ได้เกิดกับเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ แต่เมื่อไปดูดนักการเมืองมาก็ประกาศว่ารัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อตัวเอง แล้วประกาศว่าจะได้ส.ส. 150 คน ทั้งๆ ที่เป็นพรรคตั้งใหม่ ถือเป็นการแบ่งเขตที่น่าอัปยศ เพราะบางอำเภอถูกแบ่งเป็น 4 เขต ไม่คำนึงถึงความรู้สึกประชาชน เป็นการสนองความต้องการของนักการเมืองและพรรคการเมืองบางพรรค เป็นการสร้างแผลเป็นให้กับ กกต.
ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า แม้กติกาจะไม่ยุติธรรมกับฝ่ายประชาธิปไตย แต่พรรคไทยรักษาชาติพร้อมสู้ทุกสถานการณ์ และขณะนี้พรรคเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง โดยประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรคที่จะเปิดให้สมาชิกแสดงความประสงค์ลงเลือกตั้งก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารต่อไป รวมถึงได้เตรียมการเกี่ยวกับคณะกรรมการอำนายการการเลือกตั้งของพรรคที่จะวางบุคลากรทำหน้าที่ต่างๆ ทั้งฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายนโยบาย ที่จะมีการแถลงกันต่อไปในภายหลัง
เพื่อไทยขอเวลาเพิ่ม
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คสช.จะต้องให้โอกาสนักการเมืองทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขตเลือกตั้งชนิดที่เกินความคาดหมายเช่นนี้ได้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องเขตเลือกตั้งที่แบ่งใหม่ด้วยตนเองให้ครบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกอำเภอโดยเร็ว จะรอให้ กกต.ดำเนินการฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ก็คงไม่มีเจ้าหน้าที่ครบทุกหมู่บ้าน และเขตใดที่มีพื้นที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ว่าที่ผู้สมัครฯ ก็จะได้พบปะ ทำความรู้จักกับประชาชนได้อย่างทั่วถึง จะรอให้ลงพื้นที่หาเสียงเพียงแค่ 40 วันมันน้อยเกินไป ควรจะเพิ่มวันให้มากกว่านี้
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การสร้างความได้เปรียบทางการเมืองที่น่าเกลียดแบบทุกวันนี้ไม่ได้หวั่นกลัว เราจะบอกพี่น้องประชาชน เมื่อปลดล็อกทางการเมือง เรายังไม่พูดว่าจะได้ ส.ส.เท่านั้นเท่านี้ จะบอกให้ประชาชนตัดสินใจว่าควรจะเลือกเราเพราะเหตุผลใด ไม่ว่าเขตเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร เพื่อไทยพร้อมที่จะสู้ในสนามเลือกตั้ง
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า พรรค ชทพ.ไม่มีปัญหาต่อเขตเลือกตั้งที่ประกาศ เนื่องจากไม่ว่าเขตเลือกตั้งจะออกมาเป็นลักษณะใด พรรคมีความพร้อมและเตรียมเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ที่เป็นพื้นที่หลักของพรรค
นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ อดีต ส.ส.สระบุรี พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า แม้เขตเลือกตั้งจะใหญ่ขึ้นแต่ในฐานะนักการเมืองต้องมีความพร้อม เปรียบเป็นนักรบไม่สามารถเลือกสนามรบได้ ต้องพร้อมทำงานในพื้นที่ที่มีการแบ่งออกมา แต่ก็อยากติงว่าบางพื้นที่ไม่ควรที่จะแบ่งเขตแบบข้ามเขต ซึ่งสร้างความลำบากให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะบางพื้นที่มีการนำตะเข็บชายแดนไปรวมกับเขตในเมืองแม้ระยะทางไม่ไกลกันแต่การคมนาคมยังเข้าไม่ถึงการไปลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้งของประชาชนอาจจะประสบปัญหาได้
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ เพราะเดินเข้าหาประชาชน ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะไม่เห็นมีทหารมาสมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐสักคน มีแต่พรรคอื่นที่มีอดีตรอง ผบ.สส.มาสมัคร นายกฯ จึงไม่ได้เป็นเผด็จการ แต่เป็นคนกลางที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ประเทศ ตนไม่อยากเห็นเสื้อแดงเสื้อเหลืองออกมากันอีกแล้ว
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า บรรยากาศแบบนี้ ที่ดูวุ่นวายตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเป็นทางการ ทำให้นึกถึงระเบิดเวลาใหญ่อีก 3 ลูกว่าจะวุ่นวายลามไปถึงขั้นกระทบการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้าหรือไม่ ระเบิดเวลาลูกที่หนึ่งคือการประชุม คสช. และพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาปลดล็อกในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ จะมีประเด็นขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่ เงื่อนไขในการปลดล็อกรับกันได้หรือไม่ และปลดล็อกมีวาระแอบแฝงหรือเข้าทางใครหรือไม่ระเบิดเวลาลูกที่สอง พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งจะประกาศออกมาเมื่อไหร่ อย่างไร และจะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ อย่างไร ระเบิดเวลาลูกที่สาม พรรคเล็กหลายสิบพรรคที่ตกน้ำไปเพราะไม่สามารถหาผู้สมัครได้ทันเงื่อนไขวันที่ 26 พฤศจิกายนและหลาย 10 พรรค กกต.ยังไม่ประกาศรับรองความเป็นพรรค คนกลุ่มนี้จะเคลื่อนไหวแบบไหน อย่างไร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |