แม้ยังไม่ได้มีการ ปลดล็อก แต่บรรยากาศการเลือกตั้งที่ร้างลาไปนาน 7 ปี กลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคมที่จะถึงนี้
โดยการมีผลบังคับใช้ของ “กฎหมาย ส.ส.” ถือว่ามีความสำคัญอย่างที่จะทำให้ประเทศไทยขยับเข้าใกล้ “การเลือกตั้ง” มากที่สุด เพราะถือเป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ หลังรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากนั้น
เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่างๆ มากมายของพรรคการเมือง แม้จะยังมีบางส่วนหวาดระแวงว่า การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ก็ตาม
กระนั้นก็ไม่ได้เป็นความกังวลในระดับที่มากเหมือนที่ผ่านๆ มา นั่นเพราะทุกคนรู้ดีว่า ต่อให้การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่คงไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคมไปได้ ซึ่งในเมื่อรอมาได้ถึงขนาดนี้แล้ว หากจะต้องขยับออกไปอีกไม่เกิน 3 เดือน คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร
และหลายคนยังเชื่อว่า ความเป็นไปได้สำหรับวันเข้าคูหาเลือกตั้งยังเป็น 24 กุมภาพันธ์ ตามเดิมยังมีสูง หากมองท่าทีและองค์ประกอบต่างๆ จากผู้กำหนดอย่าง รัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 เรื่อง เลื่อนการประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกไป ซึ่งแม้บางฝ่ายจะมองว่า คสช.พยายามจะ เลื่อนเลือกตั้ง อีกครั้ง
แต่เมื่อดูจากความพร้อมของ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นองคาพยพหลักทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง กลับดูจะมีความเพียบพร้อม และอยากจะให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุดด้วยซ้ำไป
ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติแล้ว นอกจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 16/2561 จะไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ จะเลื่อนออกไป ยังเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งมีคนในรัฐบาลอยู่จำนวนมาก
อีกทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ดูจะส่งผลต่อ “พรรคเพื่อไทย” มากที่สุด หลังสร้างปัญหาให้กับยุทธศาสตร์ “แยกกันตี” ซึ่งทำให้การจัดทัพว่า ใครจะไปอยู่พรรคไหนในบรรดา “พรรคสาขา” เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า กกต.จะแบ่งเลือกตั้งออกมาอย่างไร
ในขณะที่เดดไลน์เรื่องคุณสมบัติ ซึ่งผู้ที่จะลงรับสมัคร ส.ส.จะต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันตามรัฐธรรมนูญ จะครบกำหนดในวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ในกรณีว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
โดยการประกาศเขตเลือกตั้งของ กกต.นั้น เป็นไปได้ยากมากที่จะเสร็จก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน ดังนั้น “เพื่อไทย” และพรรคสาขา ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อธรรม หรือพรรคอื่นๆ จะต้องรีบเข้าสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งไปก่อน เพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติการลงรับสมัคร ส.ส.
ซึ่งการเข้าไปเป็นสมาชิกก่อน อาจจะเกิดปัญหาทับซ้อนในเรื่องพื้นที่ได้ หากเขตเลือกตั้งที่ กกต.กำลังจะประกาศออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทย และพรรคสาขากะเก็งเอาไว้
นอกจากนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของ กกต.ยังอาจส่งผลให้ฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงได้ หากออกมาแล้วพื้นที่หลักถูกกระจายออกไป
มีการตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าว แท้จริงคือ “การแก้เกม” ยุทธศาสตร์กระจายและไปกระจุกกันที่ “รัฐสภา” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี การที่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ยังทำให้เห็นรูปร่างหน้าตาของแต่ละพรรคการเมืองที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกด้วย
โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มีความเคลื่อนไหวน่าตื่นตาตื่นใจตลอดสัปดาห์ หลังก่อนหน้านี้ซาไปสักระยะหนึ่งตอนหมดกระแส “ดูด”
มีนักการเมือง ทั้งที่มีข่าวมาสักระยะว่าจะมาร่วมงาน หรือพวกที่ เหนือความคาดหมาย เข้ามาสมัครสมาชิกพรรคจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่า แม้แต่ในวันสุดท้ายของพวกที่จะลงรับสมัคร ส.ส. 26 พฤศจิกายนนี้ ก็ยังจะมี บิ๊กเซอร์ไพรส์ เข้ามาอีกแน่
บุคคลที่ไม่น่าเชื่อว่าจะทิ้งพรรคเพื่อไทยอย่าง วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และอดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจหอบอดีต ส.ส.กำแพงเพชร มาร่วมงานกับ “พลังประชารัฐ” ยกจังหวัด
หรือแม้แต่ ตระกูลอัศวเหม แห่งสมุทรปราการ ที่ร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ “วัฒนา อัศวเหม” อดีต รมช.มหาดไทย ยังไม่ได้หลบหนี และอีกหลายคนที่เคยโจมตี คสช. หรือดูจงรักภักดีกับ “ทักษิณ” มากก็ยังมาซบกับพรรคใหม่แกะกล่องที่รู้กันดีว่า เป็นที่มั่นหลักของ “ทหาร”
จนมาถึงตรงนี้ มีอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย มาร่วมงานกับ “พลังประชารัฐ” แล้วไม่น้อยกว่า 50 ชีวิต ท่ามกลางการถูกเพ่งเล็งว่า นี่ไม่ใช่การมาร่วมเพราะอุดมการณ์ หากแต่เป็นการ แลกเปลี่ยน กับอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความ อยู่รอด เพราะอดีต ส.ส.เหล่านี้ เกือบจะทั้งหมดต่างมีคดีติดตัวกันแทบทั้งสิ้น
ขณะที่บางส่วนก็ไม่มั่นใจกับกระแสข่าวยุบพรรคเพื่อไทย จึงตัดสินใจหนีออกเพื่อเลี่ยงการโดนล้างน้ำเป็นครั้งที่ 3 อันจะทำให้เส้นทางทางการเมืองดับลง
มันจึงทำให้ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ประกาศชูคนรุ่นใหม่ และทางเลือกใหม่ เต็มไปด้วยนักการเมืองจากอีกฝั่งตรงข้ามที่หันมาสวามิภักดิ์เต็มไปหมด
นอกจากนักการเมืองหน้าเดิม วิธีการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงไม่มีมิติใหม่จากในอดีต เพราะยังใช้วิธีกวาดต้อนเพื่อ เน้นปริมาณ มากกว่า คุณภาพ เป็นการแย่งอำนาจจากอีกขั้วไปอีกขั้ว
ซึ่งมันเป็นวิธีที่ “ทักษิณ” เคยทำกับพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพียงแต่วันนี้เป็น “พลังประชารัฐ”
ขณะที่วิธีการสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนยังคงเป็นรูปแบบเดิม นั่นคือ การลด แลก แจก แถม เพื่อซื้อใจ แนวทางความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กลับถูกพับไปเพื่อ “ชัยชนะ” ในสนามเลือกตั้ง
รัฐบาลใช้งบจากกองทุนประชารัฐ ซึ่งมีชื่อคล้ายกับ “พรรคพลังประชารัฐ” อนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยคนจน คนชรา ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งในทางการเมืองถือเป็นการสร้างความได้เปรียบ
ในส่วนของคนรุ่นใหม่ แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นลูกหลานและทายาทของนักการเมืองที่ถูกส่งมา เพื่อเล่นกับกระแส “เลือดใหม่” ที่หลายพรรคชู ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือจริงๆ
ทั้งการก่อตั้งพรรค รวมถึงแนวทางการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง แทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปจากเดิม
เหตุนี้แม้การเลือกตั้งจะจบลง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ และรัฐบาลอีกสมัย แต่เมื่อการได้มาซึ่งอำนาจไม่ได้เกิดจากการ “ปฏิรูป” มันจึงเป็นเพียงอำนาจที่เปลี่ยนมือจากขั้วหนึ่งมาอยู่อีกขั้วหนึ่งเท่านั้น
โอกาสที่ไทยจะหลุดจากวังวนความขัดแย้งจึงเป็นไปได้ยาก พร้อมกับวนลูปวงจรอุบาทว์ทางการเมืองอยู่แบบนี้!!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |