คนรุ่นใหม่อุดมการณ์ต้องเปิดกว้าง อย่าเอาวาทกรรมทางการเมืองมาทำลายกัน


เพิ่มเพื่อน    

        เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หลังตะลอนตาม สุทิน นพเกตุ อดีต ส.ส.หลายสมัยพรรคพลังธรรม ผู้เป็นบิดาหาเสียงเลือกตั้ง

        ครั้งหนึ่งเขาเคยตั้งคำถามเชิงตัดพ้อว่า ตัวเองและแม่อยู่ในสถานะ ประชาชน ด้วยหรือไม่ หลังผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวแทบไม่มีเวลาให้ เนื่องจากต้องไปรับใช้ประชาชนในฐานะ ผู้แทน 

        แต่การอุทิศตนตลอดอาชีพนักการเมืองของ บิดา ก็ทำให้คำถามพวกนั้นค่อยๆ หายไป และกลายเป็นการซึมซับ

        แม้ผู้เป็นแบบอย่างของเขาวางมือไปแล้ว แต่วันนี้ลูกไม้ก็หล่นไม่ไกลต้น เพราะ ดร.ณพงศ์ นพเกตุ อดีตผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เริ่มนับหนึ่งทางชีวิตทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้พรรคป้ายแดงอายุไม่กี่เดือนอย่าง พลังประชารัฐ

        “ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ผมเข้ามาตรงนี้คือ ห่วงประเทศชาติ ประเทศไทยเสียโอกาสมาเป็นสิบปี โลกมันหมุนเร็ว เพื่อนบ้านที่เคยคิดว่าเขาจะตามเราไม่ทัน แต่ตอนนี้กำลังจะแซงเรา ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ออกมาช่วยกัน ประเทศชาติน่าจะลำบาก” เขาบอกถึงเหตุผลในการตัดสินใจ

        ส่วนสาเหตุที่เลือกพรรคพลังประชารัฐให้เป็นพรรคแรกของชีวิต อดีต ดร.ณพงศ์ อธิบายว่า หลักการของ ประชารัฐ มันมาจาก สัมมาชีพ คือเป็นอาชีพที่สุจริต คนอยู่ได้ด้วยตัวเอง สามารถรักษาท้องถิ่นตัวเองได้ เชื่อมโยงกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนช่วยเหลือและแบ่งปันกัน

       “อย่างเช่น นักธุรกิจที่พออยู่ได้แล้วก็ควรเข้าไปสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร โดยเอาความรู้ด้านการตลาดไปแนะนำเกษตรกรให้ปรับปรุงสินค้าตัวเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งมันเป็นหลักการที่พูดถึงการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน มันเป็นการทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมั่นคง สามารถแข่งกับธุรกิจใหญ่ได้ ซึ่งมีชัดอยู่พรรคเดียวคือ พรรคพลังประชารัฐ”

        ดร.ณพงศ์ระบุว่า มีความตั้งใจที่อยากจะทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมาร์ท ซิตี้ หรือเรื่องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่ตนเองมีความถนัด

        “คนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เขาจะดิ้นรนเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว โอกาสที่เขาจะตื่นตัว สนใจสังคมและบ้านเมืองก็มีน้อย แต่ถ้าเราทำให้สิ่งแวดล้อมดี คนจะมีความตื่นตัวทางสังคมสูงขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะต้องไปควบคู่กัน”

        นอกจากนี้ ในฐานะที่อยู่ร่วมกับปรากฏการณ์ คนรุ่นใหม่ ในสนามเลือกตั้ง เขาเองก็มีความคาดหวังสูงมากว่า เจเนอเรชั่นของพวกเขาจะทำให้ประเทศหลุดจาก “หล่มความขัดแย้ง”

       “คนรุ่นใหม่ต้องศึกษาไม่ใช่เฉพาะการเมืองในประเทศ แต่อยากให้เข้าใจบริบทของโลก บริบทของเอเชีย หรือทุกอย่างที่สร้างสรรค์ที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอยากให้เข้าใจเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำพามาซึ่งสังคมที่ดีได้”

