29 พ.ย.61 - นายไมตรี จงไกรจักร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้แทนชาวเลในจังหวัดพื้นที่ต่างๆของอันดามันได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ(อช.)ทางทะเล 7 แห่ง เช่น อช.หมู่เกาะสุรินทร์ อช.หมู่เกาะลันตา อช.ตะรุเตา รวมทั้งผู้แทนมูลนิธิชุมชนไท ณ ที่ทำการอุทยานหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ โดยมีผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)เป็นประธาน ซึ่งในที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นปัญหาต่างๆของชาวเล
นายไมตรี กล่าวว่า 1.ปัญหาที่ดินทำกินของชาวเลที่อยู่บนฝั่งแต่เกิดการทับซ้อนเมื่อมีการประกาศอุทยานฯนั้น ได้ข้อสรุปว่าทั้งสองฝ่ายจะไปทำข้อมูลร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ที่ผ่อนปรนให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ โดยระหว่างนี้จะไม่มีการจับกุมหรือคุกคามใดๆ 2.ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย เช่น บนเกาะหลีเป๊ะ จะมีการจัดทำพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิให้มีความชัดเจน โดยพื้นที่บางแปลงของเอกชนที่บวมหรือออกโดยมิชอบนั้น อุทยานฯจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา 3.อุทยานฯอนุญาตให้ชาวเลดำรงชีวิตไปตามวิถี และหากมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น เช่น ปลูกยาง ก็สามารถทำได้ 4.เรื่องปัญหาการประกอบอาชีพโดยเฉพาะการทำประมงนั้น จะมีการผ่อนปรนให้ใช้เครื่องมือที่ชาวเลใช้อยู่ได้โดยอุทยานฯแต่ละแห่งและชาวเลจะไปร่วมหารือกันกำหนดกติกา รวมทั้งการกำหนดแนวเขต
“ในที่ประชุมทางผู้บริหารอุทยานฯยังได้ประกาศชัดเจนว่า ต่อไปหากมีปัญหาอะไรขอให้ชาวเลไปพบกับหัวหน้าอุทยานฯได้โดยตรง ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายของท่านอธิบดีกรมอุทยานฯที่ได้สั่งการมาเพราะต้องการช่วยเหลือดูแลคุ้มครองชาวเล”นายไมตรี กล่าว
นายไมตรี กล่าวว่า ในวันที่ 1-2 ธันวาคมนี้ จะมีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 9 ขึ้นที่อนุสรณ์สึนามิ บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยชื่องานในครั้งนี้คือ “เหลียวหลังแลหน้า 9 ปีมติ ครม.ชาวเล” ซึ่งในวันที่ 1 ธ.ค.จะเป็นการพบปะและแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมของชาวเล ส่วนวันที่ 2 ธ.ค.จะเป็นพิธีเปิดงานโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาเป็นประธาน หลังจากนั้นชาวเลจะร่วมกันตรวจสอบมติครม.ที่ออกมาแล้ว 9 ปีว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีความคืบหน้าและไม่มีความคืบหน้า จากนั้นจะทำเป็นข้อเสนอไปยังรัฐบาล
นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่าหลังจากมีการหารือกับอุทยานฯแล้วทำให้เห็นแนวโน้มการแก้ไขปัญหาชาวเลในทางที่ดีขึ้นโดยหัวหน้าอุทยานฯต่างๆจะลงพื้นที่ไปทำข้อมูลร่วมกับชาวเล ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ชาวเลถูกจับเมื่อออกไปทำมาหากินและถูกขับไล่ออกจากที่ดินที่เคยอยู่กันมานาน ซึ่งในครั้งนี้รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแก้ไขปัญหาพื้นที่อุทยานฯที่ทับซ้อนพื้นที่ของชาวบ้าน ทำให้ปัญหาต่างๆมีทีท่าคลายตัว
ขณะที่ ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 9 ปีของมติ ครม.ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาชาวเลนั้น ในแง่ของความคืบหน้าคือปัญหาชาวเลได้รับความสนใจจากสังคมกว้างขวางขึ้น ขณะที่ตัวชาวเลเองก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการเรียกร้องปัญหาของตัวเอง แม้ยังไม่เป็นขบวนที่เข้มแข็งนักเพราะชาวเลส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม มีเพียงแกนนำบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนมากเพราะตอนนั้นชาวเลแทบจะไม่กล้าพูดกับคนภายนอกและไม่กล้าบอกปัญหาให้คนอื่นได้รับรู้ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของพวกเขาที่มัก “หลบ ยอม หนี” ซึ่งถ้ามองในแง่ดีคือทำให้ไม่เกิดความรุนแรงและเป็นการยึดแนวสันติวิธีมาโดยตลอด
ดร.นฤมล กล่าวว่า ถ้าการแก้ไขปัญหาชาวเลยังเรียบๆเรื่อยๆอยู่เช่นเดิมก็จะไม่ทันการณ์กับสิ่งที่ชาวเลถูกคุกคาม ซึ่งการแก้ไขปัญหาสามารถทำได้ เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งขณะนี้ชาวเลในบางพื้นที่ได้จัดนำเที่ยวเชิงวิถีวัฒนธรรม ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องแบบนี้ด้วย
“ในหลายประเทศเขามีเขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนพื้นเมือง เช่น ในออสเตรเลีย เขาก็ให้เกียรติกับชาวอะบอริจิน และทำเป็นอุทยานโดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกตั้ง ให้สิทธิต่างๆ ซึ่งชาวบ้านก็อยู่มีวิถีชีวิตดั้งเดิมในสภาพสิ่งแวดล้อมของเขา แต่ประเทศไทยมีเพียงเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยอมยกเว้นกฏหมายต่างๆเพราะให้ความสำคัญกับเม็ดเงินมากกว่า เขตวัฒนธรรมพิเศษที่เคยพูดกันมานานกลับไม่เกิดเสียที ทั้งๆที่มีหลายพื้นที่ที่สามารถทำได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย หรือ พื้นที่ชุมชนชาวเลหมู่เกาะสุรินทร์จังหวัดพังงา” ดร.นฤมล กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |