จับตาที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.เคาะปรับปรุงประกาศยื่นบัญชีทรัพย์สินอังคารนี้ "ประยุทธ์" ชี้ต้องมองสองทางทั้งคนที่ตั้งใจดีและคนไม่ตั้งใจดี ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ ประธาน ทปอ.วอนสังคมเปิดใจเรื่องความพอดี อ้างนายกและกรรมการสภาฯ มาช่วยมหา'ลัยแห่ลาออกกันแล้ว ขณะที่กลุ่ม "CHES" บี้ ป.ป.ช.ต้องไม่ละเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลบางกลุ่ม เตือนขัดต่อหลักนิติรัฐและจะเป็นองค์กรที่สร้างอภิสิทธิ์ชนทางกฎหมาย
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถ.พิษณุโลก วันที่ 26 พฤศจิกายน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาการปรับปรุง แก้ไขประกาศ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด เกี่ยวกับการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากที่ประธาน ป.ป.ช.ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง แต่ ป.ป.ช.จะนำมาพิจารณาก่อนมีมติอีกครั้ง
"โดยจะมีการพิจารณาทุกตำแหน่งที่ต้องยื่นใหม่ ไม่ใช่เฉพาะ 5 ตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติผ่อนปรนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งการประชุมวันที่ 27 พ.ย.จะมีความชัดเจนเรื่องทางออก รวมถึงจะขยายเวลาไปถึงวันไหน" นายวรวิทย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวอาจให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดเดิมไม่ต้องยื่น แต่จะบังคับใช้กับกรรมการสภามหาวิทยาลัยในชุดหน้าแทน นายวรวิทย์กล่าวว่า ทั้งหมดจะมีความชัดเจนในวันที่ 27 พ.ย. ไม่อยากพูดตอนนี้เพราะอาจไม่ตรง โดยจะมีการแถลงให้ทราบต่อไป
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.กำหนดให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินว่า กำลังหาทางออกอยู่ว่าจะทำอย่างไร ป.ป.ช.กำลังหาทางออกอยู่ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งต้องมองสองทาง คนที่ตั้งใจดี คนที่ไม่ตั้งใจดี คนที่สุจริตหรือคนที่ทุจริต ซึ่งมันต้องหาทางออกให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะมี 2 ฝ่ายเสมอ แล้วก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทปอ.ยังไม่ได้เข้าพบเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมา ทปอ.ยืนยันมาตลอดว่า เห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ทุกประการในเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของอธิการบดี รองอธิการบดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและทุกคนก็ได้ยื่นแสดงทรัพย์สินไปแล้ว ส่วนกรณีของเรื่องนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้น อยากวิงวอนสังคมว่าขอให้เปิดใจเรื่องความพอดี เพราะนายกและกรรมการสภาฯ เข้ามาช่วยเหลือมหาวิทยาลัย มาทำหน้าที่เรื่องวิชาการเป็นหลักจริงๆ อีกทั้งนายกและกรรมการสภาฯ ก็เป็นคนที่มหาวิทยาลัยไปร้องขอให้มาช่วยมหาวิทยาลัย หลายคนเป็นนักธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งเมื่อมหาวิทยาลัยไปร้องขอก็ยินดีเข้ามาช่วยมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทน
"ตอนนี้มหาวิทยาลัยหลายแหล่งประสบปัญหา นายกและกรรมการสภาฯ แสดงเจตจำนงขอลาออกกันแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออธิการบดีเลย แต่กระทบมหาวิทยาลัยและนักศึกษาแน่นอน อย่างไรก็ตามในส่วนของ สจล.ก็มีการแสดงเจตจำนงมาบ้างแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ถึงเดดไลน์จึงยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง แต่สิ่งสำคัญอยากบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของสังคม และอยากให้มองถึงประโยชน์ของนักศึกษาเป็นตัวตั้ง" ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว
ขณะที่ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่องคัดค้านการใช้อำนาจมาตรา 44 หรือมติ ป.ป.ช.เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายแสดงบัญชีทรัพย์สินกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ ระบุว่า CHES ขอคัดค้านกรณี ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายการแสดงบัญชีทรัพย์สินกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ ด้วยเหตุผลว่าจะไม่ยุติธรรม หากต้องบังคับใช้กฎหมายขณะที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ และให้บังคับใช้กับผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่เท่านั้น
"ขอยืนยันกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะมีการประชุมในวันที่ 27 พ.ย.นี้ว่า ป.ป.ช.ต้องไม่ละเว้นการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลบางกลุ่ม ด้วยเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติรัฐที่กฎหมายจะต้องบังคับใช้กับทุกคน การที่มีคนร้องขอให้เว้นการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้กับบางคนนั้น กฎหมายปราบปรามการทุจริตอนุญาตให้ ปปช.ทำได้จริงหรือ และทำด้วยหลักคิดอะไร ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่กลับจะเป็นองค์กรผู้สร้างอภิสิทธิ์ชนทางกฎหมายปราบปรามการทุจริตเสียเองแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร และถ้า ป.ป.ช.ทำผิดหลักกฎหมายนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน"
แถลงการณ์ระบุว่า การปราบปรามทุจริตในอุดมศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้ผล ก็เพราะระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยการอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้เสียสละไม่มีอำนาจในการบริหารหรือตัดสินใจ ทำหน้าที่แค่อนุมัติหลักสูตรอนุมัติผู้สำเร็จการศึกษาเท่านั้น ซึ่งข่าวการฟ้องร้องในมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าสภามหาวิทยาลัยที่ว่าไม่มีอำนาจนั้นไม่ได้เป็นความจริง เหล่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่อยู่ในตำแหน่งที่มีคนร้องขอให้เว้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ได้เคยแสดงการป้องกันการทุจริตให้เป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ประเทศไทยมีบุคคลที่จะทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยเพียงเท่านี้หรือ และหากท่านเหล่านี้เป็นบุคคลเสียสละโดยแท้จริงแล้ว ท่านสมควรแสดงการข่มขู่สังคมว่าจะลาออกยกชุด ซึ่งเป็นภาระในการบังคับใช้กฎหมายโดยทั่วหน้าเช่นนั้นหรือ หาก ป.ป.ช.ยินยอมต่อการร้องขอในครั้งนี้ จะเกิดคำถามว่าท่าน ป.ป.ช.มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบุคคลเหล่านี้ด้วยหรือไม่
ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กำลังจะหารือกันในการตีแผ่ปัญหาทุจริตและธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัยกับสังคม รวมถึงคดีที่เคยยื่นไว้ที่ ป.ป.ช.และไม่คืบหน้าอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยกลับคืนมาเป็นเสาหลักของสังคมทั้งด้านวิชาการและคุณธรรมดังเดิม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |