เสริมทักษะชีวิต ลดเสี่ยงอันตราย


เพิ่มเพื่อน    

    ในภาวะที่ผู้คนในสังคมอยู่กันอย่างเร่งรีบและอันตรายรอบทิศทางที่เข้ามาแบบไม่รู้ตัวการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการเอาตัวรอดจากภยันตรายต่างๆ ที่คาดไม่ถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปลูกฝั่งค่านิยมจิตอาสา พร้อมส่งเสริมให้เด็กไทยมีทักษะชีวิตติดตัว เพื่อลดอัตราความพิการหรือเสียชีวิตของตัวเองและบุคคลภายนอก ซึ่งจะช่วยยกระดับให้สังคมดีขึ้น 
    ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย จึงได้สนับสนุนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยมีกิจกรรมที่น่าใจคือ โครงการ "เตรียมตัวรู้รอดเมื่อภัยมา" และโครงการ “ฝึกอบรมผู้นำนักเรียนอาสาพยาบาล” ที่ลงพื้นที่จัดกรรมให้ความรู้ตามโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 
    ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ "เตรียมตัวรู้รอดเมื่อภัยมา" จากสถิติในรอบ 1 ปี (2557) มีเด็กเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 มากกว่า 1,249,180 ครั้ง สาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตส่วนใหญ่ จมน้ำ อุบัติเหตุจราจร ไฟฟ้าดูด สำลักสิ่งต่างๆ เข้าหลอดลม ทางเดินหายใจถูกกดทับ การพลัดตก
    อีกทั้งยังพบว่าแต่ละปีมีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 25 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกวิธีจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ 
    ดังนั้นทางสมาคมฯ ร่วมกับ สสส. จึงเกิดแนวคิดจัดทำโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น และในกิจกรรมดังกล่าวนี้จะนำนักเรียนชั้นมัธยมต่างๆ มาปูพื้นฐานพัฒนาทักษะชีวิตการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่ ข้อ 1 การดูแลตนเอง ป้องกัน เตรียมความพร้อมประเมินความเสี่ยงจากอันตราย ข้อ 2 การเจ็บป่วยจากสาเหตุที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ ข้อ 3 เมื่อเผชิญเหตุการณ์สาธารณภัย ข้อ 4 กินเพื่อสุขภาพ และข้อ 5 เมื่อพบผู้ป่วยจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้และฝึกจริงในสถานการณ์ 


    พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า เมื่อเทียบกับเด็กต่างประเทศในวัยเดียวกัน เด็กไทยมีองค์ความรู้เรื่องการดูแลตนเอง การปฐมพยาบาลน้อยกว่าประเทศอื่น ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการเพิ่มองค์ความรู้ อาทิ ในต่างประเทศ เด็กอายุ 12-13 ปี สามารถทำ CPR การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ หรือใช้เครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติได้ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเน้นเรื่องของการติดตั้งเครื่อง AED ให้มีในที่สาธารณะ แต่ไม่เคยฝึกการใช้เครื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความรู้และสนับสนุนต่อไป
    ขณะที่โครงการ “ฝึกอบรมผู้นำนักเรียนอาสาพยาบาล” ล่าสุดได้ลงพื้นที่ โรงเรียนสิริรัตนาธร เขตบางนา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีกิจกรรมสร้างเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาพยาบาลในสถานศึกษาให้มีความรู้ในการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยจากอาการเจ็บป่วยในภาวะฉุกเฉินก่อนนำส่งโรงพยาบาล และสามารถประเมินความเสี่ยงและอันตรายกับสถานการณ์ต่างๆ พร้อมเรียนรู้ที่จะประสานกับหน่วยงานที่จะแจ้งเหตุได้ เช่น โทร.1669 
    นายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า การจัดโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของโรงเรียนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่อยากปลูกฝังให้เด็กรู้จักดูแล ป้องกันตัวเอง และช่วยเหลือคนอื่นจากภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง 
    โดยการอบรมผู้นำอาสาพยาบาลในครั้งนี้ เป็นการเปิดรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 ที่มีความสนใจเข้าร่วมอบรม ซึ่งมีเด็กให้ความสนใจสมัครจำนวน 57 คน แต่เข้าอบรมได้ 48 คน ซึ่งทางสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยสนับสนุนวิทยากรมาให้ความรู้ ทั้งนี้ เด็กที่เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ในการป้องกันตนเองจากโรคภัยต่างๆ การช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐอย่างมีสติ
    นายแพทย์ไพโรจน์กล่าวต่อว่า เด็กทั้ง 48 คนนี้ถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอาสาพยาบาลที่จะสามารถช่วยตัวเองและผู้อื่นในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ จะมีการขยายผลต่อไปในโรงเรียนอื่นๆ โดยจะพัฒนารูปแบบการสอนให้เหมาะกับวัย ให้เด็กสามารถประเมินความเสี่ยงของโรคได้ด้วยตัวเองก่อนให้ความช่วยเหลือ และจากการประเมินเด็กที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้พบว่า มีความสนใจและให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมเป็นอย่างดี โดยจะเห็นว่าเด็กหลายคนสาธิตการปฐมพยาบาลช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นได้อย่างถูกต้อง
    นางสาวภาณินลักษณ์ ฆนาศัยอนันต์ อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสิริรัตนาธร บอกว่า ที่บ้านมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล การมาเข้าค่ายอบรมนักเรียนอาสาพยาบาลจะช่วยให้มีความรู้นำไปช่วยเหลือท่านได้ รวมถึงการดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ 
    นอกจากนี้ยังได้เพื่อนใหม่ๆ รู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่น แม้บางกิจกรรมจะเหนื่อยบ้าง แต่ทุกคนก็เต็มที่ เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าการอาสาพยาบาลทำอะไรบ้าง แต่พอมาอบรมจึงได้รู้ว่าการช่วยเหลือคนมันเหนื่อยมาก ทุกขั้นตอนต้องมีสติ แต่ก็ภูมิใจที่ทำได้    
    เชื่อว่าเด็กและเยาวชนที่ได้รับการปลูกฝังจากโครงการที่เกิดประโยชน์นี้ นอกจากพวกเขาจะดูแลตัวเองและผู้อื่นได้แล้ว ยังเป็นการจุดประกายให้เกิดหลักสูตรในโรงเรียนเพื่อเสริมทักษะชีวิตให้แก่อนาคตของชาติได้อีกด้วย. 

อย่าประมาท...สูบบุหรี่มวนเดียว 
เฉียด“โรคหลอดเลือดฯและสมอง”
    ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ หัวหน้าหน่วยโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่วิเคราะห์รายงานวิจัย 141 ชิ้น จาก 21 ประเทศ ตีพิมพ์เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ.1946-2015 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและเส้นเลือดสมองในผู้สูบบุหรี่วันละ 1 มวน 5 มวน หรือ 20 มวน พบว่าคนที่สูบบุหรี่วันละ 1 มวน มีอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและเส้นเลือดสมองตีบตัน คิดเป็นร้อยละ 40-50 ของการเกิดโรคทั้งสอง ในคนที่สูบบุหรี่วันละ 20 มวน คณะผู้วิจัยสรุปว่างานวิจัยนี้หักล้างความเชื่อผิดๆ ของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่า การสูบบุหรี่เพียงวันละไม่กี่มวนมีอันตรายน้อย หรือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
    ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภาคี สสส. กล่าวว่า มีคนไทยเกือบ 6 ล้านคนที่จัดอยู่ในคนที่สูบบุหรี่ไม่จัด ส่วนใหญ่หากจะเลิกสูบบุหรี่ มีโอกาสเลิกได้สูง เนื่องจากเสพติดนิโคตินไม่มาก แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่คิดเลิก เพราะมีความเชื่อว่าการสูบน้อยๆ ไม่เป็นไร ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันเผยแพร่ความจริงที่ว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยแม้จะสูบเพียงวันละมวนเดียว จากการสำรวจที่ทำอย่างละเอียดที่สุดเมื่อ พ.ศ.2554 พบว่าในจำนวนคนไทย 13 ล้านคนที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 21.2 หรือ 2.75 ล้านคน ที่สูบบุหรี่วันละน้อยกว่า 5 มวน และร้อยละ 23.8 หรือ 3 ล้านคนที่สูบวันละ 5-9 มวน ซึ่งผู้สูบบุหรี่เหล่านี้ ทุกคนก็เสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"