คำเตือนจากหลี่เสียนหลง: อาเซียนอาจต้องเลือก ระหว่างจีนกับมะกัน!


เพิ่มเพื่อน    

             คำเตือนจากนายกรัฐมนตรีหลี่เสียนหลงของสิงคโปร์ ว่าในอนาคตประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะต้อง “เลือกระหว่างจีนหรืออเมริกา” เป็นข่าวใหญ่ที่ควรแก่การใคร่ครวญอย่างยิ่ง

                เพราะแต่ไหนแต่ไรมาประโยคนี้จะไม่มีการกล่าวขานอย่างชัดถ้อยชัดคำเช่นนั้น

                หลี่เสียนหลงบอกว่า “สถานการณ์อาจจะไปถึงจุดที่อาเซียนอาจต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง”

                และสำทับว่า “แต่ผมหวังว่ามันจะไม่เกิดในเร็วๆ นี้”

                เป็นถ้อยประโยคที่ผู้นำเกาะเล็กๆ แต่แกร่งกล้าหลายๆ ด้านแห่งนี้พูดส่งท้ายในฐานะประธานอาเซียนหมุนเวียนก่อนการสิ้นสุดของการประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปี และส่งไม้ต่อมาให้ประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

                วิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่า ที่หลี่เสียนหลงนำเสนอแนวคิดอย่างนี้ เพราะความกลัวว่าประเทศเล็กๆ ทั้งหลายในภูมิภาคนี้จะถูกกดดันหนักขึ้นโดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ ทั้งๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งเสียงว่าอาจจะมีข้อตกลงกันได้ในเร็วๆ นี้

                แต่สุ้มเสียงจากปักกิ่งก็ยังยืนกรานว่า หากสหรัฐยังเดินหน้าใช้วิธีการข่มขู่คุกคามเช่นนี้ก็อย่าได้หวังว่าจะมีการพูดจาถึงขั้นประนีประนอมกันได้

                ดูเหมือนว่าจีนจะได้ตัดสินใจปักหลักแลกหมัดกับสหรัฐจนกว่าทรัมป์จะยอมเลิกวิธีการต่อรองแบบใช้หมัดหนักตลอดเวลา

                บรรยากาศการเผชิญหน้าของสองยักษ์วันนี้จึงมีความละม้ายกับ “สงครามเย็น” ที่เคยแบ่งโลกเป็นสองค่าย คือโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ จนเกิดการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

                และเป็นที่มาของทฤษฎี The end of history หรือ “อวสานแห่งประวัติศาสตร์” อันหมายความว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ยอมพ่ายแพ้ต่อโลกเสรีแล้ว

                แต่วันนี้ทรัมป์กำลังจะทำให้โลกหมุนกลับด้วยนโยบาย America First ที่ทำให้แม้พันธมิตรเดิมของอเมริกาก็เริ่มจะมีความหวั่นไหวคลอนแคลน

                ผู้นำยุโรปอย่างเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และเองเกลา มาเกิล ของเยอรมัน ออกมาประกาศจะแจ้งว่ายุโรปจะต้องสร้างกองทัพของตัวเองเพื่อปกป้องภัยจากรัสเซีย, จีนและอเมริกา

                แปลว่าแกนหลักของยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมันเริ่มจะมองเห็นอันตรายของนโยบายสหรัฐที่ไร้ทิศไร้ทาง ไม่อาจจะวางใจว่าจะเป็นเสาหลักของโลกประชาธิปไตยได้อีกต่อไป

                คำเตือนจากนายกฯ สิงคโปร์ว่าอาเซียนอาจจะตกอยู่ในฐานะลำบาก ต้องเลือกว่าจะยืนข้างจีนหรือสหรัฐ ก็อาจจะมาจากการวิเคราะห์สถานการณ์ของความผันผวนในสมการอำนาจโลกใหม่แล้ว ตัดสินใจจะเตือนเพื่อนร่วมอาเซียนว่าสงสัยต้องมองอะไรกันใหม่แล้ว

                ความจริงในอดีต อาเซียนก็ “เลือกข้าง” ทางการเมืองพอสมควร ในช่วงสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม อาเซียนหลายประเทศก็เลือกที่จะประกาศตนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง

                ช่วงนั้นไทยอยู่ข้างสหรัฐ และเวียดนามอยู่ข้างจีน ส่วนสิงคโปร์มีจุดยืนชัดเจนว่าเปิดทางให้อเมริกามามีอิทธิพลในประเทศของตนอย่างเปิดเผย แต่ก็แอบสร้างสัมพันธ์กับจีนเช่นกัน

                แต่เมื่ออเมริกาแพ้สงครามเวียดนาม สมการก็เปลี่ยน ไทยหันไปคบกับจีนมากขึ้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอเมริกา

                อาเซียนในภาพรวมได้พยายามรักษา “ระยะห่าง” ระหว่างสองยักษ์นี้มาตลอด แม้ว่าแต่ละประเทศจะให้น้ำหนักของความสัมพันธ์ต่อจีนและสหรัฐที่แตกต่างกันออกไป

                ระยะหลังนี้เมื่อทรัมป์เดินนโยบาย America First แม้จะประกาศเน้นความสำคัญของนโยบาย Indo-Pacific แต่ก็เห็นได้ชัดว่าอิทธิพลของจีนได้แผ่ขยายอย่างกว้างขวางทั้งด้านการเมือง, เศรษฐกิจและสังคม

                อาเซียนคบจีนใกล้ชิดมากขึ้น แต่ก็ยังพยายามจะให้สหรัฐคงบทบาทไว้ในเอเชียเพื่อเป็นการดุลถ่วงจีนในทะเลจีนใต้

                อีกกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับจีนคือ Quad ซึ่งรวมเอาสหรัฐ, ออสเตรเลีย, อินเดียและญี่ปุ่นไว้ด้วยกัน เพิ่งประชุมกันที่สิงคโปร์และแถลงว่าจะรวมตัวกันเพื่อรักษาระเบียบในย่าน Indo-Pacific บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล โดยเคารพในอธิปไตย, ความแข็งแกร่งและความเฟื่องฟูของกันและกัน

                นายกฯ สิงคโปร์บอกว่า “ถ้าเรากำลังพูดถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยทฤษฎีแล้ว นั่นเป็นสูตรวิน-วิน แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกแตกแยกเป็นกลุ่มก้อน อาเซียนเราก็จะตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก”

                แน่นอนว่าสำหรับไทยแล้ว เราคงไม่ต้องการตกอยู่ในฐานะที่จะต้อง “เลือกข้าง” ระหว่างจีนกับอเมริกา เพราะการประกาศถือหางข้างใดย่อมจะนำมาซึ่งปัญหาและความเสี่ยง

                แต่คำถามคือ เราได้สร้างภูมิคุ้มกันทางการเมืองและเศรษฐกิจได้มากพอที่จะรักษาความเป็นตัวของตัวเองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันดุเดือดและรุนแรงได้มากน้อยเพียงใด?.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"