นายกฯ ปลื้มเยือนเยอรมนีคนไทยต้อนรับอบอุ่น "บิ๊กป้อม" หนุน "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ ต่อ โยนพรรคส่งเทียบเชิญ ชวน ปชช.เลือก สั่งเหล่าทัพรับมือเลือกตั้ง พปชร.ตั้ง "สนธิรัตน์" ปธ.ยุทธศาสตร์ "สมศักดิ์" คุมหาเสียง พท.-ปชป.รุมสับพรรคพลังดูด "มาร์ค" เมินจับมือเย้ยได้แค่อดีต ส.ส. "วัฒนา" ปากแข็งไม่เสียขวัญ ยุคพลังประชาชนเสียกลุ่มเนวินหนักกว่านี้
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 00.05 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะ ออกเดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษไปยังท่าอากาศยานเบอร์ลินเทเกล เพื่อเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย.2561 โดยเมื่อเวลา 06.25 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง นายกฯ เดินทางถึงท่าอากาศยานเบอร์ลินเทเกล ก่อนเดินทางมายังโรงแรมฮิลตันเบอร์ลิน ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก โดยมีคณะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ผู้ช่วยทูตทหาร คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคนไทยในเบอร์ลินให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ ตัวแทนคนไทยที่มาต้อนรับได้นำดอกไม้และของที่ระลึกมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมระบุว่า รู้สึกตื่นเต้น ดีใจ และภูมิใจที่นายกฯ เดินทางมาที่เบอร์ลิน ซึ่งได้ติดตามข่าวสารของนายกฯ อย่างใกล้ชิดในช่องทางต่างๆ และเชียร์ลุงตู่ตลอดเวลา นายกฯ กล่าวตอบว่า ขอบคุณทุกคน ตนดีใจ และขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าดีทั้งหมด ขอให้ช่วยกัน พวกเราทุกคนขอให้ดูแลกันให้ดี ขณะที่คนไทยขอให้นายกฯ มีความสุขและห่วงสุขภาพนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวว่า สุขภาพร่างกายโอเค แต่ใจมันก็เครียด
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจไทยคู่ฟ้าว่า การเดินทางมาถึงประเทศเยอรมนีในครั้งนี้ แม้จะมีอากาศค่อนข้างหนาว ติดลบ 2-3 องศา ก็ต้องอาศัยเสื้อโค้ต แต่ที่สำคัญตนมีกำลังใจจากคนไทยที่อยู่ในเยอรมนี มาต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งเราทุกคนต่างก็ดีใจที่มาพบกัน ขออวยพรให้ทุกคนมีความสุข สำหรับตนเองจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของของนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงภาพรวมการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ก็แล้วแต่ว่าใครจะชอบอยู่กับใคร ส่วนที่มีนักการเมืองย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ทราบ เพราะไม่ได้อยู่พรรคนี้ ต้องไปถามคนที่สังกัดพรรคนี้ และอนาคตของพลังประชารัฐจะดีหรือไม่นั้น ก็ไม่ทราบเพราะประชาชนยังไม่ได้เลือกเลย
ชวนส่งเทียบเชิญ "บิ๊กตู่"
เมื่อถามว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงเป็นจำนวนมากแล้วมาส่งเทียบเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้ง คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ก็ไม่รู้ซิ แต่ว่าเราก็อยากให้นายกฯ เป็นต่อนะ เพราะเขาจะได้ทำงานที่ทำอยู่ให้เสร็จ ทุกอย่างก็พยายามเร่งรีบ 4 ปีนี่ก็ทำไปเยอะแล้ว" ผู้สื่อข่าวซักต่อว่า อนาคตข้างหน้า 4 ปีจะได้สานต่อให้สำเร็จใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบรับว่า "ใช่ๆ"
เมื่อถามย้ำว่า เห็นด้วยกับการที่นายกฯ จะอยู่ต่อในตำแหน่งอีก 4 ปีใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า หากพรรคการเมืองเห็นว่าสมควร เขาก็เลือก ก็เชิญเอง แล้วแต่พรรคการเมืองนั้นๆ เมื่อถามต่อว่า ท่านจะไม่เปลี่ยนเป็นนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์ที่ขนาดนี้ท่านก็เหนื่อยแล้วหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่ต้องๆ ผมยิ่งเหนื่อยใหญ่เลย" เมื่อถามว่า ท่านก็รอให้พรรคการเมืองมาเชิญไปทำงานอีกใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่ไหว แก่แล้ว"
สำหรับการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช.ในวันที่ 7 ธ.ค.นั้น ตนจะเข้าประชุมด้วย ซึ่งในส่วนของเกี่ยวกฎหมาย จะมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นคนชี้แจง ส่วนเรื่องของ คสช.จะมีนายกฯ หรือตนเป็นคนตอบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะพูดคุยก็แล้วแต่นักการเมืองว่าจะมาถามเรื่องอะไร ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อยนั้นเป็นประเด็นต้องพูดถึง โดยเฉพาะเรื่องการหาเสียง จะทำอย่างไรให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ขัดแย้ง ซึ่งคิดว่าเวลา 60-70 วัน น่าจะเพียงพอแล้วในการหาเสียง หากให้หาเสียงนานจะยุ่ง
เมื่อถามว่า หลังปลดล็อกทางการเมืองจะมีเงื่อนไขอะไรที่ไม่ทำให้การเมืองเกิดความขัดแย้ง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะทำอย่างไรได้ กฎหมายไม่มีอะไรแล้ว ก็ต้องแล้วแต่เขา คำสั่ง คสช.โดยเฉพาะฉบับที่ 3/2558 จะต้องยกเลิก เมื่อถึงวันที่กำหนด ทั้งนี้ นักการเมืองคงจะลงพื้นที่หาเสียงคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร ซึ่งอยู่มา 4 ปีก็เรียบร้อยดี ก็น่าจะรู้แล้วว่าความเรียบร้อยเป็นอย่างไรและประชาชนก็ชอบ
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกระแสข่าวการยุบพรรคเพื่อไทยว่า ยังไม่ได้ยิน ต้องไปถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะตนไม่ได้เกี่ยวข้อง ส่วนที่พรรคเพื่อไทยหวาดระแวงว่าจะถูกยุบพรรคนั้น ต้องไปถามพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากถูกยุบ คสช.ก็ไม่เกี่ยว ยืนยันว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นวันที่ 24 ก.พ.62 แน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตรได้ชูสองนิ้วกับสี่นิ้วให้ผู้สื่อข่าวดูหลายครั้งเพื่อยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62
ต่อมาช่วงบ่าย พล.อ.ประวิตรได้ให้ผู้แทนกลุ่มสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรจำกัดเข้าพบ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี เพื่อขอบคุณรัฐบาลที่ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าในตลาดจตุจักร ทั้งนี้ ภายหลังพูดคุยกันแล้ว ผู้ค้าได้มอบผ้ายันต์นวมนักมวยเป็นของที่ระลึก จากนั้นได้ตะโกนขอบคุณ และขอให้ พล.อ.ประวิตรสุขภาพแข็งแรง พร้อมขอให้เป็น (พล.อ.ประยุทธ์) เป็นนายกฯ ต่อ เป็นรัฐบาลต่อ ซึ่ง พล.อ.ประวิตรตอบว่า "อย่างนั้นประชาชนก็ต้องเลือกซิ"
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธานว่า พล.อ.ประวิตรกำชับให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปี 2562 วางตัวอย่างเหมาะสม เป็นกลาง ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคการเมืองใด ขณะเดียวกันขอให้ร่วมกันดูแลความปลอดภัยในทุกพื้นที่เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถลงพื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่อยากให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างที่แล้วมา ทั้งนี้ ไม่ใช่ส่งทหารไปสังเกตการณ์ แต่เตรียมพร้อมความปลอดภัย
ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรค
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคเลย เพราะพรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคละไม่เกิน 3 คน ไม่ได้ระบุว่าบุคคลนั้นๆ ต้องเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยปรึกษากับตน แต่ตนได้ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้รู้ไทมิงว่าจังหวะเวลาจะเป็นช่วงใด ดังนั้นในวันสมัคร ส.ส.ไม่ต้องมีชื่อนายกฯ ก็ได้ แต่เมื่อถึงวันปิดรับสมัคร ส.ส. จะเสนอชื่ออีกไม่ได้
ส่วนการพูดคุยกับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค.นั้น เนื่องจากมีคำถามที่พรรคการเมืองเคยพบกับ กกต.แล้วถาม กกต. แต่ทาง กกต.ตอบไม่ได้ ให้ไปถาม คสช.ก็จะมาถามกันในวันนั้น หรือพรรคการเมืองหรือผู้เข้าประชุมมีความเห็นอะไรที่จะเสนอแนะสามารถเสนอมาได้ ส่วนจะทำตามหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ในส่วนของ คสช.เองจะบอกให้บรรดาพรรคการเมืองรู้ในเรื่องของโรดแมปที่ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่การปลดล็อกไปจนถึงการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาและอื่นๆ ซึ่งบางอย่าง คสช.กำหนดเองไม่ได้ กกต.เป็นผู้กำหนด แต่จะมาช่วยกันคิดในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ ควรจะต้องได้ข้อยุติทั้งหมด แต่คงจะไม่ได้ปลดล็อกกันในวันนั้น แต่จะบอกให้รู้ว่าปลดล็อกวันไหน ซึ่งรายละเอียดของการปลดล็อกนี้ทาง คสช.จะเป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด
เมื่อถามว่า ในวันที่ 7 ธ.ค. จะรู้วันที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า น่าจะรู้แล้ว แต่คงไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ในวันนั้นจะบอกอะไรได้หลายอย่างทั้งหมด เพราะเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.-26 พ.ย. มีมากกว่า 1,300 คน และหลังจากนี้ทางพรรคจะเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีความประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบเขตเข้าเป็นสมาชิกในลำดับต้นก่อน ซึ่งตัวเลขของผู้สมัครถือว่าเกินการคาดหมาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้ลงสมัครนั้นต้องสมัครเป็นผู้ลงสมัครของพรรคก่อน และจะต้องผ่านการสำรวจความนิยมของประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับการตัดสินใจของกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรค คาดว่าพรรคจะมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรค 11 คน ได้ประมาณช่วงต้นเดือน ธ.ค. รวมถึงต้องจับตามองการออกจากตำแหน่งของ 4 รัฐมนตรีคือ หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและโฆษกพรรค เพื่อเข้ามาทำงานพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว ในช่วงที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้
ส่วนการเสนอบุคคลให้เป็นนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่นั้น นายวิเชียร กล่าวว่า ขณะนี้พรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงการตัดสินใจของบุคคลที่จะทาบทามด้วย หาก พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับเป็นนายกฯ ในนามของพรรคพลังประชารัฐ เราต้องยอมรับในเงื่อนไขมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ที่แม้ประชาชนจะรู้จัก พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถจะช่วยพรรคหาเสียงได้
นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และอดีตโฆษกกลุ่มสามมิตร เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 พ.ย. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ และตน จะเดินทางไปเปิดศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ จังหวัดแพร่เขต 2 ให้กับนายวิตติ แสงสุพรรณ สมาชิกองค์การบริหารจังหวัดแพร่ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พร้อมทั้งรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน รวมถึงเปิดรับสมาชิกพรรคด้วย
รายงานข่าวจาก พปชร.แจ้งว่า พรรคมีมติแต่งตั้งคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ขึ้น โดยได้มอบหมายให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ที่สามารถประสานให้นักการเมืองระดับหัวแถวคนสำคัญให้ย้ายมาสังกัดพรรค พปชร. จำนวนไม่ต่ำกว่า 100 คน เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมด้วยแกนนำระดับหัวแถวที่เป็นคณะทำงาน อาทิ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นต้น จะมีหน้าที่วางกลยุทธ์การเลือกตั้งของพรรคในแต่ละช่วงให้สอดคล้องกับโรดแมปการเลือกตั้ง รวมถึงการสื่อสารนโยบายของพรรคออกไปสู่สาธารณะ และให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในแต่ละภูมิภาคอีกด้วย
ตั้ง"สมศักดิ์"คุมหาเสียง
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง โดยให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 13 ราย ประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย, นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข, นายภิญโญ นิโรจน์, นายระวัง เนตรโพธิ์แก้ว, นายเอกภาพ พลซื่อ, นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์, นายธีระยุทธ วานิชชัง, นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช, นายบุญสิงห์ วรินทรักษ์, นายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นกรรมการและโฆษก, น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นกรรมและเลขานุการ และนายภิรมย์ พลวิเศษ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 17 คนย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นว่า ไม่มีปัญหา เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งก็มีปรากฏการณ์แบบนี้ และยังมั่นใจว่าพื้นที่ที่มีคนออกไปจะมีคนที่มีคุณภาพในนามพรรคที่สามารถทำงานให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นเรื่องดีที่ขณะนี้การโยกย้ายสิ้นสุดลงแล้ว เพราะประชาชนจะได้เห็นภาพชัดเจน ซึ่งจะทำให้เกิดคำถามเรื่องอุดมการณ์ว่ามีความหมายมากน้อยแค่ไหน
"คนที่คิดตัวเลขสมการแบบเดิม ก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด อย่างพรรคพลังประชารัฐได้อดีต ส.ส.ไปมากก็อาจได้อดีต ส.ส.เยอะหลังการเลือกตั้งด้วย ถ้าคิดว่านับตามจำนวนอดีต ส.ส.แล้วจะเป็นอย่างนั้น การเมืองไม่เป็นอย่างนั้น การเลือกตั้งทุกครั้งมีคนใหม่เข้ามาร้อยละ 20-30 เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงเกิดได้ตลอด พรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นทางหลักและเป็นทางออกของประเทศ ทั้งนี้ การเมืองอาจมีมากกว่า 3 ขั้ว คือ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ก็ได้ แล้วแต่ว่าจะมีใครเสนอตัวเป็นขั้วที่ 4 ที่ 5 หรือไม่ แต่ความพยายามที่จะบีบให้เหลือ 2 ข้างนั้นไม่จริง และเราไม่สนใจเล่นเกมเลือกขั้ว เพราะประเทศมีทางเลือกที่ดีกว่านั้น" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ
ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประกาศพร้อมลงบัญชีรายชื่อผู้เป็นนายกฯ ของพรรคการเมือง รอเพียงคนมาทาบทามนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่แปลกใจ แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีทั้งหลายยึดถือเพียงแค่ว่าตามกฎหมายโดยไม่ดูเจตนารมณ์นั้น แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีความพยายามที่จะยกระดับการเมืองให้ดีขึ้น และขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่คิดที่จะจับมือกับพลังประชารัฐ เพราะเสนอตัวเป็นทางหลักของประเทศ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ กล่าวถึงอดีต ส.ส.ภาคใต้ของพรรคลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นรวม 7 คนว่า เชื่อว่าไม่กระทบ เพราะมีผู้สมัครใหม่ลงแทนแล้ว โดยตั้งเป้าได้ ส.ส. 45 คนขึ้นไปจากทั้งหมด 50 เขตในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ทางการเมือง พฤติกรรมสวนทางกับการปฏิรูปการเมือง หาช่องทางเข้าสู่อำนาจโดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เช่น เอาคนของเราไปเสนอตำแหน่งให้ และใช้คนเหล่านั้นกลับมาดูดคนของเราอีก ขโมยคนของเราทั้งกลางวันและกลางคืน ปีนขึ้นมาบนหลังคาก็มี อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มั่นใจว่าที่ดูดไปจำนวนมากจะได้ ส.ส.เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของที่ดูดก็หรูแล้ว เพราะที่ดูดไปส่วนใหญ่เป็นแถว 3 จึงเชื่อว่าพลังประชารัฐจะไม่ใช่พรรคการเมืองใหญ่อย่างที่คาดหวังไว้
รุมสับพรรคพลังดูด
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในช่วงหลายวันมานี้ อดีต ส.ส. นักการเมืองของทุกพรรคการเมืองมีการแตกตัว เปลี่ยนย้ายไปอยู่พรรคต่างๆ มากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย เศร้ามาก ที่สิ่งนี้คือผลิตผลของการปฏิรูปการเมือง ที่ได้มาด้วยการแลกกับการล้มล้างระบบประชาธิปไตยไป เมื่อ 4-5 ปีก่อน สถานการณ์การใช้เครื่องดูดที่มีพลังมหาศาล จากกลไกต่างๆ ที่ผู้มีอำนาจมีอยู่ ถูกยื่นเป็นข้อเสนอประกอบสารพัดเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ยืนขวางหน้าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเปรียบเสมือนคลื่นร่อนทราย ในช่วงเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาที่จะมีเพียงทรายเม็ดใหญ่ที่แข็งแรงหลงเหลืออยู่ ยืนยันอีกครั้งว่าสถานการณ์แค่นี้ไม่ระคายหรือไม่อาจทำลายพรรคเพื่อไทยได้
นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า อดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่ย้ายไปสังกัดพรรคอื่นประกอบด้วย พลังประชารัฐ 16 คน, ชาติไทยพัฒนา 3 คน, ภูมิใจไทย 3 คน และเพื่อชาติ 1 คน รวม 23 คน ส่วนอีกจำนวนหนึ่งไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ การออกไปของอดีต ส.ส. ไม่ได้ทำให้พรรคกระเทือนหรือทำให้พวกเราเสียขวัญ เพราะเราเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาหลายครั้งแล้ว เอาแค่สมัยที่มีการยุบพรรคพลังประชาชน ต้องเสีย ส.ส. ที่ไปยกมือหนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แค่กลุ่มเพื่อนเนวินก็มีจำนวนถึง 37 คน ไม่นับรวมกลุ่มอื่นๆ แต่ครั้งนี้เสียไปเพียง 23 คน และเป็นเพียงอดีต ส.ส. ซึ่งยังไม่รู้ว่าประชาชนจะเลือกกลับเข้ามาหรือไม่
ที่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้า ทษช. แถลงผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารพรรคว่า มีมติแต่งตั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของพรรค การทำนโยบายด้านต่างๆ รวมถึงให้คำปรึกษาในการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ทั้งนี้ นายจาตุรนต์มีแนวทางที่ชัดเจนทางการเมือง เป็นนักสู้ฝั่งประชาธิปไตย ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้การเมืองเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน เป็นนักสู้ในฝั่งประชาธิปไตย และในวันที่ 28 พ.ย. จะมีการหารือนอกรอบเพื่อวางแนวทางในส่วนของยุทธศาสตร์พรรค และจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อมอบหมายให้ผู้ใหญ่แต่ละคนรับผิดชอบ รวมถึงเตรียมการเรื่องการทำแนวนโยบายของพรรคด้วย
เมื่อถามว่า พร้อมสู้กับพรรคเพื่อไทยในสนามปราศรัยหรือไม่ หากพรรคเพื่อไทยส่งนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร.ท.ปรีชาพลกล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะส่งชื่อใครขึ้นบนเวทีปราศรัยในการเลือกตั้ง ทษช. พร้อมที่จะแข่งขันในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งนี้ มีแกนนำที่มาร่วมงานกับ ทษช.ประมาณ 20 คน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |