'บ้าน' สถานที่ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าปลอดภัยจากการกระทำความรุนแรงทางเพศ มาวันนี้คงต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เพราะล่าสุดจากการเก็บสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศจากสื่อหนังสือพิมพ์พบว่า เหตุข่มขืนเกิดในบ้านของเหยื่อเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาในที่พักของผู้กระทำ ขณะที่ถนนเปลี่ยว ที่เปลี่ยวๆ มาเป็นอันดับท้าย
ส่วนข่าวการข่มขืนยังคงครองแชมป์อันดับ 1 และยังเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ข้อมูลข่าวยังชี้ชัดการดื่มเหล้าเมาเป็นมัจจุราชกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุด ทั้งข่มขืน อนาจาร รุมโทรม พรากผู้เยาว์ นี่ยังไม่พูดถึงเหยื่อมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ หลายข้อค้นพบจากรายงานสะท้อนข่มขืนคืบคลานเข้ามาเป็นภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน ต้องเร่งแก้ปัญหาและหาทางออก เหตุนี้มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสิรินยา บิชอพ และเครือข่ายเยาวชนนักดื่มหน้าใหม่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีสัมมนารายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงทางเพศ ประจำปี 2560 ตอนข่มขืน...ภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน ที่โรงแรมเอเชีย เมื่อวันก่อน
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า ในภาพรวมความรุนแรงทางเพศมีกลุ่มเด็กและเยาวชนถูกข่มขืนจำนวนมากขึ้น ข้อมูลที่ได้ไม่เฉพาะข่าวจากหนังสือพิมพ์ ยังรวบรวมกรณีที่มีผู้มาร้องเรียน มาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิอีกด้วย ทุกปีมีเด็ก นักเรียน นักศึกษาถูกกระทำเพิ่มขึ้น หากไม่เร่งหาทางออกจะแก้ไขสถานการณ์ยากยิ่งขึ้น รวมถึงจะนำไปสู่การฆ่าผู้ก่อเหตุข่มขืนมากขึ้นในอนาคต ขณะที่เด็กวัยเรียนหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจะหยุดเรียนการคัน หรือถ้าขาดการเยียวยาบำบัดรักษาจะมีผลกระทบด้านจิตใจ
"แนวโน้มผู้ถูกข่มขืนช่วง 1-2 ปีนี้ไม่เปลี่ยน อยู่ในช่วงอายุ 5-20 ปี ถ้าเจาะลึกเด็กในครอบครัวถูกกระทำรุนแรงทางเพศมาก ทั้งประถม มัธยม มหาวิทยาลัย เสี่ยง แม้แต่ในบ้าน โรงเรียน สถานพยาบาล กลับพบปัญหาข่มขืนเกิดขึ้น สังคมต้องศึกษา เรียนรู้ และช่วยแก้ หากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เด็กเติบโตไปกับสังคมแบบนี้ น่าวิตก" จะเด็จย้ำภัยสังคมที่น่าห่วง
ประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้สถิติความรุนแรงทางเพศพุ่งสูงนี้ สสส.ที่ขับเคลื่อนลด ละ เลิกน้ำเมาในสังคมไทย มีมุมมองที่น่าสนใจสะท้อนจากรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.
"สสส.วางแผน ค้นหาสาเหตุ และร่วมหาแนวทางป้องกันการกระทำความรุนแรงทางเพศ คนจะคิดว่าการข่มขืนมีเรื่องอารมณ์ทางเพศมาเกี่ยว ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ หรือทำเพราะเครียด แต่จากรายงานฉบับนี้ระบุเหตุที่แท้จริงมาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการขับเคลื่อนงานของ สสส. สถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเหลือ 28% ซึ่งยังลดได้อีก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อลดผลกระทบทางร่างกาย ลดค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากกว่า 142,000 ล้านบาท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐต้องแบกรับผู้ป่วย" รุ่งอรุณย้ำ
ผอ.สำนักสนับสนุนควบคุมปัจจัยเสี่ยงฯ กล่าวด้วยว่า แอลกอฮอล์สร้างผลกระทบต่อสังคม เป็นต้นเหตุการข่มขืน ฆ่า ความจริงเหล่านี้ต้องเปิดเผยสู่สังคม ตอกย้ำและสร้างทัศนคติใหม่ แอลกอฮอล์ถือเป็นยาเสพติด คนที่รู้ไม่เท่าทันก็ถูกล่อล่วงผ่านคำโฆษณา กิจกรรมแฝงอื่นๆ ฝากให้พ่อแม่ดูแลครอบครัว ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ หากมีสมาชิกในบ้านดื่มก็แนะนำ ให้กำลังใจ ให้ลด ละ เลิกในที่สุด ต้องช่วยกันดูแลสังคมให้ปลอดภัย ที่สำคัญบ้านต้องเป็นพื้นที่ปลอดความรุนแรงในอันดับแรก เพราะการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเล็ก หลายกรณีกระทบจิตใจระยะยาว
สำหรับการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในปี 2560 จากหนังสือพิมพ์จำนวน 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดร้อยละ 31.1 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 น้ำเมาทำให้ขาดสติจนก่อเหตุอาชญากรรม และผู้เคราะห์ร้ายเป็นเด็ก เยาวชน และผู้หญิง
จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การขืนใจ กระทำชำเราส่วนใหญ่เกิดในบ้านพักของเด็กและผู้หญิง จากข่าวข่มขืน ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่รับว่า ก่อเหตุเพราะความเมา
มีการดื่มสุรา ที่น่าห่วงเหตุเกิดจากคนคุ้นเคยและคนในครอบครัวกว่าร้อยละ 59 แล้วยังมีกรณีเพื่อนบ้าน คนในหมู่บ้าน เพื่อนของเพื่อน โดยอาศัยความไว้วางใจเข้าไปล่อลวง หรือรู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดีย พื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ
"ผลกระทบต่อจิตใจมากสุด เหยื่อมีอาการหวาดผวา ระแวง กลัวมาก แล้วยังถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์หลายครั้ง ยาวนาน ถูกขู่ฆ่า ถูกทำร้ายร่างกายสาหัส นอกจากเรื่องฟื้นฟูแล้ว ต้องส่งเสริมการแก้ไขปัญหาทุกมิติ ลดปัจจัยกระตุ้นแวดล้อมจากแอลกอฮอล์ สื่อลามก สื่อที่แสดงความรุนแรง มีอคติทางเพศ ตลอดจนป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ระดับนโยบายก็ต้องผลักดันด้วย" จรีย์เสนอทางแก้
เวทีหยุดความรุนแรงทางเพศนี้ อังคณา อินทิสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่งเสียงไปยังผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม โดยกล่าวว่า จากการทำงานคุกคามทางเพศเพื่อช่วยเหลือ พิทักษ์ และคุ้มครองสิทธิ พบข้อจำกัดกระบวนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนไม่เข้าใจสภาวะที่ผู้ถูกกระทำกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำไม่ละเอียดอ่อนทั้งด้านพฤติกรรมและคำพูด ทำให้เด็กอาย ไม่กล้าพูด แล้วยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียด หรือขั้นตอนในการดำเนินการให้กับผู้ถูกกระทำ นอกจากนี้การพิจารณาคดีของศาลไม่ละเอียดอ่อน ไม่เข้าใจปัญหาประเด็นความรุนแรงทางเพศ ทั้งหมดนี้ส่งผลระยะยาวต่อผู้ถูกกระทำ ครอบครัว หากไม่มีกลไกป้องกันจะเกิดการกระทำซ้ำ แน่นอนผู้กระทำผิดต้องลงโทษที่เด็ดขาด เหยื่อมีระบบดูแลชัดเจน นอกจากนี้ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้พักพิงชั่วคราวด้วย รวมทั้งมีการเฝ้าระวังระดับชุมชน บังคับใช้กฎหมายคุมน้ำเมาให้จริงจัง นี่คือทางแก้ปัญหา ลดสถิติการข่มขืน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |