ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัยที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,500 คนจากทั่วโลก
ผลการประชุมมีคำประกาศกรุงเทพที่มุ่งลดความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อ โดยเน้นย้ำความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลทุกประเทศเพื่อมุ่งสู่จุดหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในคำประกาศระบุผลักดันให้ผู้นำป้องกันการบาดเจ็บและความรุนแรงอย่างจริงจังทั้งออกกฎหมายควบคุมและการรณรงค์ส่งเสริม การประชุมครั้งนี้จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มีภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย ในประเด็นความปลอดภัยเป็นงานสำคัญที่ สสส.ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายมาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนเชิงวิชาการ นโยบาย และการสร้างจิตสำนึกให้แก่สาธารณะ เพราะปัญหาเรื่องความปลอดภัยทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลก หลังจากโรคติดเชื้อลดลง แต่มีโรคจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและภัยต่างๆ เกิดขึ้นแทน รวมถึงภัยพิบัติจากความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ถี่และรุนแรงเพิ่มขึ้น สสส.ทำงานกับทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน พบว่าอัตราการตายอันดับ 1 ของเด็กคือ จมน้ำ รองลงมา อุบัติเหตุทางถนน
ดร.สุปรีดากล่าวว่า สสส.ร่วมกับคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องวินัยจราจรให้กับเด็กและผู้ปกครอง ล่าสุดมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 30 แห่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในความดูแลของ 16 อปท. และเตรียมจะขยายผล
นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนฯ ระบุ ยังร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) พัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดภัยด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมในศูนย์ให้ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น สนามเด็กเล่นปลอดภัยและของเล่นปลอดภัย รวมทั้งดำเนินงานป้องกันเด็กจาก IT Media การป้องกันเด็กจมน้ำ และการไม่สนับสนุนให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการทำงานที่ สสส.นำเสนอผ่านเวทีโลกนี้
"สร้างความปลอดภัยตั้งแต่ออกจากบ้านมาถึงศูนย์เด็กเล็ก มีการดูแลจุดเสี่ยงส่งเสริมให้สวมหมวกนิรภัยในพื้นที่ที่ สสส.ทำงานอยู่ เด็กเล็กสวมหมวก 100% ส่วนผู้ใหญ่ 71% จะขยายผลต่อไป รวมทั้งร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.มวย ฉบับแก้ไขใหม่ โดยเฉพาะกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ห้ามแข่งขันมวยเด็ดขาด ถ้าอายุเกิน 12 ปี ต้องมีเครื่องป้องกัน ตลอดจนสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎหมายควบคุมสารชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติทำให้พลาสติกนิ่ม ผู้ประกอบการนำมาผลิตของเล่นเด็ก ซึ่งสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เด็กป้องกันตัวเองได้จำกัด นอกจากพ่อแม่ ชุมชนช่วยดูแลแล้ว ยังต้องมีกติกากลาง" ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า
สำหรับภาพรวมของสถานการณ์ความปลอดภัยในเด็ก ดร.สุปรีดากล่าวว่า อัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลง 10 ปีก่อน 3,000 รายต่อปี ปัจจุบันเหลือ 2,000 ราย ส่วนเคสเด็กจมน้ำจาก 600 รายต่อปี เหลือ 220 ราย มาจากครอบครัวรากหญ้าส่วนใหญ่
ในการส่งเสริมด้านความปลอดภัยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้น ดร.สุปรีดาย้ำว่า ต้องสร้างสังคมที่มีกติกาพื้นฐานดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง รักษากฎกติกาให้เคร่งครัด ขณะที่ครอบครัว ชุมชน สังคม ต้องมีวัฒนธรรมความปลอดภัยตลอดเวลา อีกทั้งต้องไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุของความรุนแรงและความปลอดภัยทางถนน คนที่มีทักษะขับขี่ที่ดีดื่มเหล้าก็สมรรถนะลดลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ปัญหาข่มขืนและความรุนแรงทางเพศในเด็ก แอลกอฮอล์ก็เป็นต้นเหตุสำคัญ
"การประชุมระดับโลกครั้งนี้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยผลักดันคำประกาศกรุงเทพฯ เข้าสู่สมัชชาองค์การอนามัยโลกต่อไป อีกทั้งส่งผลให้ภาคีเครือข่ายตื่นตัวมากขึ้น การผลักนโยบายระดับโลก ท้ายสุดก็กลับมาสู่รัฐบาลไทยขับเคลื่อน" ดร.สุปรีดากล่าว
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ และประธานคณะทำงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า การประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัยเกิดขึ้นทุก 2 ปี มีการแลกเปลี่ยนกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วลดการบาดเจ็บและสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืน อาทิ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเน้นกลไกความปลอดภัยระดับชุมชน ลดเจ็บตายบนท้องถนน โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด หันกลับมาที่ประเทศไทย ดูจากสถิติการออกเหตุกู้ชีพ 1.5 ล้านครั้งต่อปี เป็นเหตุรถชนกัน 3-4 แสนครั้ง และที่น่าตกใจช่วงวัยที่เกิดเหตุ 15-40 ปี เป็นวัยสร้างบ้านสร้างเมือง ถือเป็นความสูญเสียของประเทศด้านทรัพยากรบุคคลและภาระค่ารักษาพยาบาล
"ส่วนสถิติอุบัติเหตุจากการเก็บข้อมูลโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย อันดับ 1 รถชน อันดับ 2 คนสูงวัยล้ม ซึ่งกำลังแซงหน้า เพราะจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ถัดมาความรุนแรงจากการทำร้ายร่างกายและการฆ่าตัวตาย อันดับ 4 เด็กจมน้ำและอุบัติเหตุคนทำงานในระบบและนอกระบบ คราวนี้ลองมาดูสถิติญี่ปุ่นพบว่าเหตุการตายของผู้สูงวัยอันดับแรกไม่หายใจหรือสำลักตาย ถัดมาล้มจนเสียชีวิต 5-6 พันราย ไทยมีประชากรน้อยกว่า แต่ล้มถึงตายเท่าญี่ปุ่นก็ต้องแก้ปัญหาลดอัตราสูญเสียให้ได้" นายแพทย์วิทยากล่าว
ความสูญเสียจะลดลงได้หากเข้าใจและจัดการแก้ปัญหาเพื่อความลดเสี่ยงแบบบูรณาการ
นายแพทย์วิทยากล่าวว่า ไทยตั้งเป้าภายใน 12 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.2573 ถนนจะต้องกลายเป็นถนน 3 ดาว ปัจจุบันทำโครงการนำร่องที่ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ และภูเก็ต รวมถึงรถเก่าและรถใหม่ต้องได้มาตรฐานมากกว่านี้ ปลอดภัยต่อคนเดินถนน นักปั่นจักรยาน ที่สำคัญต้องขับเคลื่อนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน เมาไม่ขับ ไม่ใช้โทรศัพท์ ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกนิรภัย และมีเบาะนั่งเด็กในรถยนต์หรือคาร์ซีต อีกภารกิจต้องต่อสู้ต้องคัดกรองคนขับทั้งใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล ขณะที่รถขนส่งสาธารณะ กำหนดเวลาทำงานคนขับอย่างเหมาะสมเพื่อลดอุบัติเหตุ เมื่อเกิดเหตุต้องช่วยเหลือทันท่วงที ซึ่งภารกิจนี้ สพฉ.เป็นผู้นำขับเคลื่อนหลัก ส่วนสถาบันความปลอดภัยด้านถนนจะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2563 เพื่อทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลและทำระบบมอนิเตอร์ป้องกันอุบัติเหตุ ต้องมีการบูรณาการที่ดีขึ้น อีกทั้งสร้างศักยภาพมีวินัยการขับขี่ให้สูงขึ้น คำประกาศกรุงเทพคือเป็นประกาศจุดยืน ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และประชาชนต้องร่วมมือกันจะประสบความสำเร็จ
แม้เวทีจบลง แต่ทุกชาติคาดหวังในอนาคตทั่วโลกจะช่วยกันลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงให้เป็นศูนย์ได้ แน่นอนว่าความปลอดภัยจะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนทางสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |