"ไทย เฮลท์ เดย์ รัน 2018" หนุนกิจกรรมทางกาย เพิ่มพื้นที่สุขภาวะมาตรฐาน


เพิ่มเพื่อน    

 

การเติบโตของกิจกรรมการวิ่งนับพันงานต่อปี ผู้คนทุกเพศทุกวัยออกมาเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ บ่งบอกกระแสใส่ใจรักสุขภาพในสังคมไทยมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นกิจกรรมทางกายที่เข้าถึงได้ง่าย

           

งานวิ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 2 เพิ่ม 1 ลด คือ เพิ่มกิจกรรมทางกาย เพิ่มพื้นที่สุขภาวะและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในประชากรทุกกลุ่มวัย การส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท สสส.มีเป้าหมายสนับสนุนให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น

           

สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ IAFF กำหนดให้ผู้จัดงานวิ่งต้องคำนึงถึงมาตรฐานการจัดงาน ปีนี้ สสส.ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยได้จัดทำและเผยแพร่ "คู่มือการจัดกิจกรรม งานวิ่งเพื่อสุขภาพ" เพื่อให้การจัดงานมีความปลอดภัย ยุติธรรมเท่าเทียม และสนุกสนานสำหรับผู้จัดและนักวิ่งทุกคน

           

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการก่อตั้ง สสส.ปีนี้ครบรอบปีที่ 17 เรายังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีใน 4 มิติ ทั้งทางกาย จิต ปัญญา สังคม บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจว่า เป้าหมายสุขภาวะดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่สื่อสารรณรงค์ แต่ทุกภาคส่วนต้องลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง ​สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนเงื่อนไขชีวิตของผู้คนให้พร้อม ให้สะดวกที่จะมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีด้วย เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการกิน อยู่ หลับนอน แนวโน้มวิถีคนรักสุขภาพมาแรงอย่างต่อเนื่อง

           

ผู้จัดการกองทุน สสส.เผยว่า ประจักษ์พยานล่าสุด องค์การอนามัยโลกนำเสนอผลการติดตามการดำเนินงานด้านการควบคุมโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักการตายของประชากรไทยและโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าในปี 2560 ไทยมีการดำเนินงานการบรรลุผล 12 ใน 19 มาตรการหลักที่งานวิชาการชี้ว่านำไปสู่การลดโรคไม่ติดต่อในระดับประชากร นับเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์

           

ตัวอย่างมาตรการสำคัญที่ไทยขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องส่งให้ติดอันดับ 1 อาเซียน ดร.สุปรีดายกตัวอย่างนโยบายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ การขึ้นภาษีและการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรณรงค์สื่อสารในเรื่องบุหรี่ สุรา อาหารและกิจกรรมทางกาย เป็นต้น ซึ่ง 17 ปีที่ผ่านมา สสส.ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกผลักดันที่สำคัญ พญ.ชุมยา สวามินาถัน รองผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประธานคณะทำงานสหประชาชาติที่มาติดตามงานนี้ในไทยได้ทวีตถึง สสส.ว่า “สสส.กองทุนสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย ที่มีรายได้จากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ มีบทบาทโดดเด่นในการผลักดันนโยบาย การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคม การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ”

           

นอกจากนี้ คณะทำงานสหประชาชาติมีข้อเสนอแนะของต่อรัฐบาลไทยหลายประเด็นสำคัญ ดร.สุปรีดาเผยว่า สหประชาชาติเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนนอกงานสาธารณสุข เพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ส่วนข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับ สสส.คือ รัฐบาลควรบำรุงรักษากลไกนวัตกรรมการเงินการคลังที่ยั่งยืนจากภาษีสุรา ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล รวมถึงมีการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อให้มีความต่อเนื่อง อีกทั้งให้รัฐบาลสนับสนุนบทบาทประเทศไทยให้เป็นผู้นำโลกและศูนย์กลางด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ในบริบทประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้บทเรียนของกระทรวงสาธารณสุข สสส.สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) อีกด้วย

           

การสร้างความตระหนักในกิจกรรมทางกาย เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของสหประชาชาติต่อการลดปัญหา NCDs ดร.สุปรีดาระบุว่า การเติบโตของการวิ่งถือเป็นกิจกรรมที่บ่งบอกกระแสสุขภาพในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากกว่า 1,000 งานวิ่งต่อปี และมีนักวิ่ง 15 ล้านคนที่ออกมาวิ่งกัน การเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นกิจกรรมทางกายที่ทำได้ง่าย เริ่มต้นได้ทันที เข้าถึงประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และเข้าร่วมได้ไร้ขีดจำกัด

           

"ที่ผ่านมา สสส.ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมเดินวิ่งเกือบ 10 ปี โดยมีจำนวนนักวิ่งเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านคน ในปี 2549 เพิ่มเป็น 15 ล้านคน ในปี 2560 ซึ่งเราหวังให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2564" ดร.สุปรีดากล่าว

           

มาตรฐานการจัดงานวิ่งต้องให้ความสำคัญ ดร.สุปรีดาระบุหลายปีที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยจัดทำ “คู่มือมาตรฐานงานวิ่ง” เพื่อให้ทุกคนได้วิ่งอย่างสนุกและปลอดภัย ​นอกจากสนับสนุนงานกว่า 300 งานแล้ว งาน ThaiHealth Day Run ซึ่งจะจัดในวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ณ สนามศุภชลาศัย กรุงเทพฯ สสส.มุ่งกระตุ้นให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่เข้าสู่สนามวิ่งเป็นจำนวนมาก ภายใต้คำขวัญ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” (Run for New Life) เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนใช้การวิ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองและผู้คนรอบข้าง จนเกิดเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจมากมายของผู้ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยการวิ่ง มีบรรดานักวิ่งหน้าใหม่ที่กลายเป็นนักวิ่งขาประจำไปจำนวนมาก

           

​​สำหรับมาตรฐานการจัดงานวิ่ง 1S 2F สาระสำคัญที่เผยแพร่ผ่านการจัดทำ "คู่มือการจัดกิจกรรม งานวิ่งเพื่อสุขภาพ" ของ สสส. เพื่อให้การจัดงานมีความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยบนเส้นทางวิ่ง ระบบการแพทย์ และการดูแลนักวิ่งตลอดเส้นทาง ทั้งก่อนวิ่ง ขณะวิ่ง และหลังเส้นชัย จุดบริการบนเส้นทางวิ่ง ได้แก่ น้ำ เกลือแร่ ผลไม้ การประกันอุบัติเหตุให้นักวิ่งและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันด้านความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน งานวิ่งต้องมีความยุติธรรมแก่ผู้เข้าแข่งขันให้ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีความถูกต้องเป็นธรรมในการตัดสินผลการแข่งขัน ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขัน ในการสัญจร การประกอบอาชีพและกิจกรรมในชีวิต

           

ไม่เพียงเท่านี้ งานวิ่งต้องมีความสนุกสนาน มีการสร้างสีสัน การแสดงประจำท้องถิ่น และนักวิ่งแฟนซี เพื่อสร้างความบันเทิงระหว่างเส้นทางวิ่ง ซึ่งเป็นการสร้างความสนุกสนานและให้กำลังใจนักวิ่ง ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานงานวิ่งสำหรับผู้จัดและนักวิ่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"