แบ่งเขตตามใบสั่ง! 4พรรคโวยเอาเปรียบ/กกต.เผยบางจว.ปรับใหม่


เพิ่มเพื่อน    

    ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 77 จังหวัด 350 เขต "กกต." ยันยึดตามเสียงประชาชน ยอมรับบางจังหวัดปรับใหม่ ไม่ได้ใช้ทั้ง 4 รูปแบบที่วางไว้ ปัดเอกสารหลุดก่อนไม่ได้มาจากสำนักงาน ชี้นักการเมืองต้องยอมรับผลกระทบ "ทษช.-พท.-พพช.-ปชป." ประสานเสียงโวยลั่น ซัดทำเอาใจผู้มีอำนาจ เอาเปรียบกันจนนาทีสุดท้าย "ภท.-ชทพ." บอกรับได้ใช้นโยบายหาเสียงสู้ "สมชัย" จี้ กกต.ต้องโปร่งใส ทำให้สังคมยอมรับ
    เมื่อวันที่ 29 พ.ย.61 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 77 จังหวัด จำนวน 350 เขตเลือกตั้ง  ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
    เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า กกต.ได้มีมติในการพิจารณาการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 54/2561 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2561 ถึงครั้งที่ 62/2561 เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561 ครั้งที่ 63/2561 เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2561 ครั้งที่ 67/2561 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 และครั้งที่ 68/2561 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 เห็นชอบให้มีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 350 เขตเลือกตั้ง จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 ก.ย.2561 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 16 พ.ย.2561 ประกาศเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ทราบทั่วกัน
    สำหรับการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 350 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็นจังหวัดที่มี 1 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดตราด นครนายก พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และอ่างทอง, จังหวัดที่มี 2 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชัยนาท บึงกาฬ แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร ลำพูน สตูล อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และจันทบุรี, จังหวัดที่มี 3 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดชุมพร ตรัง ตาก น่าน ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี ยโสธร ยะลา เลย สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย หนองคาย และหนองบัวลำภู
    จังหวัดที่มี 4 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา นครพนม นราธิวาส ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ลพบุรี ลำปาง และสุพรรณบุรี, จังหวัดที่มี 5 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ นครปฐม พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม และราชบุรี, จังหวัดที่มี 6 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี สกลนคร และสุราษฎร์ธานี, จังหวัดที่มี 7 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ และสุรินทร์, จังหวัดที่มี 8 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี นครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลา และอุดรธานี
    จังหวัดที่มี 9 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดที่มี 10 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี, จังหวัดที่มี 14 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดที่มี 30 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (รายละเอียดอ่านหน้า 4)
    นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. แถลงถึงการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งรอบแรก กกต.ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 แต่ระหว่างรอการประกาศราชกิจจานุเบกษา หัวหน้า คสช.ก็มีคำสั่งที่ 16/2561 จึงมีการเปิดรับฟังข้อร้องเรียน ซึ่งพบว่ามีการร้องเรียนเข้ามาใน 33 จังหวัด 98 คำร้อง แบ่งเป็นภาคกลาง 19 คำร้อง ภาคเหนือ 21 คำร้อง ภาคอีสาน 52 คำร้อง ภาคใต้ 6 คำร้อง โดยได้มีการพิจารณาคำร้องแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 พ.ย. และเห็นชอบให้มีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย. และประกาศราชกิจจาฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 พ.ย. 
ชี้ยึด ปปช.เป็นหลัก
    "การพิจารณาของ กกต.เป็นไปตามมาตรา 27 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ให้รวมพื้นที่อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง คำนึงพื้นที่ติดต่อใกล้ชิดกัน คมนาคมสะดวก และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และหลังสิ้นสุดการรับคำร้องในวันที่ 25 พ.ย. ก็มีข้อร้องเรียนเพิ่มมาอีก 11 คำร้อง กกต.ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นการวิจารณ์ที่ไม่ได้มีการเสนอรูปแบบแบ่งเขตที่เหมาะสม จึงให้ยุติเรื่อง จากนี้ไปก็จะเป็นการเตรียมบุคลากร ซึ่งก็จะมีการเปิดรับสมัครผู้อำนวยการ และ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า" นายณัฏฐ์กล่าว 
    รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งจะประกาศสถานที่รับสมัครหลัง กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัคร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนม.ค.62 โดยทุกอย่างจะมีความชัดเจนหลังการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 7 ธ.ค. กระบวนจากนี้จึงไม่สะดุด เดินหน้าเต็มที่
    "การแบ่งเขตของ กกต. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ก่อนหน้านี้ก็เป็นไปตามกฎหมาย และเมื่อมีข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นประโยชน์และบางครั้งดีกว่า กกต.ก็ปรับปรุง การพิจารณาเป็นลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ผลที่ได้กลับมากระทบใครบ้างฝ่ายการเมืองต้องยอมรับ เพราะการแบ่งเขตแบบเดิมไม่มีการกำหนดจำนวน ส.ส.ในสภา แต่กำหนดจำนวนประชากรต่อจำนวน ส.ส. ก็จะทำให้จำนวน ส.ส.ไม่แน่นอน ซึ่งนักการเมืองทราบดี และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้" รองเลขาฯ กกต.กล่าว
    นายณัฏฐ์กล่าวว่า การพิจารณาแบ่งเขตของ กกต.ในรอบแรก เป็นการรับฟังใน 3 รูปแบบ ผอ.กกต.จว.มีสิทธิที่จะปรับปรุงนอกเหนือจาก 3 รูปแบบได้ และ กกต.เห็นว่าอำนาจการแบ่งเขตเป็นของ กกต. จึงได้สั่งให้มีการทำรูปแบบที่ 4 แต่ก็มีที่ กกต.ไม่ได้เลือก และในบางจังหวัดก็มีการปรับโดยไม่ยึดทั้ง 4 รูปแบบ ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าบางจังหวัดซอยอำเภอเป็น 3 เขตเลือกตั้งนั้น จะมีเฉพาะอำเภอเมืองของจังหวัดใหญ่ที่มีประชากรมาก แต่จะไม่พบในอำเภอรอง เพราะ กกต.ก็ฟังที่ประชาชนร้องเรียนว่าถ้าตำบลต้องถูกแบ่งออกไปจะทำให้อำนาจต่อกับฝ่ายการเมืองลดลงไป และถูกละเลยจากฝ่ายการเมือง 
    "ที่ 54 จังหวัดไม่มีการเพิ่มลดของจำนวน ส.ส. แต่กลับมีการแบ่งเขตนั้น ก็เกิดจากการย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชน อย่างในบางจังหวัดของภาคใต้ เมื่อไปดูประชากรหายไปถึง 6 หมื่นคน เพราะคำนึงเรื่องความปลอดภัยของตัวเองจึงย้ายเข้ามา ก็ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ หรืออย่างกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ประชากรกระจุกตัวอยู่บางจุด ขณะที่บางพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ประชากรอยู่กันกระจาย ซึ่งทำให้เกิดการได้เปรียบในการหาเสียงและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการแบ่งเขตครั้งนี้ทำตามความเหมาะสมของพื้นที่ ภูมิภาค และจังหวัดจริงๆคล้ายกับการตัดเสื้อให้ตรงตามรูปแบบของแต่ละจังหวัด" นายณัฏฐ์กล่าว
    ถามว่า มีหลายฝ่ายข้องใจเรื่องเอกสารการแบ่งเขตหลุดออกมาก่อนราชกิจจานุเบกษาประกาศ รองเลขาฯ กกต.กล่าวว่า การที่มีเอกสารแบ่งเขตหลุดก่อนมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ใช่สิ่งที่สำนักงานต้องกังวล เพราะในการดำเนินการจำกัดคนทำงาน จึงเชื่อว่าไม่ได้หลุดจากสำนักงาน กกต.อย่างแน่นอน และไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องไปดำเนินการกับใครที่เกี่ยวข้องกับเอกสารหลุด เพราะขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ประเทศกำลังเดินไปสู่การเลือกตั้ง เราควรที่จะช่วยกันประคับประคองเพื่อให้ไปสู่การเลือกตั้ง
    ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ Chaturon Chaisang ระบุว่า วันก่อนได้ยินมาว่าการแบ่งเขตล่าสุดเป็นไปตามข้อเสนอของผู้สมัครหลายคนแบบขอยังไงได้ยังงั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีฐานจากความคิดเห็นของประชาชนชนเลย ผมก็เลยขอให้ความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นสักหน่อยครับ
โวยแบ่งเขตตามใบสั่ง
    "การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนหน้านี้มีการรับฟังความเห็นประชาชนให้ใครมาเสนอความเห็นได้เต็มที่จนได้ข้อสรุปไปแล้ว แต่การแบ่งเขตครั้งสุดท้ายคนทั่วไปไม่รับรู้ด้วย คนไม่กี่คนเสนอผ่านช่องทางพิเศษกันมา และก็ได้ผลตามนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ เรียกว่าเอาเปรียบกันจนนาทีสุดท้าย คำสั่ง คสช.เรื่องการแบ่งเขต ต้องการให้คุณให้โทษกับผู้สมัคร โดยเฉพาะผู้ที่ร้องผ่านรัฐบาลและ คสช.ย่อมได้ประโยชน์ ใครเป็นคู่แข่งก็ต้องเสียเปรียบ แต่จะขยับขยายก็ไม่ได้แล้ว การเอาเปรียบกันนี้เมื่อ กกต.ทำให้ แม้ไม่ชอบธรรม แต่ก็ไม่ผิดกฎหมายใดๆ เพราะคำสั่ง คสช.บอกว่าทำอะไรก็ชอบด้วยกฎหมายไปหมด" นายจาตุรนต์ระบุ
    ส่วนนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งบางจังหวัดเป็นการทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ขณะที่บางจังหวัดก็ไม่มีปัญหา ซึ่ง กกต.ไปพลาดตรงที่ไม่รีบประกาศตั้งแต่แรก พออำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาปัญหาก็เลยเกิด สุดท้ายคือการเอาเปรียบทางการเมืองจนเกิดเหตุของบางพรรคการเมือง ทำให้ กกต.ซึ่งวางตัวเป็นกลางเสียหายไปด้วย คนเริ่มที่จะไม่เชื่อมั่น ดังนั้น กกต.ต้องเร่งกู้ชื่อกลับคืนมา โดยดูแลการเลือกตั้งให้ตรงไปตรงมา อย่าเข้าข้างใคร ต้องสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาใหม่ว่า กกต.ไม่ได้อยู่ภายใต้เงาของ คสช.
    นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ได้เห็นประกาศดังกล่าว และได้ทำการสอบถามไปยังอดีต ส.ส.ภาคเหนือหลายคน พบมีเฉพาะ จ.สุโขทัยเท่านั้นที่มีการแบ่งเขตแบบพิสดารมากหน่อย ทราบมาว่าการแบ่งเขตนี้ได้ผ่าฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยให้อดีต ส.ส.ต้องไปอยู่เขตอื่น อย่างไรก็ตาม อดีต ส.ส.ในพื้นที่ยืนยันว่าคงไม่มีปัญหา มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่มีอะไร และในส่วนภาคอีสาน เช่น จ.นครราชสีมา จากที่คาดการณ์ว่าจะแบ่งเขตออกเป็น 4 ส่วน แต่ปรากฏว่าแบ่งเป็น 2 ส่วน ก็ถือว่ายังดีกว่าแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เคยเห็น
    "จริงๆ เราไม่ได้พูดถึงความเสียเปรียบได้เปรียบ เพราะเชื่อว่ามีประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่อยากให้ กกต.ทำงานด้วยการเป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกแทรกแซง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากที่เราพยายามขอให้ กกต.พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ถือว่ายังสามารถคาดหวังกับ กกต.ชุดนี้ได้ จากที่ตอนแรกกลัวจะเละเทะมากกว่า โดยหลายจังหวัดยังแบ่งเขตตามที่ กกต.จังหวัดส่งมา ในภาพรวมถือว่าเรารับได้" อดีต ส.ส.เชียงรายพรรคเพื่อไทยกล่าว
    เช่นเดียวกับนายธีระพงษ์ เผ่ากา รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ (พพช.) กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้เอาเปรียบจนนาทีสุดท้าย เพราะเห็นได้ชัดว่าแบ่งพื้นที่ไม่เท่ากัน แม้จะอ้างว่ายึดจำนวนประชากร แต่พื้นที่ไม่ติดต่อกัน อีกทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ฟังเสียงของคนสองสามคน และเห็นว่ามีนักการเมืองบางกลุ่มที่ได้เปรียบ เพราะเอื้อให้กับผู้สมัครในพื้นที่ของพรรคการเมืองบางกลุ่ม นอกจากนี้ยังทำให้ผู้สมัครที่อยู่ในพื้นที่นั้นโต้แย้งไม่ได้ ส่งผลให้พรรคเพื่อชาติต้องปรับยุทธศาสตร์อีกมากสำหรับการเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง
    "ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกถ้าไม่พอใจการแบ่งเขตให้ฟ้องศาลปกครองนั้น แต่ก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะติดมาตรา 44 และคำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 ซึ่งนายวิษณุต้องรับผิดชอบคำพูดดังกล่าวในฐานะเป็นมือกฎหมายของ คสช. โดยหลังจากนี้ พรรคจะปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมายเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งต่อไป" รองโฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าว
    ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล อดีต ส.ส.สุโขทัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแบ่งเขตที่ออกมาใน จ.สุโขทัย เป็นแบบที่ 4 ทั้งที่เดิม กกต.จังหวัดจัดทำไว้ทั้ง 3 แบบ โดยผ่านความคิดเห็นทั้ง 3 แบบเป็นที่เรียบร้อย แต่กลับมีนักการเมืองอาวุโส ซึ่งอยู่ในซีกรัฐบาลปัจจุบันได้ส่งแบบที่ 4 แบบลับๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากจังหวัดเลย และสุดท้ายก็ออกมาในแบบที่ 4 ตามนักการเมืองอาวุโสเสนอ  ทั้งที่ได้มีการท้วงติงการแบ่งเขตแล้วว่าขอให้ กกต.ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เที่ยงธรรมทุกฝ่าย แต่ตอนนี้ผลออกมากลับเป็นแบบที่ไม่ได้ผ่าน กกต.ของจังหวัดเลย
สมชัยจี้ กกต.ต้องโปร่งใส 
    "เรื่องนี้ชาวบ้านเรียกว่าการแบ่งเขตแบบพิสดาร บอกได้เลยว่า จ.สุโขทัย กกต.หมดความชอบธรรม ไม่ สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ อยู่ใต้อาณัติ คสช. อนาคตการเลือกตั้งจะไม่มีคำว่าโปร่งใส ยุติธรรม เพราะเขาสามรถทำทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มา คือ 1.ดูดทุกภาค ทุกพรรค 2.แบ่งเขตให้ตนเองได้เปรียบ 3 โกงการเลือกตั้ง ใช้อำนาจเงินซื้อผู้นำ ซื้อชาวบ้าน ซื้อ อสม. และได้มีการกระทำแล้วใน จ.สุโขทัย ทำกันอย่างครึกโครมโดยไม่มีความละอายแก่ใจ และ 4.เรื่องการโกงบัตรเลือกตั้ง เพราะแต่ละเขตจะมีเบอร์ไม่เหมือนกัน และการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีพรรคการเมืองลงสนามที่เรียกว่าพรรคชั้นนำไม่ต่ำกว่า 10-15 พรรคต่อเขต และปัจจุบันใช้ให้ผู้ใหญ่บ้านไปเก็บบัตรประชาชนทุกหลังคาบ้าน ทั้งคนมีและคนจน มาทำบัตรคนจนให้ ซึ่งคนสุโขทัยบอกว่าไม่เป็นไร ในเมื่อเขาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตอย่างนี้ เขาจะสั่งสอนให้รู้ตอนเข้าไปกาบัตรเลือกผู้แทน" อดีต ส.ส.สุโขทัยพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 
    นายสรรเสริญ สมะลาภา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแล กทม. กล่าวว่า การแบ่งเขตที่ออกมาเป็นแบบที่ 1 แต่ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำเตรียมไว้ทั้ง 4 แบบ โดยจัดคนไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งในส่วนของพื้นที่กทม. จากเดิมมี 33 เขต ลดเหลือ 30 เขต บางพื้นที่ก็ถูกรวมกับพื้นที่อื่น ทำให้การจัดคนลงสมัครยุ่งยากขึ้น เพราะจำนวนเขตลดลง คนที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่ได้ลง ซึ่งตามหลักก็ต้องยึด ส.ส.เดิม ส่วนผู้ที่ไม่ได้ลงเขตก็จะต้องขึ้นบัญชีรายชื่อ โดยเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด
    ถามว่า พื้นที่ กทม.มีการแบ่งเขตเหมือนต้องการช่วยเหลือบางพรรคการเมือง เช่น เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ ที่แบ่งเขตดุสิต บางส่วนที่มีทหารอาศัยอยู่เข้าไปด้วย นายสรรเสริญกล่าวว่า ตนไม่อยากบอกว่าเป็นการจงใจหรือไม่ เพราะเขาจัดตามจำนวนประชากร และต้องดูที่ตัวคนลงสมัครด้วย ซึ่งของพรรคประชาธิปัตย์คือนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ อดีต ส.ส.เขตนี้ เราเชื่อว่านางเจิมมาศเอาอยู่ 
    อย่างไรก็ดี ในส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การแบ่งเขตของ กกต.โดยรวมแล้วพรรคภูมิใจไทยเรายอมรับได้ เพราะเราไม่ได้เอาเรื่องพื้นที่ทั้งหมดมาเป็นตัวตั้ง ไม่ว่า กกต.จะขยับเขตอย่างไร แต่ภาพรวมเห็นว่ายังเป็นเขตเลือกตั้งที่เราสามารถทำงานได้อยู่ พรรคภูมิใจไทยเราไม่ได้มีปัญหา 
    "แน่นอนอาจจะมีผู้สมัครเขตที่มีผลกระทบอยู่ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องหลัก เราเน้นนำเสนอนโยบายเป็นหลัก ส่วนตัวผู้สมัครจะขยับจากเขตไหนไปเขตไหนก็ไม่ใช่ปัญหา หรือจะมีเขตไหนแหว่งไป เรามีตัวผู้สมัครมาเสริมอยู่แล้ว ไม่มีผลกระทบอะไร เพราะหากไม่ได้ ส.ส.เขต เราก็ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ" นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทยกล่าว
    นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรค ก็กล่าวว่า ขอบคุณ กกต.ที่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และเร็วกว่าที่คาดการณ์ ส่วนการตรวจสอบรายละเอียดของการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ว่าจะมีปัญหาและกระทบต่อบุคคลที่พรรคจะส่งสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตหรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอให้ผู้ที่แสดงเจตจำนงลงเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่แจ้งรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนการประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครที่มีนายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค เป็นประธานสรรหาฯ นั้น คาดว่าจะนัดประชุมภายในสัปดาห์หน้า
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง กกต.ต้องโปร่งใส และทำให้สังคมยอมรับ โดยเนื้อหาตอนหนึ่งได้ตั้งคำถาม กกต.ต้องตอบสังคมว่า 1.เอกสารการแบ่งเบตเลือกตั้งหลุดออกมาสู่สื่อได้อย่างไร เพราะการแบ่งเขตที่พรรคการเมืองบางพรรคได้รู้ก่อน ย่อมเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง 2.กกต.ใช้เวลาวันใดเวลาใด มีกระบวนการขั้นตอนกลั่นกรองอย่างไร จึงสามารถแจ้งรองนายกรัฐมนตรีว่าแบ่งเขตเรียบร้อยในวันที่ 27 พ.ย.61 และ 3.ถ้าให้เกิดความโปร่งใสว่าการแบ่งเขตไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาล หรือ คสช. ขอให้ กกต.เปิดเผย เฉพาะคำร้องที่ผ่าน ครม.และ คสช. ว่ามีจำนวนกี่เรื่อง ยื่นโดยใคร ยื่นมาเมื่อใด และมีสาระอย่างไร เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับผลการแบ่งเขตที่ประกาศโดย กกต.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"