         “ทว่าสิ่งที่ผมพบตอนนี้คือ อุตส่าห์มีพรรคใหม่ๆ อุดมการณ์ใหม่ๆ แต่ทำไมบางพรรคที่เป็นพรรคใหม่ยังโจมตีคนอื่นในทางการเมืองอยู่ ยังดิสเครดิตคนอื่น บอกว่าคนอื่นมีข้อเสียอย่างนั้นอย่างนี้ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ คุณบอกว่าจะสร้างทางเลือกใหม่ แต่คุณเล่นสร้างศัตรูตั้งแต่เริ่มต้น ผมคิดว่าเราควรสร้างสังคมสมานฉันท์ อย่าเอากำแพงทางการเมืองมาสร้างตั้งแต่เรายังไม่เลือกตั้งเลย เพราะจะกลายเป็นชนวนทางการเมืองในภายหลัง ผมหวังว่าคนรุ่นใหม่ต้องมีอุดมการณ์ที่เปิดกว้าง อย่าเอาคำใดคำหนึ่งที่มันเป็นวาทกรรมการเมืองมาเป็นอุปสรรคในการสมานฉันท์”

        เขาขยายอีกว่า การเมืองของคนรุ่นใหม่จะต้องไม่เอาจุดอ่อนคนอื่นมาเป็นจุดขายตัวเอง ไม่เอาอุดมการณ์ที่เป็นวาทกรรมมาทำลายกัน เพราะอย่างนั้นจะไม่เรียกว่า นักการเมืองรุ่นใหม่ แต่เป็นเพียงแค่ หน้าใหม่

         ส่วนในเรื่องประสบการณ์ด้านการทำโพล ดร.ณพงศ์ เปิดเผยว่า มีความสนใจและความพร้อมอย่างมากที่จะนำความรู้มาใช้ในการทำงานการเมือง โดยเฉพาะ โพลภาพรวมของประเทศ ซึ่งตอนนี้รอการตัดสินใจจากผู้ใหญ่ในพรรค

        ขณะเดียวกัน ยังตอบคำถามถึงความน่าเชื่อถือของ โพลเลือกตั้ง ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เอาไว้ด้วยว่า 

       “โพลก็คือโพล โพลคือกระแส มันมีปัจจัยหลายอย่างทำให้คลาดเคลื่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เป็นผู้ตอบแบบสอบถามจะเปิดใจแค่ไหน หรือหากผลโพลออกมาก่อนเลือกตั้ง ปรากฏว่าออกมาไม่เป็นบวกต่อผู้สมัครคนนั้นๆ เขาก็จะแก้ไขด้วยการรณรงค์หนักขึ้น ซึ่งมันมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโพลได้หมด ดังนั้นมันอยู่ที่เทคนิค”

        อดีต ผอ.นิด้าโพล ยกตัวอย่างสมัยทำนิด้าโพล ในกลุ่มประชากรตัวอย่างที่เรามี ประมาณ 300,000 เบอร์โทรศัพท์ ในจำนวนนี้เราจะกระจายตามจังหวัดและภูมิภาค โดยเราเคยเช็กระหว่างจำนวนประชากรกลุ่มตัวอย่างที่เรามีในแต่ละภูมิภาคกับประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แล้วเรามาดูค่าความสัมพันธ์ ซึ่งมันก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

        “เช่น ประชากรเลือกตั้งในเขตภาคเหนือ 100 แต่ประชากรที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่างที่เราโทร.ไปสำรวจอาจจะมีอยู่แค่ 90 ซึ่งมีค่าความสัมพันธ์อยู่ที่ 95% แต่พอมาไล่รายจังหวัด ค่าความสัมพันธ์ลดลงมาที่ 85% ดังนั้นสิ่งพวกนี้มันมีโอกาสที่จะ Error หรือคลาดเคลื่อนได้เป็นธรรมดา” ในส่วนต้นทุน “ดร.ณพงศ์” ระบุทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ไม่สูงมากนัก และหากจะทำควรเป็น โพลภาพรวมของประเทศ มากกว่า เจาะจงเขต เพราะภาพรวมจะสะท้อนนัยสำคัญอะไรบางอย่างได้.

 

 

ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ พรรคพลังประชารัฐ

อดีต ผอ.ศูนย์สำรวจความเห็น "นิด้าโพล"

จบการศึกษา ปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาโท Master of Science University College of (Built Environment) London, U.K.

ปริญญาเอก Doctor of Philosophy University of Tokyo, Japan (Architecture)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม นิด้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"