มุมมองของผู้นำสีจิ้นผิงต่อการค้าโลกในยุคทรัมป์


เพิ่มเพื่อน    

 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แสดงสุนทรพจน์ในงานประชุมเอเปกครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2018 ที่ประเทศปาปัวนิวกินี ในหัวข้อ “การควบคุมโอกาสในช่วงเวลาของเราเพื่อนำสู่ความมั่งคั่งร่วมกันในเอเชียแปซิฟิก” (Harnessing Opportunities of Our Times To Jointly Pursue Prosperity in the Asia-Pacific) มีสาระสำคัญพร้อมข้อวิจารณ์ดังนี้

                โลกของเรากำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีชุดใหม่และการปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังเผยตัวออกมา ระบบโลกกำลังถูกปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันกำลังเผชิญปัญหาที่หยั่งรากลึก พร้อมกับลัทธิปกป้องการค้าและการกระทำฝ่ายเดียว กระทบต่อระบบการค้าพหุภาคีนิยม ภาวะเศรษฐกิจโลก จึงสุ่มเสี่ยงและไม่แน่นอน

                สำนวนจีนกล่าวว่า ‘คนผู้มีวิสัยทัศน์มองว่าโอกาสไปทางใดและติดตามไป’ เราจึงต้องติดตามแนวโน้มของโลกอย่างใกล้ชิด ด้วยการ ...

                ข้อแรก บูรณาการเศรษฐกิจภูมิภาคให้มากกว่านี้ สร้างเศรษฐกิจเปิดในเอเชียแปซิฟิก ส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรี เดินหน้าสร้างเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) นำทุกประเทศเข้ามาเป็นสมาชิก ทำการค้าการลงทุนอย่างโปร่งใส ติดต่อด้วยสัมพันธ์เชิงบวก ยึดมั่นการค้าพหุภาคีที่ถือกฎเกณฑ์ ปฏิเสธลัทธิปกป้องการค้า

วิเคราะห์ : ผู้นำจีนกำลังโจมตีหลัก “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ว่าเป็นลัทธิปกป้องการค้าและการกระทำเพียงฝ่ายเดียว (protectionism and unilateralism) เป็นวิธีของคนเห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้น หายนะจะตามมา การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจไม่เป็นผลดี ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วไม่ว่าจะเป็นสงครามเย็น สงครามร้อน สงครามการค้า สุดท้ายไม่มีใครชนะ การปฏิบัติโดยใช้ 2 มาตรฐานเป็นหลักฐานสำคัญชี้ว่าเคารพต่ออธิปไตยของอีกประเทศหรือไม่ ประธานาธิบดีทรัมป์มักกล่าวว่า เขาเป็นชาตินิยม รักอธิปไตยและเคารพอธิปไตยชาติอื่นๆ แต่พฤติกรรมกับคำพูดดูจะไม่ตรงกัน แต่ก็คงไม่ถูกหากจะวิพากษ์สหรัฐเพียงลำพัง แท้จริงแล้วหลายประเทศไม่เคารพอธิปไตยประเทศอื่นเช่นกัน ต่างกันเพียงมากบ้างน้อยบ้าง วิธีการที่ใช้รุนแรงเพียงไร

                องค์การการค้าโลก (WTO) กำลังเข้าสู่การปฏิรูป ควรจะปฏิรูปเพื่อให้ทำหน้าที่ดีกว่าเดิมโดยยังยึดถือหลักการดั้งเดิม ไม่ใช่การปฏิรูปที่เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง

                ปีนี้จีนฉลองครบรอบปฏิรูปและการเปิดประเทศ 40 ปี จีนจะยังคงปฏิรูปต่อไปทำให้เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม (socialist market economy) อยู่ร่วมกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ยินดีเปิดตลาดให้กว้างขึ้น พยายามปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา สร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดี เป็นหลักฐานว่าจีนสนับสนุนการค้าเสรีและการค้าที่เปิดกว้าง

                วิเคราะห์ : ข่าวการกีดกันการค้า การปฏิเสธกฎกติกาโลกจากรัฐบาลทรัมป์กลายเป็นโอกาสให้รัฐบาลจีนชูธงการค้าเสรีและเปิดกว้าง ควรมองว่าการค้าเสรีนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เสรีจริง ทุกอย่างอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลง เป็นเช่นนี้เรื่อยมา สามารถวิพากษ์ว่ารัฐบาลทรัมป์เห็นแก่ตัว แต่รัฐบาลสหรัฐมักเป็นเช่นนี้เสมอมามิใช่หรือ พร้อมกับที่จีนยังปิดกั้นการค้าด้วยกลไกหลายอย่าง มุ่งรักษาประโยชน์ของนายทุนจีนเช่นกัน เพียงแต่รัฐบาลจีนสามารถฉวยโอกาสนี้สร้างกระแสชูธงการค้าเสรี

                ข้อสอง สร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเติบโต ส่งเสริมปัจจัยการเติบโตใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัลคืออนาคตของเอเชียแปซิฟิกและโลก ต้องตามกระแสนวัตกรรมล่าสุด ปฏิบัติตามแผนเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมดุล สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับความก้าวหน้า ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงให้มากที่สุด

                จีนกำลังสร้าง “จีนดิจิทัล” (Digital China) สัมพันธ์กับอินเทอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เทคโนโลยีใหม่ รูปแบบธุรกิจใหม่กำลังมีส่วนในเศรษฐกิจ การค้าปลีกออนไลน์ การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือกำลังพัฒนาต่อไป ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนจีน รัฐบาลจีนหวังร่วมมือกับชาติสมาชิกเอเชียแปซิฟิกเพื่อขยายผลประโยชน์ร่วม เติบโตไปด้วยกัน ทำให้เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเติบโตและสดใหม่

                วิเคราะห์ : จีนดิจิทัลน่าจะตีความว่าคือสังคมจีนใหม่ น่าสนใจว่ารัฐบาลจีนไม่กลัวกระแสต่อต้านรัฐบาลจากความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัล คล้ายจะเป็นประเทศที่เปิดกว้างเชื่อมโยงทั่วถึงทั้งภายในและภายนอกประเทศ น่าติดตามว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลต่อการเมืองการปกครองจีนอย่างไร และรัฐบาลจีนจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

                ข้อสาม เราจำต้องพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และการพัฒนาที่เชื่อมต่อกัน ทุกประเทศต้องมีแผนและนำแผนดังกล่าวมาหารือร่วมกัน ให้ทุกพื้นที่เชื่อมต่อถึงกัน สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 เป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) หวังสร้างโอกาสการพัฒนาแก่ประชาชนในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

                วิเคราะห์ : รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) วิพากษ์ BRI เป็นกับดักทำให้ประเทศต่างๆ เป็นหนี้จีน ต้องพึ่งพาจีนต่อไป มีงานวิจัยนำเสนอเรื่องนี้ แต่จะเป็นจริงหรือไม่อีกไม่นานจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ที่ควรตระหนักคือเป็นแนวทางที่หลายประเทศทำเรื่อยมา บางครั้งมีอิทธิพลควบคุมรัฐบาลประเทศนั้นๆ การกู้หนี้ยืมสินจึงไม่ใช่ของฟรี มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเงินชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย

                ข้อสี่ สมาชิกต้องร่วมมือใกล้ชิดเผชิญหน้าความท้าทายร่วม เอเปกช่วยให้สมาชิกใกล้ชิดกันมากขึ้น ไว้ใจกันมากขึ้น ร่วมมือบนพื้นฐานได้ประโยชน์ร่วม แม้สมาชิกจะแตกต่างหลากหลาย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือเราต้องยึดมั่นในเป้าหมายที่จะพัฒนาไปด้วยกัน แก้ไขเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันด้วยการปรึกษาหารือ เคารพความแตกต่างหลากหลายและแนวทางการพัฒนาประเทศของชาติสมาชิก ยึดหลักการเปิดกว้างและนำทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมกับให้เกิดการแข่งขันและได้ประโยชน์จากความร่วมมือ ด้วยแนวทางเหล่านี้ทุกประเทศจะมีส่วนในอนาคตของเอเชียแปซิฟิก

                จีนถือปรัชญาพัฒนาโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centered development) วิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ความร่วมมือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดกว้างเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน ช่วยให้ประชาชนกว่า 700 ล้านคนพ้นความยากจน และจะไม่ให้เหลือภายในปี 2020 เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้มาจากการบริโภคภายในถึงร้อยละ 78 และจะเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป

                 จีนที่พัฒนาเป็นโอกาสแก่ประเทศอื่นๆ จีนจะพัวพันกับชาติอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง สนับสนุนการพัฒนาและความมั่งคั่งแก่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เขียนกฎ-ล้างกฎ-สร้างกฎใหม่ :

ภาษีศุลกากร การกีดกันทางการค้าเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ชาติตะวันตกซึ่งหวังทำการค้ากับนานาประเทศเห็นว่า ภาษีศุลกากร การกีดกันการค้าเป็นอุปสรรคต่อการค้าขายของตน จึงมีนโยบายมุ่งลดการกีดกันเหล่านี้ ส่งเสริมการค้าเสรีซึ่งหมายถึงลดกำแพงภาษี ก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) ชาติตะวันตกในสมัยนั้นเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ ทำให้พวกเขาได้กำไรมาก

บัดนี้ รัฐบาลสหรัฐเห็นว่าองค์การการค้าโลกไม่เหมาะกับเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน จำต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ขณะที่จีนเห็นว่าควรปรับแก้เฉพาะกลไกแก้ไขความขัดแย้ง

                เรื่องที่หลายประเทศกังวลคือสหรัฐอาจถอนตัวหากไม่ปฏิรูป WTO ตามที่สหรัฐต้องการแล้วไปสร้างกลุ่มการค้าโลกใหม่ กระทบต่อระบบการค้าโลกอย่างรุนแรง การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายจะยิ่งรุนแรง จินตนาการว่าเกิดองค์การการค้าโลก 2 แห่งที่ฝ่ายหนึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ กับอีกองค์การที่ฝ่ายต่อต้านสหรัฐเป็นแกนนำ อาจนำโลกถลำลึกเข้าสู่สงครามเย็นรอบใหม่ ที่ไม่ตั้งอยู่บนความแตกต่างทางการเมืองการปกครอง

                เป็นกรณีตัวอย่างที่สหรัฐหนึ่งในผู้ก่อตั้งสร้างขึ้นกับมือแล้วล้มด้วยตัวเอง เพื่อสร้างองค์กรใหม่ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตนมากที่สุด ในขณะที่ผู้ได้ประโยชน์อย่างจีนจะรักษาสุดชีวิตเช่นกัน

                และเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่สหรัฐไม่คิดโดดเดี่ยวตัวเอง ยังต้องการพัวพันกับประเทศอื่นๆ สร้างความร่วมมือพหุภาคี (multilateral system) แต่ต้องเป็นระบบที่ให้ประโยชน์ต่อตนมากพอ

                รัฐบาลสหรัฐไม่ปฏิเสธกฎกติกา แต่ต้องเป็นกฎกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อตน คำว่าการค้าเสรีของรัฐบาลสหรัฐ จึงไม่ใช่การค้าที่มุ่งให้โอกาสทุกฝ่ายได้ประโยชน์เท่าเทียม

คำถามคือ นานาชาติจำต้องยอมสูญเสียประโยชน์ของตนเพื่ออเมริกาหรือไม่ อย่างไร รัฐบาลสีจิ้นผิงกำลังทำหน้าที่ของตน

--------------------

ภาพ : ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

ที่มา : https://www.facebook.com/148801685182819/photos/a.148801901849464/894581730604807/?type=3&theater


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"