สิงคโปร์เป็นผู้นำด้าน "ฟินเทค" เพราะเอกชนและรัฐบาลเดินหน้าไปพร้อมกัน ส่งเสริมกันและกัน มีเป้าหมายร่วมกัน จึงสามารถดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนและสร้างพื้นฐานได้อย่างคล่องแคล่ว
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการและประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ไปพูดเปิดงาน “Singapore Fintech Festival 2018” ซึ่งเป็นงานนิทรรศการฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมเวลา 3 วันตั้งแต่ 12-14 พฤศจิกายน 2561
มีคนมาพูดไม่น้อยกว่า 250 คน ผู้มาร่วมจัดนิทรรศการกว่า 450 แห่ง และคนเข้าร่วมกว่า 40,000 ราย
ผู้อำนวยการใหญ่ IMF พูดเรื่อง “Winds of Change: The Case for New Digital Currency” เน้นเรื่อง "เงินดิจิทัลใหม่" มีประเด็นที่น่าสนใจมากหลายหัวข้อ
เว็บไซต์ ThaiPublica แปลปาฐกถาของเธอเป็นภาษาไทยไว้ค่อนข้างละเอียด ผมขออนุญาตนำเอาบางตอนมาให้ท่านได้อ่านเพื่อร่วมกันคิดต่อถึงเรื่อง "เงินดิจิทัลกับประเทศไทย" ไปพร้อมๆ กัน
คริสตีน ลาการ์ดบอกว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีลมแรง เป็นลมที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและโอกาส จากประวัติศาสตร์ลมได้พัดเรือต่างๆ เข้าสู่ท่าเรือของสิงคโปร์และเติมเสบียงเตรียมพร้อมรอให้มรสุมผ่านไป และรอให้ฤดูกาลเปลี่ยนผ่านไปเช่นกัน
เธอบอกว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งเดียวที่แน่นอน” เป็นคำพูดของนักปรัชญากรีกโบราณนามว่า เฮราคลิตุสแห่งเอฟิซัส (Heraclitus of Ephesus)
สิงคโปร์รู้ซึ้งถึงเรื่องนี้และนั่นคือจิตวิญญาณที่แท้จริงของนิทรรศการฟินเทค ที่ซึ่งเปิดประตูไปสู่อนาคตของดิจิทัล และชักใบเรือขึ้นเพื่อแล่นออกไปสู่ลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
เธอแสดงความชื่นชมที่สิงคโปร์ได้แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์อย่างยอดเยี่ยม ยกตัวอย่าง "กระบะทรายทดลองนโยบาย" หรือ Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นที่ที่แนวคิดใหม่จะถูกทดสอบ นึกถึงห้องทดลองฟินเทคและนวัตกรรม และความร่วมมือกับธนาคารกลางประเทศต่างๆ เรื่องการชำระเงินระหว่างประเทศ
ลาร์กาดพูดถึง "การเปลี่ยนโดยธรรมชาติของเงินและการปฏิวัติฟินเทค" ว่า ย้อนกลับไปเมื่อการค้าขายอยู่เฉพาะท้องถิ่น รอบๆ ศูนย์กลางเมือง เงินในรูปของเหรียญโลหะถือว่าเพียงพอและมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนมือของเงินสามารถชำระหนี้และธุรกรรมต่อกันได้ และตราบใดที่เหรียญยังถูกยอมรับว่าเป็นของจริง ไม่ว่าจะการส่องดู การขูด หรือกัดเหรียญ มันก็ไม่ได้สำคัญว่าใครจะถือมัน
แต่เมื่อการค้าย้ายลงไปสู่ทะเลและเรือ เหมือนกับเรือจำนวนมากที่ผ่านเข้ามายังสิงคโปร์ และครอบคลุมระยะทางการค้าที่กว้างขึ้นอย่างมาก การแบกเหรียญไปชำระหนี้กลายเป็นสิ่งที่มีต้นทุนแพง เสี่ยง และวุ่นวาย แม้ว่าจีนได้ประดิษฐ์เงินกระดาษขึ้นในศตวรรษที่ 9 ซึ่งก็ช่วยได้ แต่ยังไม่เพียงพอ
นวัตกรรมที่มาแก้ไขปัญหาคือตั๋วแลกเงิน หรือ Bill of Exchange หมายถึงแผ่นกระดาษที่อนุญาตให้พ่อค้าที่มีบัญชีธนาคารในเมืองต้นทางสามารถถอนเงินออกจากเงินที่อยู่ในธนาคารในปลายทางได้ ชาวอาหรับเรียกสิ่งนี้ว่า ซักกส์ (Sakks) ซึ่งจะกลายเป็นที่มาของคำว่า “เช็ค” ในปัจจุบัน เช็คเหล่านี้และธนาคารที่ตามไปกับพวกเขาได้กระจายไปทั่วโลก นำโดยนายธนาคารชาวอิตาลีและพ่อค้าแห่งยุคเรเนซองส์
ทันใดนั้น สิ่งที่สำคัญคือใครที่คุณกำลังพูดคุยอยู่ พ่อค้าชาวเปอร์เชียนี้มีสิทธิที่แท้จริงของตั๋วแลกเงินหรือไม่? ตั๋วแลกเงินนี้เชื่อถือได้หรือไม่? ธนาคารที่อยู่ในจีนจะรับมันหรือไม่?
ความเชื่อใจ หรือ Trust กลายเป็นสิ่งสำคัญ และรัฐกลายเป็นผู้รับประกันความเชื่อใจเหล่านั้น ด้วยผลิตเงินรองรับสภาพคล่องที่จะเกิดขึ้นเหล่านั้นและรวมไปถึงการให้คำแนะนำต่างๆ ทำไมประวัติศาสตร์เหล่านี้ถึงเกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัล?
เธอตอบว่า "เพราะการปฏิวัติฟินเทคกำลังตั้งคำถามกับเงิน 2 รูปแบบที่เราพูดถึงไป เงินเหรียญและเงินฝากธนาคาร รวมทั้งมันยังตั้งคำถามไปถึงบทบาทของรัฐในการผลิตเงิน”
ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟบอกว่า
“เราอยู่ที่จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ พวกคุณ ผู้ประกอบการเด็กและไฟแรงได้มารวมกันวันนี้ ไม่ใช่แค่ประดิษฐ์บริการ แต่คุณมีศักยภาพที่จะปั้นประวัติศาสตร์ขึ้นมา และเราทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการของการปรับตัว ลมใหม่ได้พัดแล้ว ลมของดิจิทัล ในโลกแห่งใหม่นี้ เราพบปะกันได้ทุกที่ทุกเวลา ศูนย์กลางเมืองอยู่ที่หลังมือของเรา ผ่านมือถือสมัยใหม่อย่างเห็นชัดๆ เราแลกเปลี่ยนข้อมูล บริการ อิโมจิ อารมณ์ ทันทีจากเพื่อนสู่เพื่อน จากผู้คนสู่ผู้คน พวกเรากำลังลอยอยู่ในโลกของข้อมูล เมื่อข้อมูลกลายเป็น “ทองคำ” ในยุคสมัยใหม่ แม้ว่าจะมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย เราอยู่ในโลกที่คนรุ่นใหม่กำลังสร้างวิธีที่เศรษฐกิจทำงานด้วยมือถือในมือ...”
และนี่คือจุดสำคัญ เงินด้วยมันเองกำลังเปลี่ยนแปลง เราคาดหวังว่ามันจะสะดวกขึ้น เป็นมิตรกับคนใช้มากขึ้น และบางทีอาจจะดูไม่จริงจังนัก เราคาดหวังว่ามันจะรวมเข้ากับสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ พร้อมที่จะให้ใช้จ่ายผ่านออนไลน์และระหว่างผู้คน รวมไปถึงเงินเล็กๆ น้อยๆ ด้วย และแน่นอนเราคาดหวังว่ามันจะถูก ปลอดภัย ถูกปกป้องจากอาชญากรรมและตาที่สอดรู้สอดเห็นของนักจารกรรม
เธอตั้งประเด็นสำคัญ: คำถามคือจะเหลือบทบาทอะไรให้เงินสดอีกในโลกดิจิทัลนี้?
และตอบว่าทุกวันนี้ก็เห็นชัดในบางร้านค้าที่ติดป้าย “ไม่รับเงินสด” แล้วไม่ใช่แค่ในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกไร้เงินสด แต่ในอีกหลายประเทศด้วย อุปสงค์ความต้องการเงินสดกำลังลดลง
จากงานวิจัยเร็วๆ นี้ของไอเอ็มเอฟ และในอีก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี ใครจะยังใช้เงินเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน
เช่นเดียวกับเงินฝากธนาคารที่ได้รับแรงกดดันจากรูปแบบใหม่ของเงิน นึกถึงผู้บริการชำระเงินที่เชี่ยวชาญใหม่ๆ ที่นำเสนอบริการ e-Money ตั้งแต่ AliPay และ WeChat ในจีน จนถึง PayTM ในอินเดีย และ M-Pesa ในเคนยา รูปแบบของเงินเหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยกรอบแนวคิดของเศรษฐกิจดิจิทัลในใจ พวกเขาตอบสนองกับสิ่งที่คนอยากได้ และอะไรที่เศรษฐกิจต้องการ
ลาการ์ดบอกว่าแม้แต่คริปโตเคอเรนซีอย่าง บิตคอยน์ อีเธอเรียม และริปเปิล ต่างกำลังแข่งขันกันชิงพื้นที่ในโลกไร้เงินสด พร้อมทั้งประดิษฐ์พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังว่ามันจะนำเสนอบทบาทการรักษามูลค่าที่เสถียรมากขึ้น เร็วขึ้น และถูกลงในการทำธุรกรรม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |