28พ.ย.61-นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่าศึกษานิเทศก์ที่เคยเป็นครูชำนาญการไม่มีสิทธิ์สอบ ที่ประชุมก.ค.ศ.จึงได้มีมติเห็นชอบให้ศึกษานิเทศก์ที่เคยเป็นครูชำนาญการสามารถสมัครสอบ ผอ.สถานศึกษาได้ เพื่อเป็นการเปิดกว้างเนื่องจากผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับครูและศึกษานิเทศก์ก็เป็นครูของครู ที่สำคัญเมื่อเปิดโอกาสให้ครูชำนาญการมาสมัครสอบได้ก็ควรจะเปิดโอกาสให้ศึกษานิเทศก์ที่เคยเป็นครูชำนาญการด้วย และที่ประชุมยังได้พิจารณาเกณฑ์การสอบคัดเลือกรอง ผอ.สถานศึกษา ซึ่งคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ยังไม่เห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและมีคำถามว่าการสอบเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) ก็ตอบว่าไม่ใช่และบอกว่ามีวิธีที่ดีกว่านี้ ดังนั้นจึงควรหารือกันก่อนว่าควรจะเป็นวิธีใด ตนจึงให้กลับไปจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกรอง ผอ.สถานศึกษาเสนอกลับมาใหม่ และหากเกณฑ์การคัดเลือกรอง ผอ.สถานศึกษาที่เสนอมาดี การคัดเลือก ผอ.สถานศึกษาก็ต้องคิดเกณฑ์ใหม่เพื่อนำมาใช้ในการสอบรอบหน้า ซึ่ง กพฐ.ก็ได้มีการคิดไว้แล้วแต่ไม่ได้นำมาใช้ในการสอบรอบนี้ เพราะหากจะแก้หลักเกณฑ์การสอบคัดเลือก ผอ.สถานศึกษาเกรงว่าจะโกลาหลเพราะกำลังจะรับสมัครสอบ
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเกณฑ์การสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นการสอบสนามเล็กของครูอัตราจ้าง ซึ่ง สพฐ.ได้เสนอการสอบคัดเลือกเช่นเดียวกัน แต่ ก.ค.ศ.ได้พิจารณาตามมาตรา 51 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เปิดให้หน่วยงานการศึกษาที่มีเหตุผลและความจำเป็น บรรจุและแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการระดับสูงเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ โดยขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และขออนุมัติจาก กคศ. ซึ่งมาตรา 50 เปิดทางให้ใช้วิธีอื่นได้ ในกรณีที่ไม่สามารถเปิดสอบแข่งขันได้ หรือสอบแล้วอาจไม่ได้คนเก่งๆตามที่ต้องการ ดังนั้นการที่ สพฐ.คัดเลือกอัตราจ้างโดยการสอบแข่งขันเป็นการสวนทางกับกฎหมายซึ่งทำไม่ได้ จึงเห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก โดยให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปจัดทำกรอบวิธีการเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่การพิจารณา กศจ.จะต้องเป็นผู้เสนอมาตามเหตุผลและความจำเป็นพิเศษ ดังนั้นขอให้ใจเย็นๆต่อไปครูอัตราจ้างโดยเฉพาะคนที่เก่งๆ หรือมีประสบการณ์จะได้ไม่ต้องไปสอบ
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาฯ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับปฏิทินการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษามีดังนี้ ประกาศรับสมัครสอบ 27 ธันวาคม 2561 รับสมัครตั้งแต่วันที่ 3-9 มกราคม 2562 สอบข้อเขียน 19 มกราคม 2562 สอบสัมภาษณ์ 9 กุมภาพันธ์ 2562 และประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการคัดเลือกภายใน 12 กุมภาพันธ์ 2562