อินฟลูเอนเซอร์สำคัญไฉน


เพิ่มเพื่อน    

    
    ในยุคที่การตลาดสามารถสื่อสารได้หลายช่องทาง ขณะเดียวกันการทำตลาดกับผู้บริโภคก็ต้องเจาะลึกเข้าไปถึงตัวตนของแต่ละคนมากขึ้น ช่วงหลังๆ มานี้หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทางการตลาด โดยเฉพาะผลที่มีต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเลือกรับข่าวสารในช่องทางนี้มากกว่าโฆษณาในรูปแบบอื่นๆ  
    โลกของออนไลน์และออฟไลน์แทบจะแยกออกจากกันได้ยาก แต่ในผลสำรวจจากวีโร่ เอเยนซี พบว่าคนยุคมิลเลนเนียม (Millennial) และเจนแซด (Gen Z) เชื่อถือในตัวอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อโซเชียลมากกว่าที่คาดกันไว้ โดยเฉพาะแฟนๆ อายุน้อยที่มีความพยายามในการเสาะหา และเฝ้าติดตามอินฟลูเอนเซอร์ เชื่อในความเห็นของผู้นำความคิดเหล่านี้มากกว่าที่แคมเปญโฆษณาราคาแพงใดๆ จะสามารถทำได้ โดยพวกเขาพอใจที่จะได้รับข่าวสารด้านการตลาดผ่านทางอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าโฆษณารูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ หรือออนไลน์อีกด้วย
    ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ติดตามอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อโซเชียล จะเชื่อถือในตัวอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าคนกลุ่มอื่น ที่ไม่ใช่กลุ่มเพื่อนและครอบครัว หรือคิดเป็นมากกว่า 80% เข้าไปเช็กดูความเคลื่อนไหวของอินฟลูเอนเซอร์หลายครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ส่วน 59% ของชาวมิลเลนเนียมตัดสินใจซื้อตามคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์โดยตรง และประมาณ 75% อยากเห็นอินฟลูเอนเซอร์แนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเชื่อว่าอินฟลูเอนเซอร์แนะนำสินค้าเหล่านั้นโดยบริสุทธิ์ใจ แม้ว่าจะได้รับค่าตอบแทนก็ตาม
    การศึกษาเรื่องผลกระทบของอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้ทำการสัมภาษณ์บุคคลกลุ่มเจนแซด อายุ 16-23 ปี และกลุ่มมิลเลนเนียมอายุ 24-35 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยได้ให้คำจำกัดความอินฟลูเอนเซอร์ว่า คือบล็อกเกอร์หรือบุคคลบนโลกออนไลน์อื่นๆ ที่มีผู้ติดตามมากพอที่จะสร้างผลกระทบด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้ ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกูรูด้านความงามและแฟชั่นที่ให้คำแนะนำเรื่องสไตล์ ผู้ที่หลงใหลในการท่องเที่ยวและอาหารที่อาสาพาลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่ ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความบันเทิงต่างๆ ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเกม ดนตรีและภาพยนตร์เรื่องล่าสุด
    แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าอินฟลูเอนเซอร์ได้รับค่าตอบแทนจากการพูดถึงผลิตภัณฑ์ในรูปของเงินหรือสิ่งของต่างๆ แต่พวกเขาไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา อันที่จริงแล้วการศึกษาในครั้งนี้ยังพบว่าไม่เพียงแต่แฟนๆ จะเชื่อว่าอินฟลูเอนเซอร์แนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยสุจริตใจเท่านั้น แต่ประมาณ 80% ของมิลเลนเนียม และ 68% ของเจนแซดยังชื่นชอบอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำเช่นนั้นอีกด้วย
    ความเห็นจาก ธนาวัต นุตสถิตย์ ผู้จัดการด้านครีเอทีฟของวีโร่และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้วย กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการทำตลาดโดยอินฟลูเอนเซอร์ คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างคอนเทนต์กับผู้ติดตาม การโฆษณาแบบดั้งเดิมในทีวีหรือสิ่งพิมพ์ ที่ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์อะไรได้เลย แต่อินฟลูเอนเซอร์จะรู้จักผู้คนจริงๆ รวมถึงเป็นเพื่อนกับพวกเขาจริงๆด้วย ถึงแม้ว่าปฏิสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกออนไลน์ แต่บางครั้งก็ส่งต่อมาถึงออฟไลน์ และในชีวิตประจำวันด้วย จัดว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับแบรนด์ในการสื่อสารกับผู้คน
    ส่วนความแตกต่างระหว่างมิลเลนเนียมและเจนแซดนั้น คงต้องบอกว่าชาวมิลเลนเนียมโตมาพร้อมกับการก่อร่างสร้างตัวของอินเทอร์เน็ต และมีส่วนสำคัญในการกำหนดวัฒนธรรมการใช้งานสื่อใหม่ ตลอดจนโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่อินฟลูเอนเซอร์ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ในทางกลับกันเจนแซดที่อายุมากที่สุดมีอายุเพียงแค่หนึ่งปี เมื่อประเทศไทยเริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้ในปี 2539 และมามีบทบาทในยุคบรอดแบรนด์ไร้สายและ 3 จี  (ในเขตเมือง) รวมทั้งจอทัชสกรีนที่พบเห็นได้ทั่วไป เป็นไปได้สูงว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของพวกเขาเป็นสมาร์ทโฟน แต่จริงๆ ก็ไม่พบความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างสองกลุ่มนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปที่อธิบายได้ด้วยความคุ้นเคยกับโลกดิจิทัลของเยาวชนผู้ใช้งานมากกว่า
    เห็นแบบนี้แล้วต้องบอกว่าเป็นยุคทองของอินฟลูเอนเซอร์จริงๆ เพราะที่ผ่านมาหลายแบรนด์สินค้าก็ประสบความสำเร็จจากการทำตลาดรูปแบบดังกล่าว โดยแทบจะไม่มีการโฆษณารูปแบบอื่น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้มักมีการค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ และหลายครั้งก็มักไปพบเห็นรีวิวหรือการแนะนำสินค้าจากอินฟลูเอนเซอร์ ที่เหมือนเป็นยาดี กระตุ้นความอยากซื้อได้ดีไม่ใช่น้อย เอาเป็นว่านี่คงเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการทำตลาดที่ต้องมีเป็นตัวเลือกบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูให้ตรงกลุ่มเป้าหมายด้วย.

รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"