28 พ.ย.61 - ที่พรรคภูมิใจไทย(ภท.) มีการจัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “ข้าวระบบกำไรแบ่งปัน Profit Sharing” โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกพรรคภูมิใจไทย นายกิจษารธ อ้นเงินทยากร ตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจ.อ่างทอง และนายวิจิตร เกษมสุข ตัวแทนเกษตรกรจ.อ่างทอง ร่วมกันเสวนา
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ให้ความสำคัญในเรื่องข้าว และเห็นปัญหาของเกษตรชาวนาที่ลงทุนทั้งแรง และเงิน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งจน เป็นหนี้ แต่จะทำยังไงให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่นายทุนผู้ประกอบการโรงสีกลับไม่ได้รับผลกระทบ ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีโครงการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าว การประกันราคาข้าว แต่ก็มีปัญหาเรื่องการทุจริตตามมา ทำให้ไม่ยั่งยืน เงินบางส่วนเล็ดลอดออกจากระบบ ทำให้เงินสูญหายกว่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี รวมถึงกฎขององค์การการค้าโลก(WTO) ได้กำหนดเงื่อนไข จะไม่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับโครงการในลักษณะประชานิยม การตั้งราคาสูงเกินตลาด การแทรกแซงราคาดังที่ผ่านมาได้แล้ว ทางพรรคจึงได้มีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ในแบบแบ่งปันผลกำไรอย่างเป็นธรรม
ขณะที่นายภราดร อธิบายเรื่องข้าวระบบกำไรแบ่งปันว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศไทย ถือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังเกตได้ว่าถ้าปีไหนขายข้าวได้ดี ปริมาณการใช้จ่ายก็จะเกิดการกระจายตัว เศรษฐกิจดี แต่ที่ผ่านมาราคาข้าวตก เศรษฐกิจซบเซา ภายหลังโครงการรับจำนำข้าว พบการทุจริต ดังนั้นระบบกำไรแบ่งปันในเรื่องข้าวของพรรคภูมิใจไทย จะเริ่มที่3กลุ่ม คือ 1.เกษตรกรชาวนา 2.โรงสี และ3.ผู้ประกอบการส่งออกข้าว แล้วแก้โครงสร้างต้นทุน - กำไร ที่ผ่านมาเราพบว่าชาวนามักจนสุด แต่โรงสี กับผู้ประกอบการส่งออกข้าวกลับไม่จน และได้กำไรมากกว่า ห่วงโซ่อุปทานมันจึงผิดพลาด
“เราจะปรับระบบแบ่งสรรปันส่วนผลกำไรแบบ 70:15:15 คือชาวนา ได้กำไร 70 เปอร์เซ็นต์ โรงสี 15เปอร์เซ็นต์ และผู้ประกอบการส่งออกข้าว 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากสถิติข้อมูลปี61 เดิมชาวนาได้กำไรจากข้าวเปลือก 1,255 บาทต่อตันเมื่อหักลบต้นทุน ราคาขายแล้ว อาจดูเหมือนเยอะ แต่ต้องมีค่าเช่าที่ และยังไม่รวมค่าแรงอีก กำไรก็จะลดลงไปกว่านี้ โดยจะได้รับส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 2,818 บาทต่อตัน ด้านโรงสี จากเดิมได้กำไร756บาทต่อตัน จะได้กำไร 603 บาทต่อตัน และผู้ประกอบการส่งออก จากเดิมได้กำไร 2,221 บาทต่อตัน ก็จะได้กำไร 603 บาทเช่นกัน” นายภราดร กล่าว
เขา กล่าวด้วย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้เรายังมีแนวคิดที่จะตั้งกองทุนข้าวขึ้นมาบริหารจัดการ มีการบริการสินเชื่อข้าว แบ่งปันผลประโยชน์หมุนเวียนภายในกองทุน มีการประกันภัยพิบัติ โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล แต่อาจดึงบริษัทประกันภัยมาร่วมสนับสนุน โดยใช้โมเดลเดียวกันกับเรื่องอ้อย ที่มีการเสวนามาก่อนหน้านี้ เพื่อที่รัฐจะได้ไม่ต้องแบกรับ หรือนำงบประมาณแผ่นดินจำนวนหลายแสนล้านบาท มาทำโครงการเกี่ยวกับข้าวเหมือนที่ผ่านมา
ด้านตัวแทนจากภาคเกษตรกรในพื้นที่ได้สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาผู้ปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลเพาะปลูก ระบบชลประทาน การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การเป็นเจ้าของโรงสี ซึ่งได้สนับสนุนแนวคิดของพรรค และได้เสนอแนวทางแก้ไข จำเป็นต้องออกเป็นพ.ร.บ.ข้าว แล้วนำแนวคิดของพรรคบรรจุเข้าไปในพ.ร.บ.
ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า ในฐานะภาครัฐ ก็มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรกินดีอยู่ดี มีรายได้ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเราที่ต้องให้บริการเกษตรกรอยู่แล้ว ซึ่งแนวคิดของพรรคภูมิใจไทย เรายินดีสนับสนุน และให้ความร่วมมือตามอำนาจหน้าที่
เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ปัญหาของรัฐคือการสงวนอำนาจทางกฎหมาย ขณะนี้เรายังไม่มีพ.ร.บ.ข้าว ดังนั้นต้องมีการจัดระบบแบ่งปันกำไรกันใหม่ ยืนยันว่านโยบายของเราจะทำให้เกษตรกรได้เงินมากกว่าที่ผ่านมา ภาระหนี้สินต่างๆจะถูกปลด อย่างไรก็ตามเราจะจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับพ.ร.บ.ข้าว นำขึ้นเพจพรรคภูมิใจไทยเพื่อรับฟังความคิดเห็นภายใน2สัปดาห์นี้ ที่จะนำแนวคิดที่ได้นำเสนอทั้งหมด โดยเฉพาะกองทุนข้าวบรรจุเข้าไปด้วย ซึ่งกองทุนข้าวจะต้องมีเกษตรกรเข้าไปบริหารด้วย ไม่ใช่มีแต่ส่วนราชการ และมีการเปิดเผยตัวเลขทุกขั้นตอน .
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |