จ่อออกหมายรอบ2ก๊วนอยากเลือกตั้ง!


เพิ่มเพื่อน    

  39 ม็อบสกายวอล์กเลื่อนพบพนักงานสอบสวน อ้างตำรวจขู่ฝากขังทันทีไปยื่นประกันตัวที่ศาลเอาเอง ผวาต้องนอนมุ้งสายบัวเพราะติดเสาร์-อาทิตย์ "ศรีวราห์" ยัวะ! การสอบสวนไม่ใช่ทริปไปเที่ยว จ่อออกหมายเรียกอีกรอบ "มาร์ค" บ่นพึมไม่สนเลื่อนเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์อยู่มา 70 ปี ใครเอารัดเอาเปรียบไม่เห็นอยู่ได้นาน สุดท้ายมีอันเป็นไป  

    ที่ สน.ปทุมวัน ช่วงเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรึงพื้นที่บริเวณด้านหน้า สน. ภายหลังผู้ชุมนุมกลุ่มเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งจำนวน 39 คน จะเดินทางเข้ามารับหมายเรียกข้อหาผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะในเวลา 10.00 น. เนื่องจากปรากฏตัวบริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวัน ระหว่างมีกิจกรรมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมป
    ทั้งนี้ นายจิระศักดิ์ บุณณะ, นายกัณต์พัศฐ์ สิงห์ทอง, นายสุรวุฒิ ประสิทธิ์ประสาท และนายศุภวัส ทักษิณ ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ได้เดินทางมาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย
    น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ ระบุว่า ตำรวจ สน.ปทุมวันได้แจ้งกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะมีการควบคุมตัวบุคคลที่มาตามหมายเรียก ขอศาลแขวงปทุมวันฝากขังทันทีโดยจะให้ยื่นประกันที่ศาลเอง และเกรงว่าจะไม่ทันเวลาเนื่องจากติดกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องติดอยู่ในเรือนจำ 2 วัน ในที่ประชุมจึงมีมติว่าให้เลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00 น.
    เธอบอกว่า หากจะมีการประชุมหรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ กลุ่มชุมนุมที่ออกหมายเรียกก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามปกติ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุว่าห้ามชุมนุมหรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
    ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม แกนนำในการชุมนุม ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "วันนี้ผมคงไม่ได้ไป สน.ปทุมวันครับ เนื่องจากว่าไม่สะดวกในวันนี้ ด้วยเหตุที่ระยะเวลาที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำหนดมากระชั้นมาก ผมเลยตั้งใจว่าจะเลื่อนการพบพนักสอบสวนเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลา 18.00 ครับ หวังว่าจะได้เจอกันวันนั้น"
    ด้าน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือทนายโบว์ ได้ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อหาเป็นวันที่ 14 ก.พ. ด้านนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ได้ขอเลื่อนมารับทราบข้อหาเป็นวันที่ 17 ก.พ.นี้ 
ไม่ใช่ทริปท่องเที่ยว
    พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันได้เรียกให้กลุ่มดังกล่าวมารับทราบข้อกล่าวหา แต่เบื้องต้นทราบว่ายังไม่มีใครมารับทราบข้อกล่าวหาเลย ส่วนจะเลื่อนการเข้ารับทราบข้อหาต้องมีเหตุผล นี่คือการสอบสวน ไม่ใช่ทริปไปเที่ยว ในจำนวน 39 คน ถูกดำเนินคดี ม.116 จำนวน 7 คน และอยู่ระหว่างสั่งการให้ดำเนินการ ม.116 อีก 2 ราย ส่วนอีก 66 คน อยู่ระหว่างให้ตำรวจสันติบาลตรวจสอบถิ่นที่อยู่ เลขประชาชน 13 หลัก อีก 66 คน เมื่อสันติบาลรายงานมาก็จะนำเข้าสำนวน ส่วนที่ยังไม่เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ปกติแนวทางการปฏิบัติก็ออกหมายเรียก 2 ครั้ง ปฏิบัติไปตามปกติ ไม่มีอะไรพิเศษ หลังจากนี้จะเดินทางไปที่ สน.ปทุมวันเพื่อติดตามสำนวนดังกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์พบกลุ่มผู้ชุมนุมมีท่อน้ำเลี้ยงหลายกลุ่ม การสอบสวนของเจ้าหน้าที่พบข้อมูลหรือไม่ แล้วเข้าข่ายการฟอกเงินไหม รอง ผบ.ตร.ตอบว่า ให้สำนวนเขาว่าไป พวกนี้ต้องให้ ปปง.เขาไปทำรายงานมาแล้วติดสำนวน ได้ประสาน ปปง.ไปแล้ว เพราะหลักฐาน ปปง.ต้องรวบรวมก่อนส่งพนักงานสอบสวน จะเป็นกลุ่มใดอยู่ในสำนวนเปิดเผยไม่ได้ แต่ถ้ามีหลักฐานชัดเจนก็ต้องดำเนินคดี 
    ส่วนจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ฟอกเงินหรือไม่ต้องขอดูก่อน เพราะชั้นนี้ยังไม่มี ยังไม่ได้กล่าวหา แต่จะรับปากว่าไม่กล่าวหาเลยก็ไม่ได้ ถ้าหลักฐานพาดพิงเข้าข่ายก็ต้องดำเนินการ ก็เป็นหน่วยความมั่นคงหน่วยหนึ่ง ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าผิดก็จะส่งคนมาร้องทุกข์ ไม่ได้กำชับจับตากลุ่มไหนเป็นพิเศษ เพราะตำรวจก็มีสันติบาลและตำรวจท้องที่ดูอยู่ 
    ถามต่อว่า ในวันเสาร์ที่ 3 ก.พ.จะมีฟุตบอลประเพณีของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ รวมถึงการเดินขบวนมีการล้อการเมือง ตำรวจจะเข้าไปดูแลอย่างไร พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า เป็นเรื่องกีฬาภายใน ตำรวจคงไม่ไปยุ่ง มีหน้าที่ดูแลอย่าให้เกิดม็อบหรือมือที่สามเท่านั้นเอง ไม่ใช่งานในหน้าที่  
    แหล่งข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช.ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แต่กลับเป็นผู้สร้างปัญหาเอง ว่า ทางรัฐบาลและ คสช.ไม่อยากตอบโต้เรื่องเหล่านี้ อยากให้ประชาชนติดตามพฤติกรรมของนักการเมืองเอง ในส่วนของรัฐบาลและ คสช.ต้องทำงานแข่งกับเวลาและดูแลประชาชน เราคงไม่ไปโต้เถียงอะไร ส่วนที่พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวและแถลงข่าววิจารณ์มากขึ้นนั้น รัฐบาลและ คสช.ยังมุ่งมั่นทำงานแก้ไขปัญหา ซึ่งเรื่องนี้มองว่าไม่เป็นอะไร เราต้องอดทนอดกลั้น เพราะเป็นธรรมดาที่เวลาเราทำงานย่อมมีคนไม่เห็นด้วย
4 ปีล้มเหลวทุกเรื่อง
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า การที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพเพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพ ทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งทวงถามการเลือกตั้ง ขณะที่ทำท่าว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่มารวมตัวกันชูป้ายสนับสนุน คสช.เช่นเดียวกันนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา คสช.ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้วิกฤติความขัดแย้งของประเทศ และ คสช.ไม่ได้ทำให้เกิดความปรองดองขึ้นเลย ซ้ำร้าย คสช.ยังเป็นฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งเสียเองอย่างชัดแจ้ง 
    "ประเด็นที่เห็นแตกต่างกันอยู่ในสังคมขณะนี้เรื่องหนึ่งก็คือ คสช.ควรอยู่ในอำนาจต่อไปอีกนานเท่าใด ซึ่งก็คล้ายกับปัญหาว่า ใครควรเป็นรัฐบาลที่คนเห็นต่างกันมาตลอด ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่มีวิธีจัดการกับการมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องนี้ มีการแสดงออกก็ถูกปราบ ถูกฆ่า หรือไม่ก็เป็นการแสดงออกที่ผิดกฎหมายร้ายแรง แต่ไม่ต้องรับโทษ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ไม่ได้ จะเลือกตั้งซึ่งควรเป็นทางออกก็ทำไม่ได้ จนในที่สุดก็เกิดรัฐประหาร ผ่านไปเกือบ 4 ปี สังคมไทยก็ยังไม่มีวิธีจัดการกับการที่คนเห็นต่างกัน ในเรื่องใครควรบริหารปกครองประเทศ การแสดงออกอย่างสันติก็ยังถูกจับ ถูกดำเนินคดี ยังมีการใช้คำสั่งที่ขัดหลักนิติธรรม มีรัฐธรรมนูญก็เหมือนไม่มี แถมยังมีคนประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ส่วนการเลือกตั้งซึ่งควรใช้เป็นทางออกก็ถูกเลื่อนไปเรื่อย ทวงถามก็ถูกจับดำเนินคดี"
    เขายังย้ำว่า สังคมไทยยังไม่มีวิธีจัดการดูแลกับการที่คนมีความเห็นต่างกันอย่างสันติและเป็นธรรม และยังมีแนวโน้มจะเป็นวิกฤติบานปลาย คนที่อวดอ้างว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติความขัดแย้งก็กลายเป็นฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งเสียเอง เท่ากับล้มเหลวในการสร้างความปรองดองอย่างสิ้นเชิงด้วย อยู่มาเกือบ 4 ปีแล้ว แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ยังจะวางแผนอยู่ต่ออีกเป็นสิบปี ใครจะยอม
    วันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปกล่าวในงานของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา ตอนหนึ่งว่า ความจริงถ้าหยิบเรื่องอดีตขึ้นมาแล้วขัดแย้งกัน มันปรองดองยาก วิธีที่จะปรองดองดีที่สุดคือร่วมกันมองอนาคตมากกว่า ว่าเราจะเดินหน้าบ้านเมืองเราไปได้อย่างไร เพราะกว่า 10 ปีแล้วเป็นอย่างน้อยที่ประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากเหตุการณ์หลายอย่าง ซึ่งทุกคนไม่เว้นแต่ตนและนักการเมืองคนอื่นๆ ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ในขณะที่เราสูญเสียเวลาไปกว่า 10 ปีกับปัญหาภายในของเรา โลกก้าวไปไกลมาก ทั้งเทคโนโลยี ทั้งสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ การเมืองของประเทศ
พวกเอาเปรียบอยู่ได้ไม่นาน
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ทราบว่านายกรัฐมนตรีพูดเรื่องอยากได้ความเป็นธรรม ที่ตนให้อภัยไม่ได้เลยคือแม้กระทั่งทำบัตรสวัสดิการคนจนไปบังคับให้ประชาชนใช้อยู่ในร้านประชารัฐ ทำไมแทนที่จะปล่อยให้เงินหมุนเวียนในตลาดสดและร้านค้าขนาดเล็ก ร้านโชห่วย ผู้ประกอบการในท้องถิ่น กลับไปบังคับเขาว่าเงินที่รัฐอุตส่าห์ทุ่มทั้งหมดต้องไปกองอยู่ที่ร้านค้าที่บางตำบลอาจจะมีแค่ 1-2 ร้านเท่านั้น และเงินมันจะหมุนกลับมาได้อย่างไร
    นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวว่า เราไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งวันไหน ไม่ได้ติดใจว่าจะเลือกตั้งปี 2561 หรือ 2562 หรือจะต้องเดือนไหน แต่สิ่งที่หวังคือเลือกตั้งแล้วประเทศชาติเดินหน้าได้หรือเปล่า และตกลงเราได้คนที่มาบริหารประเทศที่คิดถึงประเด็นที่ตนพูดหรือยัง หรือสุดท้ายต้องมาแข่งขัน ประชานิยม หรือสุดท้ายต้องให้ราชการมาบอกว่าจะต้องมีนโยบายอย่างไร นี่คือความท้าทายสำหรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
    "พูดตรงๆ พวกผมเป็นฝ่ายถูกกระทำค่อนข้างมาก ผมไม่กังวลอะไรว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ พรรคเราอยู่มา 70 ปี เจอมาหมดในการเอารัดเอาเปรียบ แต่พวกผมอยู่ได้ ใครเอารัดเอาเปรียบ ผมไม่เห็นอยู่ได้นาน สุดท้ายมีอันเป็นไป เพราะผมยังเชื่อว่าอุดมการณ์และความซื่อสัตย์ที่จะจีรังยั่งยืน และปัจจุบันประชาชนก็พอมองเห็นว่าอนาคตของประเทศจะต้องเดิน ถ้าบ้านเมืองไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีอะไรสำเร็จ ไม่มีความมั่นคงในหลักการว่าจะทำด้วยวิธีใด เรื่องความโปร่งใส เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แต่ผมก็จะเดินหน้าของผมอย่างนี้ ส่วนใครจะใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงินอย่างไร พวกผมเจอมาหมดแล้ว" นายอภิสิทธิ์กล่าว 
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้ตีความเรื่องการยกเว้นลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ได้มีมติให้ส่งรายงานความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กรณีดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดย ป.ป.ช.ยืนยันว่าการให้ดำรงตำแหน่งต่อไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้การดำรงอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช. แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ลาออกจากประธาน ป.ป.ช. เพื่อไม่ให้เกิดข้อกังขาเรื่องคุณสมบัติ พล.ต.อ.วัชรพลตอบว่า เป็นสิทธิ์ที่คนจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ตนมาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 50 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ที่สำคัญตนเองมุ่งมั่นทำงานมาตลอด ถ้าเห็นว่าตนทำไม่ดีให้ยื่นตามกระบวนการ ถ้าชี้ว่าผิดพร้อมหยุดปฏิบัติหน้าที่ ต้องรับโทษรับกรรมไปตามสิ่งที่ทำ แต่ถ้าไม่ผิดต้องให้โอกาสตนทำงาน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"