"กัญชา"ของกลางสารเคมีอื้อ"กรมวิทย์ฯ"บอก ใช้ทำยาไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

23พ.ย.61-กรมวิทย์ เผยผลหารตรวจวิเคราะห์กัญชาของกลาง พบสารเคมีอื้อ ถือว่ากัญชาของกลางไม่มีคุณภาพเพียงพอ ที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นยารักษาผู้ป่วยได้ เพราะมีสารฆ่าแมลงที่เป็นพิษต่อร่างกาย ส่วนคนที่ลักลอบนำมาสูบเองก็ถือว่า นอกจากผิดกฎหมายอยู่แล้ว ยังอาจได้รับสารพิษเช่นกัน 


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผลการตรวจวิเคราะห์กัญชาของกลางเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ว่า ขั้นตอนการผลิตสารสกัดจากกัญชาหรือการผลิตเป็นยา วัตถุดิบจะต้องมีคุณภาพ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงได้นำวัตถุของกลางที่ได้รับอนุญาตจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มอบให้กรมฯ ตรวจสอบ โดยได้ตรวจสอบใน 3 เรื่อง คือ 1.สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้าง โดยกรมฯ สามารถตรวจได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ และกลุ่มคาร์บาเมต รวมแล้วกว่า 60 ชนิด  2.ตรวจสารโลหะหนัก ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู เนื่องจากกัญชาสามารถดูดสารโลหะหนักจากใต้ดินมาสะสมในต้นได้ และ 3.ทดสอบประเด็นอื่นๆ เช่น จุลินทรีย์ 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจพบว่า ของกลางที่ อภ.ส่งมาเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2561 รวม 3 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนยาฆ่าเชื้อราในตัวอย่างกัญชาแห้งทั้ง 3 ตัวอย่าง แต่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือ คลอร์ไพริฟอส และ ไซเปอร์เมทริน ทั้ง 3 ตัวอย่าง รวมถึงตรวจพบโลหะหนัก ทั้งตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม ทั้ง 3 ตัวอย่างด้วย จึงได้รายงานผลให้ อภ.รับทราบ ส่วนของกลางที่ส่งมาตรวจเพิ่มวันที่ 7 พ.ย. 2561 จำนวน 1 ตัวอย่าง ตรวจพบสารคลอร์ไพริฟอสและไซเปอร์เมทรินเช่นกัน ส่วนโลหะหนักพบสารปรอทและสารหนู ซึ่งผลการตรวจสอบถือว่า กัญชาของกลางไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นยารักษาผู้ป่วยได้ เพราะมีสารฆ่าแมลงที่เป็นพิษต่อร่างกาย ส่วนคนที่ลักลอบนำมาสูบเองก็ถือว่า นอกจากผิดกฎหมายอยู่แล้ว ยังอาจได้รับสารพิษเช่นกัน 

ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า กัญชาของกลางล็อตแรกจาก บช.ปส. จำนวน 100 กิโลกรัมนั้น อภ.ได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างมาส่งตรวจโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าเชื้อรา เพราะวัตถุดิบที่จะทำเป็นยาจะต้องกำหนดสเปกของวัตถุดิบก่อน ซึ่งมาตรฐานกำหนดสเปก อภ.อ้างอิงจากมาตรฐานไทย เฮอร์เบิล ฟาร์มาโคเปีย และยูเอสพี เป็นมาตรฐานเกรดที่ทำเป็นยา ซึ่งจะระบุชัดเจนว่า โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ต่างๆ จะต้องมีค่าไม่เกินเท่าไร เช่น คลอร์ไพริฟอส ต้องน้อยกว่า 0.2 ppm หรือไซเปอร์เมทริน ต้องน้อยกว่า 1 ppm เป็นต้น โดยทั้ง 3 กลุ่มตัวอย่างพบว่า ยาฆ่าแมลงคอลร์ไพริฟอสมีค่าเกินมาตรฐาน และมี 1 ตัวอย่างเกินค่ามาตรฐานของไซเปอร์เมทริน และอีก 1 ตัวอย่าง มีแคดเมียมเกินมาตรฐาน ดังนั้น กัญชาของกลางที่เอามา 100 กิโลกรัมแรก ไม่สามารถเอามาใช้ทำเป็นยาเอามาใช้ศึกษาทางคลินิกได้ แต่สามารถเอาไปศึกษาในประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยบริโภค เช่น ศึกษาสารหลักที่ออกฤทธิ์เป็นยาเท่าไร เช่น THC CBD เป็นเท่าไร ซึ่งขณะนี้ทราบว่า ล็อตที่เอามาซึ่งปลูกในภูมิภาคนี้มี THC สูงกว่า CBD อัตราส่วน 8:1 เหมาะกับการรักษาโรคอะไร ก็จะได้ข้อมูลวิชาการเพิ่มขึ้น

ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน มี 2 แนวทาง เพื่อให้น้ำมันหยดใต้ลิ้นที่ประชาชนรอคอย คือ 1.ติดต่อ บช.ปส. เพื่อขอกัญชาของกลางล็อตใหม่ ซึ่งได้ประสานไปแล้วราว 300 กิโลกรัม ก็จะให้กรมวิทยาศาสตร์ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยก่อน และ 2.เร่งรัดกระบวนการปลูกกัญชาให้เร็วที่สุด โดยจะทำคู่ขนานกัน เพื่อแก้ไขปัญหาวัตถุดิบที่จะนำมาวิจัยพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้ คือ จะปรับปรุงพื้นที่ดาดฟ้าอาคารหลังหนึ่งของโรงงานผลิตยาที่รังสิต ในการปลูกกัญชา ซึ่งมีขนาดมากกว่า 1,000 ตารางเมตร จะเริ่มปลูกได้ในช่วงปลายปี 2562 ดังนั้น เมื่อต้องเร่งรัดการปลูกให้เร็วขึ้น จึงต้องหาพื้นที่ปลูกใหม่ โดยขณะนี้ได้พื้นที่ปลูกแล้ว คือ อาคารอีกหลังของโรงงานผลิตยารังสิต โดยจะปรับปรุงชั้น 2 ของอาคารในการปลูกกัญชา โดยพื้นที่ใหม่มีขนาด 100-200 ตารางเมตร เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

เมื่อถามว่าจะเริ่มปลูกกัญชาได้เมื่อไร  ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า ขั้นตอนในการปลูกกัญชานั้นไม่ง่าย โดย 1.วันที่ 30 พ.ย.นี้ อภ.จะเชิญ อย.มาดูสถานที่ใหม่ที่จะปลูกกัญชา เพื่อให้คำแนะนำว่าจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยอย่างไร เช่น ต้องติดกล้องวงจรปิด หรือเครื่องสแกนนิ้วที่จุดไหนอย่างไร  2.อภ.ต้องปรับปรุงสถานที่ให้ได้มาตรฐานตามคำแนะนำ 3.อย.จะกลับมาตรวจสถานที่อีกครั้ง  4.เสนอคณะกรรมการยาเสพติดพิจารณาในการให้ใบอนุญาตปลูก และ 5.นำใบอนุญาตไปแสดงในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาในการปลูก ซึ่งตั้งเป้าว่าจะพยายามปลูกให้ได้ภายใน ม.ค. - ก.พ. 2562 โดยพันธุ์ที่จะนำมาปลูกจะเป็นพันธุ์ผสม ซึ่งจะมีรอบในการเก็บเกี่ยวสั้น คือ 3 เดือน และต้นมีขนาดเตี้ย ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่ใช้พันธุ์ไทย เพราะพันธุ์ไทยมีขนาดสูง 2-3 เมตร ซึ่งสถานที่ใหม่ไม่เอื้ออำนวย และต้องใช้เวลา 4-5 เดือนถึงจะเก็บเกี่ยวได้ อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการศึกษาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ของเราเองด้วย

ส่วนประเด็นการมีแผนที่จะได้น้ำมันกัญชามาใช้จะเลื่อนออกไปหรือไม่  ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า เดิม อภ.กำหนดแผนว่า จะต้องได้น้ำมันกญยชามาใช้ให้ทัน พ.ค. 2562 แต่มีการปรับแผนให้รวดเร็วขึ้น โดย ม.ค. 2562 จะต้องให้ได้ประมาณ 4 พันขวด และเพิ่มเติมการผลิตขึ้นในช่วง ก.พ. - เม.ย. 2562 แต่เมื่อเกิดเหตุสะดุดว่า กำหนดการที่วางไว้จะต้องเร็วขึ้นภายใน ม.ค. 2562 อาจจะไม่ทัน แต่ยืนยันว่า เป้าหมายเดิมคือ พ.ค. 2562 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะต้องมีน้ำมันกัญชาออกมาใช้ได้ตามเป้าเดิม คือ ไม่น้อยกว่า 18,000 ขวด ซึ่งจะสอดรับพอดีกับร่างกฎหมายที่จะออกมาให้สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ในมนุษย์ได้

ด้านคำขอสิทธิบัตรกัญชาที่ยังเป็นปัญหา  ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ คือ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแถลงว่า ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดจดสิทธิบัตรกัญชาได้ กระบวนการรายละเอียดกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งช่วงนี้ อภ.ก็จะเดินหน้าวิจัยต่อไป .


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"