ครม.อนุมัติโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 2 เฟส 1 จำนวน 12 โครงการ 3,365 หน่วย 2.6 พันล้านบาท สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางทั้งใน กทม.ปริมณฑลและภูมิภาค 11 จว. ไฟเขียว 5 แนวทางแก้ปัญหาชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท โวเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพยายามปรับให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีการบุกรุกมากกว่าเดิม
เมื่อวันจันทร์ พ.อ.อธิสิทธ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 2 ระยะที่ 1 จำนวน 3,365 หน่วย ประกอบด้วย 1.โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงสังคม 10 โครงการ จำนวน 3,094 หน่วย วงเงิน 2,231.392 ล้านบาท 2.โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงพาณิชย์ 2 โครงการ จำนวน 271 หน่วย วงเงิน 381.491 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าวช่วยเสริมสร้างความเสมอภาค สร้างโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ 26,101-38,300 บาทต่อเดือน และในพื้นที่ภูมิภาค สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ประมาณ 59,701 บาทต่อเดือน
2.กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ 59,701 บาทต่อเดือนขึ้นไป และพื้นที่ภูมิภาค สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ 34,701 บาทต่อเดือน ให้มีที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐาน พร้อมระบบสาธารณูปโภค ในรูปแบบบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และทาวน์โฮม จำนวน 2 ชั้น ในพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)
โดยโครงการเชิงสังคมมีราคาขายต่อหน่วยระหว่าง 650,000-850,000 บาทใน 10 จังหวัด ได้แก่ 1.ฉะเชิงเทรา 362 หน่วย 2.สุพรรณบุรี 322 หน่วย 3.นครนายก 498 หน่วย 4.เพชรบุรี 328 หน่วย 5.ลพบุรี 188 หน่วย 6.สิงห์บุรี 224 หน่วย 7.ศรีสะเกษ 328 หน่วย 8.สกลนคร 278 หน่วย 9.ชุมพร 338 หน่วย และ 10.ปัตตานี 228 หน่วย สำหรับโครงการเชิงพาณิชย์มีราคาขายต่อหน่วยอยู่ที่ 1.8-2.2 ล้านบาท ได้แก่ 1.สมุทรปราการ 184 หน่วย 2.ศรีสะเกษ 87 หน่วย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบหลักการในเรื่องพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่เข้าบุกรุกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนต่างๆ ซึ่งมีสาระสำคัญในการวางกรอบบริหารจัดการประชาชนในกลุ่มดังกล่าว 5 แนวทาง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 ก่อนมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 โดยให้หน่วยงานจัดสรรที่ดิน และให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อนุญาตให้อยู่อาศัยได้ และใช้ประโยชน์ทำกินแบบแปลงรวมไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี
กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 หลังมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 โดยอนุญาตให้อยู่อาศัยได้และทำกินแบบแปลงรวมได้ แต่ต้องปลูกป่าเพื่อเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ รวมถึงต้องดูแลรักษาไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม
กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่กลุ่มน้ำชั้นที่ 1-2 ก่อนมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ควบคุมการใช้ที่ดินภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงห้ามบุกรุกและขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิม และไม่ใช้ที่ดินให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
กลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งก่อนและหลังหลังมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ให้มีการสำรวจการครอบครองสิทธิว่าได้เข้ามาอยู่และใช้พื้นที่จริงสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ให้คณะทำงานสำรวจและนำแนวทางต่างๆ รวมถึงนำภาพถ่ายทางอากาศมาประกอบการพิจารณา
และกลุ่มที่ 5 ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน ให้ทำการสำรวจตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ โดยให้จัดทำข้อมูลจำแนกตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ จัดการชี้แจงให้ประชาชนที่อยู่รับทราบถึงวัตถุประสงค์ต่างๆ
"เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมีการปรับให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ โดยเราพยายามให้ประชาชนกับป่าสงวน ฯ หรือป่าอนุรักษ์อยู่ร่วมกันได้ในแนวทางทั้ง 5 กลุ่มนี้ เพื่อเข้าไปบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่ป่าอย่างเหมาะสม ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ มากกว่าเดิม" นายพุทธิพงษ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |