พ.ศ.2482 เกิดสงครามขึ้นในทวีปยุโรปโดยประเทศที่เข้าร่วมสงครามเป็นประเทศตะวันตก ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส
ในขณะที่ทางเอเชียก็เกิดสงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากความขัดแย้งในดินแดนตอนใต้ของแมนจูเรีย สงครามที่เกิดขึ้นในทั้งสองทวีปนี้ได้เชื่อมโยงกันและขยายวงมาถึงดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อฝรั่งเศสยอมแพ้เยอรมนีในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2483
หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงคราม ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองขึ้นในอาณานิคมของฝรั่งเศส ญี่ปุ่นจึงถือโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการในดินแดนนี้โดยส่งกำลังเข้าควบคุมอินโดจีนของฝรั่งเศส ได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชาในปัจจุบัน โดยขอให้รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศสปิดแนวชายแดนที่ติดต่อกับจีน เพื่อป้องกันการส่งกำลังช่วยเหลือรัฐบาลจีนซึ่งกำลังทำสงครามยืดเยื้อกับญี่ปุ่นอยู่ และต่อมาได้ทำสัญญายินยอมให้ญี่ปุ่นตั้งกองทหารในอินโดจีนได้ ทำให้สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และเนเธอแลนด์ดำเนินมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่น เพื่อกดดันให้ญี่ปุ่นยุติสงครามกับจีนและถอนกำลังทหารออกจากอินโดจีนของฝรั่งเศส
แต่ผลดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังเข้าโจมตีดินแดนอาณานิคมทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออก และยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งทะเลที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู สมุทรปราการ
ส่งทหารเข้าโจมตีมณฑลกวางตุ้งและเกาะฮ่องกงของอังกฤษ ส่งเครื่องบินโจมตีฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา ฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) สองวันหลังจากเปิดแนวรบไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้บัญญัติชื่อเรียกสงครามครั้งนี้ว่า "Greater East Asia War" หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา สถานการณ์ของสงครามที่ขยายตัวและเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ นี่กลายเป็นที่มาของคำเรียกสงครามโดยรวมว่า สงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อคราวที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของไทย ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ อาสาสมัครต่างๆ ในจังหวัดเหล่านั้นได้ทำการต่อสู้และได้พลีชีพเพื่อชาติจำนวนมาก รัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พิจารณาเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมจะรบกับกองทัพญี่ปุ่น
ประกอบกับญี่ปุ่นได้แจ้งความประสงค์ขอเพียงเดินทัพผ่านประเทศไทย และจะเคารพเอกราชอธิปไตยของไทย รัฐบาลไทยจึงมีคำสั่งให้หยุดยิงและยุติการสู้รบ และตัดสินใจทำกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ทำให้ไทยเป็นประเทศพันธมิตรกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว และพัฒนาไปสู่การประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม พ.ศ.2485
หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นจากประเทศพม่าพ่ายแพ้ต่อกองทัพอังกฤษในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488 ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น
ต่อมามีการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 และในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2488 มีการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองที่เมืองนางาซากิ ราษฎรญี่ปุ่นเสียชีวิตนับล้านคน ทำให้ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2488 สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตมีพระบรมราชโองการยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยปราศจากเงื่อนไข และให้บรรดาทหารญี่ปุ่นทั้งหมดวางอาวุธโดยสิ้นเชิง สงครามมหาเอเชียบูรพาจึงได้ยุติลง
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นแพ้สงคราม ในช่วงแรกรัฐบาลไทยกักบริเวณชาวญี่ปุ่นไม่ให้ออกจากที่พักเพื่อความปลอดภัย มีตำรวจคอยดูแลรักษาความปลอดภัยหน้าที่พัก ซึ่งในเวลานั้นกองกำลังของสัมพันธมิตรได้เข้าควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศไทยด้วย
แต่เดิมทางราชการได้จัดเตรียมสถานที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของค่ายพิทักษ์บางบัวทองแห่งนี้เพื่อรองรับการเคลื่อนย้าย สถานที่ราชการบางส่วนงานมาอยู่ที่บางบัวทอง เพราะขณะเกิดสงครามกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดทำลายเพื่อตัดกำลังทหารกองทัพญี่ปุ่น โดยทำให้สถานที่ราชการสำคัญๆ หลายแห่งในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายอย่างหนัก เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง โรงไฟฟ้าวัดเลียบ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสะพานพระราม 6 ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดทำลายสะพานพระราม 6 ถึง 5 ครั้ง ครั้งแรก 1 มกราคม พ.ศ.2487 ลูกระเบิดลงที่วัดสร้อยทอง ไฟไหม้วัดเสียหาย ครั้งที่ 2 วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2487 และครั้งที่ 3 วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2488 สะพานไม่เสียหาย ครั้งที่ 4 วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2488 สะพานถูกลูกระเบิดช่วงสะพานขาด และครั้งที่ 5 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 สะพานถูกระเบิดซ้ำ ช่วงสะพานขาดและชำรุดเสียหายมาก
การที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งถูกระเบิดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรทำลาย ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลกำหนดจะย้ายส่วนราชการบางส่วนมาอยู่ที่อำเภอบางบัวทอง เพราะเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัย
เนื่องจากที่บริเวณปากคลองบางบัวทองเป็นที่ตั้งของโรงงานทำอิฐทนไฟ บ.บ.ท. ของคุณประสาท สุขุม หัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายบางบัวทอง ทำให้บริเวณดังกล่าวได้รับความคุ้มครองจากกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะไม่ทิ้งระเบิดในบริเวณที่มีปล่องเตาเผาอิฐ บ.บ.ท. โดยให้สังเกตจากปล่องเตาเผาอิฐซึ่งมีความสูงและมองเห็นได้แต่ไกล
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงเมื่อ พ.ศ.2489 ชาวญี่ปุ่นจำนวน 3,872 คนถูกควบคุมตัวให้มาพำนักอยู่ที่ค่ายพิทักษ์บางบัวทอง การดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นในค่ายพิทักษ์บางบัวทองเป็นไปด้วยดี เพราะไทยไม่คิดว่าชาวญี่ปุ่นเหล่านี้เป็นเชลยศึกแต่อย่างใด ตัวค่ายตั้งอยู่ริมคลองพระราชาพิมล ห่างจากตลาดบางบัวทองไปทางทิศตะวันตก ตามคลองพระราชาพิมล ห่างจากวัดพระแม่สกลสงเคราะห์ประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในค่ายแบ่งออกเป็น 3 ค่าย คือ ค่ายหนึ่ง ค่ายสอง และค่ายสาม
โดยชาวญี่ปุ่นที่อยู่ที่พำนักอยู่ที่ค่ายแห่งนี้ช่วยกันขุดบ่อน้ำเพื่อใช้เป็นที่เก็บน้ำดื่ม สร้างที่พัก อาคารเรียนสำหรับเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงเด็กโต โรงอาหาร ลานกีฬา และอาคารอื่นๆ ที่จำเป็น อาคารทั้งหมดสร้างด้วยไม้ หลังคาและฝาเป็นจาก
ทุกคนใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติ บางคนมีภรรยาเป็นคนไทย แต่ภรรยาไม่สามารถเข้าไปอยู่ในค่ายได้ ต้องเช่าบ้านหรือห้องแถวอยู่นอกค่าย ภายในค่ายมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีการจัดเวรทำอาหารและทำงานร่วมกัน
เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนภายในค่าย ผู้ใหญ่ได้เข้ารับการศึกษาภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษารัสเซีย เวลาว่างมีกิจกรรมสันทนาการและการเล่นกีฬา เช่น เบสบอลและวอลเลย์บอล และเมื่อถึงเทศกาลตามประเพณีของชาวญี่ปุ่นก็สามารถจัดงานได้ เช่น เทศกาลปลาของญี่ปุ่น
ทุกคนที่อยู่ภายในค่ายมีอิสระในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ห้ามออกไปนอกค่าย นอกจากจะได้รับอนุญาตให้ไปซื้อของที่ตลาดบางบัวทอง โดยผลัดกันไปเป็นกลุ่มๆ
ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ภายในค่ายแต่ละคนมีเงินติดตัวกันมามาก ดังที่นายไพโรจน์ พันธุมจินดา ได้กล่าวไว้ในบท
ความเรื่อง มาสแต็งตกที่บางบัวทอง จากหนังสือ เอาเส้นใหญ่รวมมิตรมาจาน ตอนหนึ่งว่า
" ...พวกเฉลยญี่ปุ่นได้รับอนุญาตมาเที่ยวตลาดได้ทุกวันโดยผลัดกันมาเป็นกลุ่มๆ การเงินเดินสะพัดหมุนจี้ ร้านรวง พ่อค้าแม่ค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะพวกญี่ปุ่นขนเงินติดตัวมาคนละมากๆ บางคนยัดธนบัตรใส่ที่นอน หมอนหนุนหัวแทนนุ่นแน่นเอี้ยด ญี่ปุ่นหนุ่มฐานะชั้นกระจอกคนหนึ่งชื่อซาบูเอะ รู้จักกับที่บ้านและเอาเงินมาฝากไว้หกหมื่นบาทก่อนกลับกรุงเทพฯ และส่งตัวกลับยี่ปุ่นเขามาขอรับเงินคืนไปเป็นที่เรียบร้อย"
ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในค่ายพิทักษ์บางบัวทองได้ใช้ชีวิตอยู่ภายในค่ายจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2489 จึงเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น
ตลอดระยะเวลาของการใช้ชีวิตอยู่ภายในค่าย ทุกคนต่างรู้สึกผูกพันและประทับใจในน้ำใจของคนไทยที่ให้การดูแลเอาใจใส่ต่อชาวญี่ปุ่นที่ถูกควบคุมตัวเป็นอย่างดี
ก่อนเดินทางกลับจึงได้ร่วมกันสร้างสะพานข้ามคลองบางบัวทองที่หน้าวัดละหาร อำเภอบางบัวทอง เพื่อแสดงความขอบคุณชาวไทย โดยเฉพาะชาวบางบัวทองที่ให้ความเป็นมิตรและมีน้ำใจไมตรีตลอดเวลาที่ได้พำนักอยู่ที่ค่าย
สะพานที่สร้างไว้เป็นอนุสรณ์นี้ชื่อว่า สะพานไมตรีนฤมิตร
นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2514 ยังได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมบางบัวทอง ขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่พบปะระหว่างชาวญี่ปุ่นที่ได้มาอยู่ที่ค่ายพิทักษ์บางบัวทองอีกด้วย.
อ้างอิง :https://library.stou.ac.th/
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |