เมื่อฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ย้ำจะพยายามเดินหน้าจัดเลือกตั้งให้ได้ในช่วง 24 ก.พ.2562 และเตรียมประกาศเขตเลือกตั้งทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ ทำให้หลายพรรคการเมือง เมื่อตลาดการเมือง การย้ายเข้า-ย้ายออก สมัครสมาชิกพรรคเพื่อลงเลือกตั้ง ปิดตลาดไปเมื่อ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา โหมดการเลือกตั้งต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้ง
ทั้งการเตรียมส่งผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค ตลอดจนการเตรียมกำหนดนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งบางพรรคให้ความสำคัญอย่างมากเพราะถือว่าเป็น อาวุธเด็ด-ธนูการเมือง ที่จะทำให้พรรคประสบความสำเร็จการเลือกตั้ง จนบางพรรคตั้งทีมงาน ซุ่มเงียบเขียนนโยบายให้ฉีก–โดนใจประชาชนกลุ่มต่างๆ ชนิดประกาศออกมาแล้วร้องว้าว–ปัง ปัง ชนิดพรรคอื่น ตาค้าง คาดไม่ถึงมาหลายเดือนแล้ว รวมถึงแต่ละพรรคก็ต้องเตรียมวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งอย่างไรให้ได้ชัยชนะมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการวางแคปเปญรณรงค์หาเสียง การวางแผนหาเสียงเลือกตั้ง การวางตัวแคนดิเดตนายกฯของพรรค การใช้สื่อเพื่อทำให้ประชาชนสนใจและเลือกผู้สมัครของพรรค เป็นต้น
จับจังหวะการเตรียมพร้อมของแต่ละพรรคการเมือง ก็เริ่มขยับกันหลายท่วงท่า อย่าง เพื่อไทย ที่แม้จะมีอดีตแกนนำ อดีต ส.ส.เพื่อไทย ลาออกไปอยู่กับพรรคเครือข่ายจำนวนมาก แต่ในฐานะเป็นพรรคใหญ่ มีฐานเสียง–คะแนนจัดตั้งหลายจังหวัด ก็ทำให้แกนนำพรรคเชื่อว่ายังคุมสภาพความได้เปรียบในภาพใหญ่ไว้จนทำให้น่าจะชนะเลือกตั้งได้ เวลานี้งานหนักเลยอยู่ที่ เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะหัวหอกหลักของพรรค กับเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่ทางการเมืองในเพื่อไทยถือว่าเป็นบอร์ดหลักในการเตรียมเลือกตั้งทุกอย่าง ซึ่งหากเจ๊หน่อยทำให้เพื่อไทยได้ ส.ส.ตามเป้า โอกาสลุ้นชิงนายกฯ ของเจ๊หน่อยก็ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่หากวืดแพ้ไม่เป็นท่า หลายกลุ่มก๊วนในเพื่อไทยไม่กินเส้นเจ๊หน่อยและรอจังหวะถล่มอยู่ ย่อมไม่ปล่อยไว้แน่
ส่วนพรรคเครือข่ายเพื่อไทยอย่าง ไทยรักษาชาติ (ทษช.) เพิ่งตั้ง จาตุรนต์ ฉายแสง พี่ใหญ่ ทษช.เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และน่าจะมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ ทษช.ด้วย แต่กรรมการคนอื่นๆ ยังไม่ตั้งเข้ามา แต่เชื่อว่า ทษช.จะส่งขุนพลการเมือง-ยังบลัดทษช. เข้าไปอยู่ในกรรมการชุดนี้หลายคน
ก็จะได้เห็นการประชันฝีมือ ความเก๋าเกม ความเจนจัดศึกเลือกตั้งกัน ระหว่าง สุดารัตน์-จาตุรนต์ ที่ไม่ถูกกันมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ว่าสุดท้ายใครจะเก่งกว่ากัน จะได้วัดกันเสียที และสองคนนี้อาจถือเป็นคู่ชิงนายกฯ ในฝั่งทักษิณ ชินวัตร-พท.-ทษช. ก็เป็นไปได้ หากผลงานหลังเลือกตั้งและแรงหนุนของสองคนนี้ไม่ห่างกันมาก แม้จะมีเสียงปรามาสว่า จาตุรนต์ เอาแค่ แปดริ้ว-ฉะเชิงเทรา ทำให้ วุฒิพงศ์-ฐิติมา น้องตัวเองไม่สอบตกยกตระกูลแบบรอบที่แล้วก็หืดขึ้นคอแล้ว จาตุรนต์ จึงมีเดิมพันใน ทษช.สูงไม่ใช่น้อย กับบทบาทคีย์แมนหลักของพรรค ที่หากผลงานที่ ทษช.ไม่เข้าเป้า โอกาสที่ ทักษิณ ชินวัตร จะดันให้ไปไกลกว่านี้ คงยากแล้ว
ขณะที่พรรคใหม่มาแรงอย่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่แม้จะมีอดีต ส.ส.อยู่ในสังกัดค่อนข้างมาก แถมเป็นพรรคขั้วฝ่ายรัฐบาล เลยทำให้จากที่เคยถูกมองว่าจะเป็นพรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 3-4 ตอนนี้แกนนำ พปชร.เริ่มมั่นใจจะได้อันดับ 2 แซง ปชป.แล้ว โดยล่าสุด พปชร.ได้ตั้งคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ โดยมีสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์และเลขาธิการพรรค เป็นประธาน แต่ทัพหลักของ พปชร.น่าจะเป็น คณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง ที่ใช้บริการ สมศักดิ์ เทพสุทิน ขุนศึกการเมือง พปชร.-อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย-แกนนำกลุ่มสามมิตร เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 13 คน ซึ่งมีทั้งอดีต รมต.-อดีตนักเลือกตั้งหลายสมัยเช่น อนุชา นาคาศัย, ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็นต้น
ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวก็ติดเครื่องนัดประชุมกันทันทีเมื่อช่วงเย็นวันพุธที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับสมศักดิ์ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนในรัฐบาล-คสช.-พปชร. ยอมรับเช่นกันว่า เขาเป็นของจริง ไม่ใช่นักการเมืองรุ่นใหญ่ หมดราคา
เห็นการวอร์มอัพ เตรียมอุ่นเครื่องของหลายพรรคเวลานี้แล้ว รับรองได้ว่าเข้าฤดูกาลเลือกตั้งเต็มตัว แต่ละพรรคหวดกันมันส์หยด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |