'ขอนแก่น'ผลักดันคนพิการทำงานเพื่อสังคม


เพิ่มเพื่อน    

 

การค้นหาคนพิการที่มีศักยภาพและนำมาอบรมพัฒนาอาชีพ ได้เข้าทำงานใน รพ.อุบลรัตน์ ตลอดจนช่วยเหลือชุมชนใน อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น สะท้อนคนพิการไม่เป็นภาระของสังคม และไม่ควรมองข้ามการฟื้นฟูสุขภาวะคนพิการในทุกมิติ

           

อ.อุบลรัตน์ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องการจ้างงานคนพิการผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐดูแลคนพิการ และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และ 35 ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้ความสำเร็จของ อ.อุบลรัตน์ นำมาขยายผลระดับจังหวัด

            ​

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงานในพื้นที่ 1,773 หน่วยงานทั่วประเทศ โดยในพื้นที่ จ.ขอนแก่น สสส.หนุนเสริมการทำงานผ่านมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จ.ขอนแก่นเน้นการใช้องค์ความรู้ในการขยายเครือข่ายคนพิการและผู้ดูแลให้รวมตัวร่วมคิดร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมทำงานจนพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ และเป็นที่ยอมรับของชุมชน

           

ที่โดดเด่น ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า มีกระบวนการทำงานที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดโครงการสำคัญ อาทิ ศูนย์ล้อไม้คนพิการบ้านทรัพย์สมบูรณ์ โดยสนับสนุนคนพิการที่มีศักยภาพให้พัฒนาผลิตภัณฑ์จนพึ่งตนเองได้, ธนาคารต้นไม้ที่เชื่อมโยงและพัฒนาให้เกิดการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อสังคม เป็นโมเดลรองรับ พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชนด้านสุขภาพ คนพิการสามารถระดมทรัพยากรในพื้นที่มาแปรรูปเป็นต้นทุนในการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในเชิงธุรกิจ จนเกิดรายได้ให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ

           

ด้านนายวันชัย คำบุญ อายุ 46 ปี ผู้พิการขา กล่าวกับคณะที่มาศึกษาดูงานที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการ: ศูนย์ล้อไม้บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ว่า คนพิการคนอื่นที่เป็นมากกว่าเราเขายังสู้และพัฒนาตนเองได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้

           

วันชัยเล่าด้วยความภูมิใจว่า เดิมมีอาชีพผลิตเฟอร์นิเจอร์ ชั้นวางของ ตู้ โต๊ะต่างๆ แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพตนเป็นคนตัวเล็ก ยกของหนักเกินไป อยู่ๆ ร่างกายซีกซ้ายก็ขยับไม่ได้ จึงให้คนที่บ้านพาไปหาหมอ แพทย์แจ้งว่าตนเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจากการยกของหนักและนั่งทำงานนานเกินไป ต้องผ่าตัดและนอนพักรักษาตัวอยู่ 3 ปี ในระหว่างนั้นมีเพียงเบี้ยคนพิการในการดูแลตนเอง ทำให้ตนท้อใจ ไล่ให้ภรรยาและลูกไปอยู่ที่อื่นด้วยความโมโห แต่คุณหมอช่วยกายภาพบำบัดมาเรื่อยๆ จากพิการครึ่งซีกก็ดีขึ้น ปัจจุบันร่างกายซีกซ้ายส่วนบนขยับได้เป็นปกติ

           

วันชัยกล่าวต่อว่า จากนั้นคุณหมอแนะนำให้ตนไปศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้พิการ ตนมีกำลังใจมากขึ้น อยากทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าการอยู่เฉยๆ จึงร่วมโครงการศูนย์ล้อไม้บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาอาชีพคนพิการ ได้สอนงานทำเฟอร์นิเจอร์แก่เพื่อนๆ ผู้พิการด้วยกัน ทำให้มีความสุข มีรายได้จุนเจือครอบครัวเดือนละ 9,000-10,000 บาท มีสังคม พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนมากขึ้น ดีกว่านั่งอยู่ที่บ้านเพื่อรอคนอื่นมาดูแล

           

​“การมองเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ ผมอยากให้กำลังใจคนพิการลุกขึ้นมาสร้างสิ่งดีๆ เริ่มจากการดูแลตนเอง พัฒนาตนเอง และค่อยๆ เริ่มช่วยเหลือสังคม ค้นหาในสิ่งที่ตนเองชอบ ฝึกฝนทำด้วยความรัก สุดท้ายเราจะรู้สึกภูมิใจในตนเองมากขึ้น เกิดความสุขทั้งทางกาย ทางใจ มีสังคมใหม่ อีกทั้งยังสร้างรายได้ มีเงินออมให้ใช้บั้นปลายชีวิต และไม่ตกเป็นภาระของใคร” นายวันชัยเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

           

นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ.รพ.อุบลรัตน์ กล่าวว่า ทาง รพ.ได้จ้างงานคนพิการจำนวน 12 คนเข้ามาดูแลทำความสะอาดตึกพยาบาลแห่งใหม่เพื่อเตรียมเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องในโครงการโรงพยาบาลประชารัฐ ที่ได้จัดทำตามโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการ ตามมาตรา 35 ตั้งแต่ปลายปี 2559 ทำให้คนพิการในเขตชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง เกิดพื้นที่ทางสังคม ทางปัญญา ด้วยการค้นหากิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับคนพิการ ซึ่ง สสส.และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นสนับสนุนการจัดการให้กับคนพิการใช้ต่อยอดในการสร้างเสริมอาชีพ มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างมั่นคง โดย อ.อุบลรัตน์รับหน้าที่พัฒนาในส่วนชนบทตั้งแต่กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ให้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับอำเภอ จำนวน 52 เวที และ 4 เวทีในระดับจังหวัด ได้ลงพื้นที่ค้นหาคนพิการที่มีศักยภาพ ซึ่งมีจำนวน 48 คนที่มีฝีมือในการจัดทำจำหน่ายสินค้าที่ประดิษฐ์จากของในพื้นที่ และจากการปลูกพืชผักตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นได้รวมตัวจัดตั้งศูนย์ล้อไม้บ้านทรัพย์สมบูรณ์ เป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาอาชีพคนพิการขึ้น เพื่อให้ผู้พิการมารับการอบรม ซึ่งมีจำนวน 600 คน

           

​“นอกจากนี้ยังมีบริษัทอุตสาหกรรมจากเอกชนมาร่วมสนับสนุนคนพิการ และร่วมพัฒนาปรับศูนย์เรียนรู้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดสุขภาวะทางกาย ทำให้คนพิการมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินออมไว้ใช้จ่ายในอนาคต มีสุขภาวะทางใจมีความสุขจากการมีงานทำ และเป็นงานที่เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ สามารถสร้างผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ช่วยเหลือทั้งใน รพ.และในเขตชุมชน ถัดมาเกิดสุขภาวะทางสังคม คนพิการมีรายได้จากการได้อุทิศเวลามาทำงานเพื่อสังคม ช่วยเหลือ รพ. โดยรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของ รพ.อุบลรัตน์ด้วย และเกิดสุขภาวะทางปัญญา เกิดการรวมตัวสร้างสรรค์ผลงานสาธารณะ ทั้งการเกษตร การเพาะการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ รวมถึงการปลูกต้นไม้ เช่น ต้นยางนา ต้นสัก การทำกล้าไม้ เพื่อให้ผู้สนใจนำไปปลูก เข้าโครงการธนาคารต้นไม้ตามนโยบายของรัฐบาลทั้งในเขตพื้นที่ ตำบล ชุมชน อำเภอ และใน จ.ขอนแก่น ส่วนการดำเนินงานต่อไปจะชวนคนพิการผลิตอาหารปลอดสารเคมี ดูแลคนไข้ทั้งชุมชนและจังหวัด พร้อมส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่ช่วยดูแลผู้พิการ” นพ.อภิสิทธิ์ทิ้งท้าย

           

การเข้าไปหนุนเสริมให้คนพิการมีงานทำ เป็นการฟื้นฟูสุขภาวะทั้ง 4 มิติ กาย ใจ ปัญญา สังคม ช่วยให้มีความสุข ลดการเจ็บป่วย และพร้อมที่จะสู้กับสังคมในปัจจุบันที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญบุคคลเหล่านี้จะไม่ถูกหลงลืม แต่กลายเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"