ผู้โดยสารม้าเหล็กเตรียมหนาว เปิดแผนฟื้นฟู รฟท. เล็งเก็บค่าแรกเข้า 10 บาท พ่วงขึ้นค่าโดยสารอีก 50% อ้างกว่า 30 ปีไม่มีขยับ ราคายังถูกกว่ารถเมล์เสียอีก “สมคิด” ลั่นขึ้นราคาต้องมาพร้อมบริการที่ดีขึ้น
เมื่อวันศุกร์ มีรายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งถึงแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายการกำหนดราคายุติธรรม ของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูจะมีการกำหนดโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ โดยเก็บค่าแรกเข้าใช้บริการ เช่นเดียวกับการจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าใต้ดินในอัตรา 10 บาท จากเดิมที่ไม่เคยเก็บมาก่อน ซึ่งค่าแรกเข้า 10 บาทนั้น คิดเป็น 67% ของค่าแรกเข้าเฉลี่ยของระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งทางน้ำ ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้นจะปรับเพิ่มราคาขึ้นอีก 50% ตามระยะทาง ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างค่าโดยสารใหม่ของรถไฟชั้น 3 ระยะทาง 0-100 กิโลเมตร (กม.) เท่ากับ 0.323 บาทต่อ กม. และทำให้รายได้จากค่าโดยสารของ รฟท.เพิ่มขึ้น 30%
“ที่ต้องปรับอัตราค่าโดยสารนั้น เพราะ รฟท.ไม่ได้มีการปรับมาตั้งแต่ปี 2528 หรือกว่า 30 ปีแล้ว ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ มีการปรับราคาไปหมดแล้ว ส่งผลให้การรถไฟฯ มีภาระหนี้สิน ณ วันที่ 30 ก.ย.2560 ถึง 120,374 ล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ของแอร์พอร์ตลิงก์” รายงานระบุ
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปรับขึ้นค่าโดยสารของ รฟท.ว่า ได้ให้ผู้บริหาร รฟท.ไปดูรายละเอียดชัดเจนว่าต้องปรับขึ้นเมื่อไร เพราะ รฟท.ไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ต้องสอดคล้องกับการปรับปรุงการให้บริการที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายคณะกรรมการและผู้บริหาร รฟท. ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม, นายไพรินทร์ และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ให้ร่วมหารือเพื่อเร่งขับเคลื่อนองค์กรนำพัฒนาระบบรางของประเทศ มีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าและเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการพัฒนาระบบรางเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเห็นผลเป็นรูปธรรม
นายอาคมกล่าวประเด็นนี้ว่า การปรับขึ้นค่าโดยสาร หากมีการพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดี สะดวก ก็คงไม่มีปัญหา เพราะในกรณีของขบวนรถใหม่ที่นำมาให้บริการอยู่ในปัจจุบันก็ปรับขึ้นค่าโดยสารเช่นเดียวกัน ซึ่งทุกคนก็สามารถยอมรับได้
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างศึกษาค่าโดยสารที่เหมาะสม ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปรับเท่าไหร่ โดยหากปรับจริงอาจต้องรอให้การก่อสร้างรถไฟทางคู่เสร็จ และนำรถใหม่มาให้บริการก่อน ซึ่งอาจจะประมาณปี 2563
นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า รถไฟใช้อัตราค่าโดยสารเดิมมานานมาก และเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง โดยวางแผนไว้ว่า ในช่วง 6 เดือน จะต้องปรับปรุงด้านการให้บริการ โดยเฉพาะขบวนรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 148 ขบวน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 500-600 ขบวน โดยขณะนี้กำลังเร่งทยอยปรับปรุงซ่อมแซมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น และหลังจากนั้นก็ต้องขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ การจัดซื้อขบวนรถใหม่ รวมถึงหัวรถจักร
"การพัฒนารถไฟจะต้องทำควบคู่กันไปหากต้องการปรับขึ้นค่าโดยสาร โดยยอมรับว่าอัตราค่าโดยสารปัจจุบันต่ำ เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา คิดอัตรา 13 บาท หรือกรุงเทพฯ-บางซื่อ คิดอัตรา 2 บาท เป็นต้น หากเทียบกับรถเมล์ร้อนราคา 6.05 บาทต่อคน ยังจัดเก็บที่อัตราสูงกว่ารถไฟ" นายทนงศักดิ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |