ปัจจุบันมีคนจบชีวิตตนเองจากสารพัดปัญหาที่พาชีวิตไม่เป็นดั่งหวัง แล้วยังมีความเครียดจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นข่าวคราวเผยแพร่ผ่านสื่อมาโดยตลอด
แต่หากมีคนคอยรับฟังปัญหาความเครียด ท้อแท้สิ้นหวังของพวกเขาเหล่านี้ก็อาจจะช่วยยับยั้งความคิดนั้น และมีกำลังใจเลือกที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้
ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุถึงสาเหตุการตายของเยาวชนวัย 10-24 ปีทั่วโลกที่สูงถึง 2.6 ล้านคนต่อปี พบว่า 1 ใน 3 มีสาเหตุจากการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า เหตุนี้สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดนิทรรศการ We’re listening ระบายความรู้สึกผ่านคลิปเสียง ภายใต้แนวคิด “Children and Youth Happy +Plus การทำงานบนภาพความทรงจำแห่งความสุขด้วยสุขภาพจิตที่ดี” เมื่อวันก่อน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น รวมถึงแนะนำการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
“องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าปัญหาสุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ทำให้คนทั้งโลกเจ็บปวด” ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าว
ทพ.ศิริเกียรติยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันว่า มีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยี รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว หากมนุษย์ไม่สามารถก้าวทันในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ จะเกิดเป็นความขัดแย้งและทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในที่สุด จากการสำรวจภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยปี 2556 พบว่า โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของไทย โดยเฉพาะเพศหญิง และวัยรุ่นไทยร้อยละ 44 มีอาการซึมเศร้า
“สสส.ได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิตและภาคีเครือข่าย พัฒนาโปรแกรมป้องกันการสูญเสียสุขภาพจิตที่ดี และเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับวัยรุ่น ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ในอีกประมาณ 1-2 ปี รวมถึงการร่วมกับหลากหลายองค์กรในการพัฒนาแผนสุขภาพจิตแห่งชาติ 20 ปี (2560-2579) โดย สสส.จะเข้ามาดำเนินการในยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจิต เน้นการดูแลสุขภาพจิตกับทั้ง 5 กลุ่มวัย” ทพ.ศิริเกียรติกล่าว
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เล่าถึงประสบการณ์ทำงานว่า ในปัจจุบันวัยรุ่นเข้าใจถึงปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น และเข้ามารับการรักษาด้วยตนเอง ต่างจากในอดีตที่ผู้ปกครองหรือโรงเรียนเป็นผู้พามา นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กส่วนมากไม่ได้ป่วยเป็นซึมเศร้า เพียงแต่ประสบกับปัญหาเครียดจากเรื่องเรียนเป็นช่วงๆ ขณะที่เด็กอีกกลุ่มมีปัญหาโรคซึมเศร้า และจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยา
“ทุกคนต้องเคยเครียด อาจจะหายได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่หากกลุ่มที่ป่วยจะต้องรักษาอย่างสม่ำเสมอ โรคซึมเศร้าไม่ได้ต่างจากโรคอื่นๆ ที่ทานยาสม่ำเสมอ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงก็หายได้เช่นกัน” พญ.วิมลรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ นายภาณุศาสตร์ ทองทศ ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร เล่าจุดเริ่มต้นการจัดงานนี้ว่า เกิดจากการเห็นเด็กมาเรียนพิเศษโดยใช้กระเป๋าเดินทางใส่หนังสือเรียนมาด้วยอาการอ่อนเพลีย จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรากำลังผลิตอะไรออกไปสู่สังคม เพราะเด็กไม่มีความเป็นมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ด้วยวิชาการและกรอบของสังคมทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบปกติ เป็นผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยเกิดเป็นแรงผลักดันจัดงานนี้
จุดเด่นของงาน ประธานสภาเด็กฯ กล่าวว่า อยู่ที่นิทรรศการ We’re listening โดยใช้เทคนิคการฟังเสียงของผู้ที่มาระบายความทุกข์ในใจ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องรับฟังผ่านแก้วพลาสติก หลังฟังจบสามารถเข้าไปให้กำลังใจเจ้าของข้อความได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Lovecare Station โดยใส่แฮชแท็ก (#) ตามด้วยหมายเลขปัญหาที่รับฟัง และข้อความให้กำลังใจหรือคำแนะนำต่างๆ
"โครงการนี้ทำให้ผู้ที่มีความเครียดหลายคนรู้สึกมีกำลังใจดีขึ้นหลังได้ระบายความทุกข์ และยังได้รับการตอบรับจากคนอื่นๆ ทำให้ตัดสินใจที่จะไม่ทำร้ายตัวเอง หรือจมอยู่กับความเศร้าดังเช่นเดิม" ภาณุศาสตร์กล่าว
โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวอาจเผชิญกับปัญหาชีวิตที่รุนแรงต่อเนื่องยาวนาน หรือเกิดจากการเสียสมดุลของระดับสารเคมีในสมอง แต่โรคนี้รักษาได้ หากผู้สงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะซึมเศร้าสามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |