น่าจะคุมไม่อยู่


เพิ่มเพื่อน    

    ในขณะที่พวกเรากลายเป็นพลเมืองของประเทศดิจิทัล (Natives of Digital Nation) พวกเราก็ใช้พื้นที่ Social Media ในการสื่อสารกับคนอื่นทั้งเพื่อนจริงและเพื่อนเสมือน เราแสดงความคิดเห็น เราเล่าประสบการณ์ เรารายงานการใช้ชีวิตของเราจนทำให้ social Media กลายเป็นช่องทางสำคัญของการสื่อสารของผู้คนในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องธุรกิจ ตลอดจนเรื่องการเมืองที่พรรคการเมืองได้ใช้ Social Media เป็นช่องทางในการสื่อสารกับคนลงคะแนนเสียงจนได้รับชัยชนะมาแล้วในหลายประเทศบนโลกนี้ และกรณีดังกล่าวนี้ก็คงจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย

    แม้ว่าเวลานี้ยังไม่มีการหาเสียงอย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งที่แน่นอน ยังไม่มีการสมัครลงรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เราก็ได้เห็นการใช้ Social Media เป็นพื้นที่ในการนำเสมอข่าวสารการเมืองกันแล้ว มีทั้งการสื่อสารของพรรคการเมืองของผู้ที่คาดว่าจะสมัครลงรับเลือกตั้ง และกองเชียร์ของพรรคและของบุคคล ถ้าหากเราติดตามข้อความที่มีการสื่อสารกันอยู่ในขณะนี้แล้วคงอดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงว่า เมื่อถึงเวลาที่มีการหาเสียงกันจริงๆ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เวลานี้แต่ละฝ่ายต่างออกมาด่าทอต่อว่า กล่าวหากันต่างๆ นานาจนกลายเป็นบรรยากาศที่ยากจะก่อให้เกิดการปรองดอง
    ข้อความที่เผยแพร่กับเวลานี้มีทั้งข่าวลวง ข่าวลือ ข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือนด้วยความจงใจ ที่สำคัญก็คือมีการใช้ข้อความหยาบคายกันไม่น้อยเลยทีเดียว จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ทำให้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วง และผู้คุมกฎในการควบคุมการเลือกตั้งก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องกำหนดแนวทางการใช้ Social Media ในการสื่อสารกับประชาชนผู้มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง ขณะเดียวกันผู้บริหารพรรคการเมืองและนักการเมืองที่สมัครลงรับเลือกตั้งก็อยากจะรู้ข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ทั้งนี้เพราะหากทำอะไรผิดพลาดลงไป บทลงโทษรุนแรงถึงขนาดยุบพรรคหรือจะต้องออกไปจากเวทีการเมืองไปตลอดชีวิต แต่บัดนี้ก็ยังไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่ชัดแต่อย่างใด การสื่อสารที่ไม่เหมาะไม่ควรจึงมีปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ยามที่มีกฎเกณฑ์ออกมาก็ไม่แน่ใจว่าจะทันการณ์หรือไม่ ที่จะทำให้เรากลับเข้าสู่บรรยากาศของการหาเสียงเพื่อให้ได้ชัยชนะการเลือกตั้งที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
    อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่มีการออกกฎเกณฑ์ออกมาก็คงจะกำหนดกฎเกณฑ์กำกับพรรคการเมือง กำกับนักการเมือง กำกับสมาชิกพรรคการเมือง กำกับสื่อมวลชนที่เป็นองค์กรทั้งการสื่อสารแบบ offline และ online เท่านั้น แต่การจะกำกับประชาชนทั่วไปที่เป็นเพียงกองเชียร์ หรือกองทำลายภาพลักษณ์ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของพรรคและผู้สมัครฝ่ายตรงกันข้ามบางคนนั้น จะกำกับดูแลกันอย่างไร ถ้าหากไม่กำหนดก็คงจะรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ แต่หากจะออกกฎเกณฑ์อะไรมากำกับพวกเขาในฐานะประชาชนผู้เป็นปัจเจก รัฐบาลและคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งก็จะถูกตำหนิว่าออกกฎเกณฑ์มาละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา จะกลายเป็นว่ารัฐบาลกลัวคู่แข่งจนต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ออกมากำกับการสื่อสารบนพื้นที่ Social Media เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่าการกำกับการสื่อสารบนพื้นที่ Social Media ของประชาชนน่าจะเป็นเรื่องยากหรือเป็นเรื่องที่เอาไม่อยู่ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยเบ่งบานมากกว่าหลายประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป
    สำหรับการสื่อสารของประชาชนที่เป็นปัจเจก ไม่ได้สังกัดพรรคใดๆ ไม่ใช่องค์กรสื่อใดๆ นั้น หากมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริง ไม่ได้เป็นการบิดเบือน กล่าวหาคนอื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และนำเสนอด้วยถ้อยคำที่สุภาพด้วยความจริงใจ ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ก็อาจจะไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก แต่หากปัจเจกดังกล่าวนั้นรับจ้างพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรายใดรายหนึ่งในการเชียร์คนที่จ้างหรือทำลายชื่อเสียงของคู่ต่อสู้ ผู้คุมกฎจะรู้ได้อย่างไร ใครแสดงความคิดเห็นด้วยความจริงใจ ไม่มีวาทะซ่อนเร้น ไม่ได้รับจ้างใครมา หรือใครเป็นมือปืนรับจ้างมาเขียนเชียร์คนจ้าง และมาเขียนทำลายคู่ต่อสู้ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เพราะว่าการจะหาหลักฐานมายืนยันว่าบุคคลดังกล่าวนั้นนำเสนอข้อความในฐานะเป็นคนที่รับจ้างพรรคการเมือง หรือนักการเมือง
มาทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารที่อาจจะผิดกฎเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งได้กำหนดไว้กำกับพรรคการเมือง นักการเมือง และสื่อที่เป็นองค์กร เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งจะดำเนินการอย่างไร และเมื่อทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว ก็จะกระทบภาพลักษณ์ของรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการที่ไล่ควบคุมการสื่อสารของประชาชนที่ใช้สิทธิด้านหลักการประชาธิปไตย กลายเป็นวาทกรรมที่ฝ่ายตรงกันข้ามเอามาโจมตีรัฐบาลได้
    เมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ และนึกถึงปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาที่มีการหาเสียงกันจริงๆ แล้ว รู้สึกเป็นห่วงจริงๆ กลัวจะมีการด่าทอต่อว่ากันด้วยข้อความที่เป็นเท็จและด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย จนทำลายบรรยากาศของความปรองดอง ตอกย้ำความแตกแยกของคนไทย ที่อาจจะทำลายความมั่นใจของผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนั้นขอให้ประชาชนผู้เป็นปัจเจกสื่อสารพื้นที่ Social Media ด้วยความระวัดระวัง ช่วยรักษาบรรยากาศของการเดินสู่ความปรองดองให้เป็นที่รับรู้ของคนไทยและประชาคมโลกด้วยเถอะนะ
    อย่าเป็นมือปืนรับจ้างในการเขียนข้อความเชียร์ใครหรือด่าใครบนพื้นที่ Social Media
    อย่านำเสนอเรื่องราวที่เป็นข่าวเท็จ ข่าวลวงและข่าวลือที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์
    อย่าใช้วาจาหยาบคายในการต่อว่าต่อขานใครที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง
    อย่าตำหนินโยบายที่เราไม่ชอบด้วยข้อความที่รุนแรงที่จะทำให้อีกฝ่ายเจ็บแค้น
    อย่าทำอะไรที่จะเป็นเหตุให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ในเมื่อเราอยากเลือกตั้ง
    ช่วยกันรักษาบรรยากาศของความปรองดองที่ควรจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อผลของการเลือกตั้งออกมาอย่างไร ก็ต้องเคารพผลของการเลือกตั้ง แม้ฝ่ายที่เราไม่ชอบได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องยอมรับโดยดุษณี ให้โอกาสเขาทำงาน พิสูจน์ความจริงใจในการทำงานการเมืองก่อน หากเขาบริหารบ้านเมืองแบบไม่มีธรรมาภิบาล ตอนนั้นค่อยคิดอ่านกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"