"บิ๊กตู่" แจง "ไทยนิยม" เสริมสร้างความเข้มแข็งสังคม-ศก. ไม่ได้หวังผลประโยชน์เอื้อรัฐบาล มุ่งขับเคลื่อนประชารัฐในพื้นที่ ให้ประชาชนมีรายได้พอเพียง ธ.ก.ส.ผุด 2 โครงการสินเชื่อช่วยชาวสวนยาง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า อยากจะบอกว่าการขับเคลื่อนด้วยหลักคิดไทยนิยมนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งในมิติสังคม ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเข้มแข็งในมิติเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ปัญหาความยากจนของประเทศที่ผ่านๆ มามีปัญหาหลัก 2 ประการ คือ 1.การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่อาจจะละเลยในเรื่องการพัฒนาทางสังคมไปด้วย และ 2.การแก้ปัญหาที่ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งจนไม่รู้ว่าอะไรคือความจน ไม่รู้ว่าใครบ้างที่จนจริง คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ปัญหาของเขาคืออะไรกันแน่ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
"มาตรการต่างๆ หรือนโยบายสาธารณะที่ออกมาอาจจะเป็นลักษณะเหมารวม หว่านแห เน้นสูตรสำเร็จที่ไม่มีจริง ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่แตกต่างของแต่ละครัวเรือนได้ นำไปสู่การใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ บางครั้งเลยเถิดไปสร้างกระแสประชานิยมที่ผิดๆ ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ สำหรับโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น ขอย้ำและทำความเข้าใจอีกครั้งว่า รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังเพื่อผลประโยชน์อื่นใดกับรัฐบาลเลย แต่เป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
ทั้งนี้ รัฐบาลจัดทำโครงสร้างการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติขับเคลื่อน และระดับพื้นที่ เพื่อจะขับเคลื่อน และสร้างการรับรู้ถึงงานและนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (กขป.) และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป สัญญาประชาคม หน้าที่พลเมือง ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมายังขาดกลไกขับเคลื่อนสำคัญในระดับพื้นที่ โดยจะต้องมีทั้งท้องถิ่น ในพื้นที่ นอกจากนั้นเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการในพื้นที่ของทุกกระทรวง ที่ต้องเข้าใจงานในลักษณะบูรณาการ ทั้งการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ ต้องรู้งานของคนอื่นด้วย จะต้องสร้างการรับรู้ สร้างความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องให้ประชาชนได้เข้าใจ จะได้เกิดความร่วมมือในลักษณะประชารัฐได้ชัดเจนขึ้นในระดับพื้นที่ ซึ่งจะต้องนำงบประมาณ ทั้งงบรายจ่ายประจำ งบงานนโยบาย งบเพิ่มกลางปี หรืองบอื่นๆ มาทำให้เกิดการประสานสอดคล้องกันให้ได้ในทุกพื้นที่ เพื่อช่วยให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ประชาชนได้รับประโยชน์โดยแท้จริง และรวดเร็วทันการณ์
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจะต้องมีการทำประชาคมหมู่บ้าน ความต้องการอะไรต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ขอให้เข้าใจร่วมมือกันในระดับพื้นที่ด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่โครงการที่รัฐบาลจะกำหนดลงไป อยากให้เป็นการทำงานสองทาง ข้างบนกำหนดแนวนโยบายลงไป ข้างล่างหาแนวทางในการปฏิบัติ โดยเกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในเรื่องสำคัญ ได้แก่ เรื่องน้ำ เกษตร ท่องเที่ยว บริการ ค้าขาย อาชีพอิสระ โดยต้องไปดูแลให้ถึงครัวเรือนถึงพื้นที่ เพื่อจะได้มีรายได้ที่พอใช้อย่างยั่งยืน
ทางด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการ โดยตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.2563 คิดดอกเบี้ย MLR-1 ปัจจุบันเท่ากับ 4% โดยรัฐบาลรับดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร 3% สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยเพียง 1% กำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 6,200 ล้านบาท
ส่วนอีกโครงการเป็นโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรกู้เพื่อเป็นค่าลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนในการแปรรูปยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าเป้าหมายการจ่ายเงินกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ส.ค.2567 โดยเงินกู้ค่าลงทุนคิดดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ลบ 1.5 ปัจจุบัน เท่ากับ 3.5% โดยรัฐบาลช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร 3% โดยกองทุนพัฒนาสหกรณ์และรัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ยอีก 0.49 % สถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา 0.01% เท่านั้น กำหนดชำระคืนเป็นรายงวด ภายในเดือน ส.ค.2567
สำหรับผู้ประกอบกิจการยางพารา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการไปดูดซับยางพาราออกจากระบบ นำมาเก็บในสต๊อกของผู้ประกอบการในลักษณะหมุนเวียน โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้กู้ 3% ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในโครงการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำหนด ผู้ประกอบกิจการยางพาราที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการได้ที่การยางแห่งประเทศไทย
“มาตรการเหล่านี้มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือ ด้านราคาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการสหกรณ์ให้สถาบันเกษตรกร เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนกลไกตลาดให้ทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว ให้เกิดความยั่งยืนต่อไปด้วย” นายอภิรมย์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |