"กกต." เซ็นประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว พร้อมส่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา คาดเปิดรับสมัคร ส.ส. 14-18 ม.ค.62 "วิษณุ" ชี้อำนาจ กกต.ถือเป็นที่สุด ระบุหากใครไม่พอใจไปฟ้องศาลปกครองได้ "อภิสิทธิ์" บอกยังไม่ได้รับเชิญถกร่วม 7 ธ.ค.นี้ "ชทพ." จี้ขอความชัดเจนการเลือกตั้งทั้งหมด
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 28 พ.ย. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำสัปดาห์ โดยมีวาระที่น่าสนใจคือเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 350 เขต หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ให้ กกต.รับเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม ซึ่ง กกต.ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 19-25 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามารวม 95 เรื่อง ใน 31 จังหวัด
มีรายงานว่า ภายหลังจากการประชุม กกต.เสร็จสิ้นเวลา 16.30 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้เซ็นประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จากนั้นได้ส่งให้สำนักงานเลขาธิการ กกต.ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปเผยแพร่อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.ยังเห็นชอบกับแผนเตรียมการเลือกตั้ง หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ และได้ส่งให้ คสช.และรัฐบาลแล้ว ตามที่มีการร้องขอมาเพื่อนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า และนำไปหารือในการประชุมแม่น้ำ 5 สายกับตัวแทนพรรคการเมือง โดยระยะเวลาในการปฏิบัติแต่ละเรื่องจะเร็วขึ้นจากแผนเดิมประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งตามแผนปฏิบัติการล่าสุดที่เสนอนั้น หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค.แล้ว กกต.จะเสนอให้รัฐบาลออกร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 26 ธ.ค. จากนั้นในวันที่ 28 ธ.ค. จะมีประกาศ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง และกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งคือวันที่ 14-18 ม.ค.2562
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงเช้า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า ตนไม่รู้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของ กกต. คนอื่นไม่มีสิทธิ์ เพียงแต่เมื่อมีเรื่องร้องเรียนมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็รับเรื่องและส่งไปยัง กกต. ซึ่งเคยส่งไปแล้ว 1-2 ครั้ง แต่จำไม่ได้ว่าเป็นข้อร้องเรียนที่จังหวัดใด
ถามว่า มีบางพรรคการเมืองร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เช่นที่ จ.สุโขทัย และ จ.กาญจนบุรี นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะเมื่อ คสช.ส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ตน ก็ส่งไปยัง กกต.ทันที จึงไม่ได้ดูรายละเอียด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้ร้องเรียนเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งมาก่อนแล้ว จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561
“เมื่อมีการร้องมา เราก็ถามไปที่ กกต.ว่าทำไมจึงมีการร้อง กกต.อธิบายว่าเขาถูกจำกัดด้วยเรื่องระยะเวลาที่เขาเป็นฝ่ายกำหนดเอง แต่เขาก็ต้องยึดตรงนั้น และระบุด้วยว่าถ้ามีเวลามากกว่านี้จะทำได้ละเอียด เพราะเขายอมรับว่ายังมีบางจังหวัดที่ทำได้ไม่ละเอียด ดังนั้นคำสั่ง คสช.ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการขยายเวลาให้ กกต. ไม่ได้ให้ไปแบ่งเขตว่าต้องออกมาเป็นอย่างไร”
เมื่อถามว่า จะอธิบายอย่างไรต่อบางฝ่ายที่ตีความ คำสั่ง คสช.ที่ 16/61 เป็นการครอบงำการแบ่งเขตของ กกต. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องอธิบายอะไร ตนได้ทราบว่าเขาแบ่งเสร็จแล้ว โดยแจ้งมาเมื่อวันที่ 27 พ.ย. แต่ยังไม่ได้ส่งมา เมื่อส่งมาก็คงประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในไม่ช้า และเมื่อประกาศในราชกิจจาฯ แล้วก็ไม่สามารถร้องเรียนได้ เพราะอำนาจเป็นของ กกต. เมื่อ กกต.แบ่งแล้วก็จบ คราวที่แล้วยังไม่ได้มีประกาศอะไร ยังไม่มีใครรู้ว่าจะแบ่งเขตกันอย่างไร เพียงแต่เมื่อมีการร้องเรียนกันมาก กกต.ก็ต้องการเวลา จึงออกคำสั่งเพื่อให้เวลาเท่านั้น
ซักว่า หากออกประกาศแล้ว แต่การแบ่งเขตไม่ตรงกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะทำอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ถือว่าถึงที่สุด คำนี้เป็นคำในกฎหมาย อาจจะไม่ยอมรับก็ได้ แต่ถือว่ามันถึงที่สุด หากยังมีความเห็นต่างก็ต้องไปร้องศาลปกครอง แต่ระหว่างที่ศาลยังไม่สั่งอะไรเขาก็เดินหน้าต่อไป
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรค ปชป.ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ไปร่วมประชุมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ซึ่งคงต้องดูหนังสือเชิญก่อนว่ามีอะไรบ้าง แต่สันนิษฐานได้ว่าขณะนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. การหารือคงเป็นเรื่องการปลดล็อก ซึ่งแทบไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องหารือ เพราะตนมองไม่เห็นว่าถ้ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีข้อจำกัดการทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะเราต้องการให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับและเป็นประชาธิปไตย ถ้ายังมีข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนไหวอยู่ก็จะเป็นปัญหาต่อไป
เมื่อถามว่า ในเรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ยังไม่มีข้อยุติ จะทำให้เป็นปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยู่ที่การทำงานของ กกต. เพราะเราเห็นว่าคำสั่งของคสช.ที่ออกมาล่าสุดเป็นการสร้างปัญหาทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นในเรื่องการทำงานเป็นอิสระของ กกต.ใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ ทำไมต้องเอารัฐบาลกับ คสช. มาเกี่ยวข้องกับกระบวนการแบ่งเขตการเลือกตั้งด้วย และสอง การที่ไปคุ้มครองทางกฎหมายว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งอาจไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติที่จะเป็นเรื่องบั่นทอนความเชื่อมั่นในการแบ่งเขต และในข้อเท็จจริงเราทราบว่าพรรคการเมืองที่อิงอยู่กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันเอาเรื่องของเขตการเลือกตั้งมาต่อรองในการดึงสมาชิกพรรคการเมืองอื่น
ส่วนนายยุทธพล อังกินันทน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีที่ คสช.นัดหารือพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ว่า ทางพรรคชาติไทยพัฒนาส่งตัวแทนคือ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมกับนายพิสิษฐ์ พิทยฐากุลเจริญ นายทะเบียนพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นตัวแทนเข้าร่วมในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความชัดเจนกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และความชัดเจนเรื่องการปลดล็อก ให้กับพรรคการเมืองเพื่อดูว่าจะสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้แค่ไหน มากน้อยเพียงใด
“ความไม่ชัดเจนในขณะนี้ทำให้พรรคการเมืองทำงานแบบมีปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน เพราะบางเขตอาจต้องมีการถูกแบ่งหายไป ตำบลหายไป ซึ่งกระทบต่อการพิจารณาตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในแต่ละเขต นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคในการที่พรรคการเมืองจะประกาศนโยบายพรรค เรายังทำได้ไม่มาก ซึ่งหากเวลาในการรณรงค์หาเสียงมีน้อย ก็อาจทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ยากขึ้น ดังนั้นขอให้กำหนดเรื่องความชัดเจน ทั้งเขตเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และไทม์ไลน์ หรือโรดแมปให้ชัดเจน พรรคการเมืองจะได้ดำเนินการและปฏิบัติตนได้ถูกต้อง" รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |